รัฐบาลลั่นไม่ถอย! เข็นเงินดิจิทัลฝ่าแรงต้าน ปักหมุดไตรมาส 4 แจกแน่

มีแนวโน้มว่า ที่สุดแล้วคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

นั่นเป็นคำการันตีครั้งล่าสุดของ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ฟันเฟืองขับเคลื่อนใหญ่ของนโยบายเรือธง

“จุลพันธ์” เปิดเผยไทม์ไลน์แจกเงินหมื่นว่า วันที่ 27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน จะประชุมรับทราบความคืบหน้า หลังจากตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

เพื่อให้คณะอนุกรรมการมารายงานความคืบหน้า รวมถึงส่วนงานหรือองค์กรต่างๆ ตอบคำถามมา เนื่องจากคณะอนุกรรมการได้ส่งคำถามไปยังองค์กรต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 100 ส่วนงาน ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชน กลุ่มหอการค้า กลุ่มสภาอุตสาหกรรม

พร้อมกับนำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้ที่ประชุมรับทราบ โดยจะมีการมอบหมายให้กระทรวงการคลัง แก้ไขปัญหา พร้อมทั้งหากลไกในการเดินหน้าโครงการให้กับคณะกรรมการชุดใหญ่ได้รับทราบ

29 มีนาคม จะปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ

วันที่ 10 เมษายน 2567 คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ จะสรุปรายละเอียดโครงการทั้งหมด เงื่อนไขทั้งหมด เพื่อนำส่งที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบและเดินหน้า

“เราเชื่อว่าระยะเวลานานไม่นาน หลังจากนั้นวางกรอบการทำงานอย่างระเอียดรอบคอบ ทั้งกรอบกฎหมาย กรอบตัวเงิน กรอบเทคนิคด้านระบบ”

ไตรมาส 3 ของปี 2567 เดือนกรกฎาคม-กันยายน เปิดลงทะเบียนร้านค้าและประชาชนเพื่อเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ไตรมาส 4 ของปี 2567 เดือนตุลาคม-ธันวาคม จะมีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ถึงมือประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้

 

นายจุลพันธ์ยืนยันว่า เกณฑ์ของประชาชนที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000 ยังตามเดิมคือ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป เว้นคนมีรายได้เกิน 70,000 บาทต่อเดือน หรือเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ครอบคลุมคนไทย 50 ล้านคน

งานนี้ พรรคเพื่อไทย “แจกแน่” เพราะนโยบายเรือธงแจกเงินดิจิทัล 10,000 จะนำไปสู่งานใหญ่อื่นๆ ของรัฐบาล

1. แก้ปัญหาเศรษฐกิจ กลไกเติมเงินหมื่นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียน โดยการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน

ทีมเสนาธิการตึกไทยคู่ฟ้าประเมินสถานการณ์ว่า ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมลงทุนไปแล้ว 100% แต่อัตราการใช้กำลังผลิต 57% ดังนั้น ทันทีที่แจกเงินหมื่น และคนนำเงินไปใช้จับจ่ายใช้สอย ก็จะทำให้มีออร์เดอร์การผลิตป้อนเข้าส่งเข้าโรงงาน เกิดการจ้างงาน ฯลฯ นำไปสู่ความหวังสูงสุดเพื่อสร้างให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างต่ำปีละ 5%

2 .วาง Infrastructure รองรับระบบการเงินแห่งอนาคตขับเคลื่อนด้วย Blockchain ที่ไร้ตัวกลาง ก้าวไปสู่ความเป็น สร้างย่านการเงิน Wall Street ของอาเซียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

แม้ว่าในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน การประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ส.ว.จะออกมารุมถล่มเป็นฉากๆ

“สมชาย แสวงการ” ส.ว. อภิปรายชี้ว่า เรื่องเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เสี่ยงผิดกฎหมายและนำไปสู่คดีความแน่นอน ทั้งที่ได้รับคำคัดค้านต่างๆ และไม่มีใครเห็นด้วยกับการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทมา เพราะเม็ดเงินเหล่านี้จะละลายลงไปกับการแจกและไม่ได้ผล แม้ตัวเลขรายรับที่ได้เพิ่มขึ้นจากดิจิทัล รวมกันในปี 2024-2027 ขึ้นมาประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่ถ้าเอาเงิน 5 แสนล้านบาทไปลงทุนโดยไม่แจก ท่านจะสร้างผลผลิตและได้ 5 แสนล้านบาทบวกๆ

และประเทศไทยไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจขนาดนั้น หากอยากทำจะต้องดำเนินการ คือออก พ.ร.ก.กู้เงิน ผ่านมาแล้ว 7 เดือนก็ไม่ออก พวกผมก็รอคว่ำอยู่

สมชายยกตัวอย่างนโยบายการแจกเงินในประเทศญี่ปุ่น ว่า มีตัวอย่างมาแล้วเช่นที่ญี่ปุ่น เคยทดลองมาแล้วแต่ใช้ไม่ได้ผล ที่จีนก็เคยใช้แต่ไปตรงกับนโยบายคนละครึ่งของประเทศไทย ซึ่งใช้ไป 5 ปี หมดไป 2 แสนกว่าล้านบาท ดังนั้น ขอให้เลิกที่จะกู้เงินมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะผิดทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และผิดต่อรัฐธรรมนูญ สร้างหายนะในอนาคต

“พอเลิกโครงการก็ไม่ต้องกลัวติดคุก และหากท่านเดินโครงการต่อ ผมมีเอกสารพร้อมยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินคดี ผมเห็นว่าเป็นความท้าทายของรัฐบาลขณะนี้”

 

ด้าน “เฉลิมชัย เฟื่องคอน” ส.ว. อภิปรายถึงการดำเนินโครงการของรัฐบาล ว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายในการเลือกตั้งที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยการแจกเงินให้คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท จำนวน 56 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

“นายกรัฐมนตรีประกาศทุกเวทีหาเสียงว่าจะไม่กู้เงิน แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศเช่นนั้นมีลักษณะสัญญาว่าจะให้ ซึ่งอาจผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73(1) ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครผู้ใดเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิ 20 ปี”

นอกจากนี้ เมื่อรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาระบุว่า โครงการนี้จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง ซึ่งในการแถลงนโยบายดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้ระบุถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ จะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 162 หรือไม่

ซึ่งต้องมีการชี้แจงเรื่องที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย แต่ท่านกลับไม่ได้ชี้แจงเพราะไม่รู้ว่าจะเอารายได้มาจากไหน จากนั้นก็มีการแถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่ารัฐบาลเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเข้าสู่การพิจารณาของสภา

เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยจะเริ่มเดือนพฤษภาคม ปัจจัยที่เปลี่ยนไปคือที่มาของเงิน ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นการกู้เงินรวมถึงเงื่อนไขการรับเงิน แต่จนถึงขณะนี้การดำเนินนโยบายก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะนำเงินมาจากไหน หน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ และนโยบายดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร

“เรื่องนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บอกว่า การหาเสียงแบบนี้จะเป็นบรรทัดฐานของพรรคการเมือง หาเสียงไว้อย่างไรก็ได้ เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ป.ป.ช.จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าขัดรัฐธรรมหรือไม่ เพราะเป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ ซึ่งหากขัดก็เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ”

 

ที่สุดแล้ว แม้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 จะถูกตั้งคำถามมากมายจากอภิปรายทั่วไปของ ส.ว.

รวมถึงการอภิปรายทั่วไปของพรรคฝ่ายค้านในช่วงต้นเดือนเมษายนอีกรอบหนึ่ง

แต่รัฐบาลก็ออกมาการันตีรอบล่าสุดว่า ปลายปี 2567 แจกแน่ และปักไทม์ไลน์เอาไว้ว่า หลัง 10 เมษายนนี้ รู้เรื่อง!