การปฏิวัติ 2475 -2476 “ประชาชนคือผู้ชม” หลัง 2516 จึงเริ่มเข้ามามีบทบาท (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

91 ปีที่ผ่านมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีการต่อสู้ระหว่างความคิดใหม่กับความคิดเก่า ซึ่งใช้ทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจจากกำลังทหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ อำนาจทุน ทั้งสองฝ่ายใช้ทุกรูปแบบในการต่อสู้ ทั้งกฎหมาย ทั้งปืน

ตอนที่เริ่มต้นนั้น การต่อสู้มิได้มีเพียงแค่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วก็จบลงอย่างสงบเรียบร้อย แต่มีการต่อสู้แบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยใช้เวลายาวนาน

ยกที่ 1 ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปี 2476 ในยุคนั้นไม่มีหนังแอนิเมชั่น การสื่อสารจำกัด คนอยู่ในเมืองหลวงพอรู้เรื่อง คนอยู่ไกลรู้ช้า รู้บางส่วน

 

ข้อหาคอมมิวนิสต์…
เริ่มกล่าวหาตั้งแต่ยังไม่มีกฎหมาย

อาจารย์สุพจน์ ด่านตระกูล ได้เรียบเรียงความขัดแย้ง…ไว้ดังนี้

หลังยึดอำนาจการปกครอง มิถุนายน 2475 หลังใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว คณะราษฎร…ได้เสนอขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธานคณะกรรมการราษฎร (เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) ท่านไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการเป็นผู้พิพากษา และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสภากรรมการองคมนตรีตั้งแต่ พ.ศ.2470

เพราะพระยามโนฯ มีความรู้ในทางกฎหมาย เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติ และมีภริยาเป็นนางสนองพระโอษฐ์รับใช้ใกล้ชิดพระบรมราชินี จึงน่าจะเป็นผู้ที่เหมาะในฐานะคนกลางระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับคณะราษฎร แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้มอบหมายให้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ

ในการยกร่าง พระยามโนฯ พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิสารวาจา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้ปรึกษาหารือกันหลายครั้งหลายหน ต่อมาพระยามโนฯ ได้เร่งเร้าให้หลวงประดิษฐ์ฯ เขียน เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ได้จัดพิมพ์แจกจ่ายกันในหมู่ผู้ก่อการและคณะกรรมการราษฎร เพื่อให้โอกาสได้อ่านเสียก่อน

ถ้าไม่เห็นชอบด้วยและมีเหตุผลดีกว่าก็ยอมตามความเห็นส่วนมากและขอแก้ไขได้

พระยามโนฯ ได้ขอร้องให้หม่อมเจ้าสกลวรรณากรวรวรรณ ซึ่งมีความรู้ในทางเศรษฐกิจเข้าร่วมด้วย การประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน แยกออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยซึ่งมีพระยาทรงสุรเดช พระยามโนฯ และพระยาศรีวิสารวาจา

และเรื่องนี้พระยาทรงสุรเดชได้ไปประชุมนายทหารบอกว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคอมมิวนิสต์ การประชุมเค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกนั้น อ้างเหตุผลว่าจะทำไปตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ เมื่อได้โต้แย้งกันมากขึ้นจึงอ้างว่าเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์

แต่เมื่อที่ประชุมส่วนมากไม่เห็นด้วยตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นแล้ว หลวงประดิษฐ์ฯ จึงมิได้คิดที่จะดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นต่อไป และได้พูดในที่ประชุมว่า เมื่อไม่เห็นด้วย ก็จะขอลาออก

 

ปิดสภา ยึดอำนาจไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรี
เมษายน 2476

ความขัดแย้งของพระยามโนฯ กับผู้ก่อการ 2475 ทั้งเรื่องงบประมาณแผ่นดินกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทำให้มีการสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 พร้อมกับประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ยุบคณะรัฐมนตรี และตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ โดยอ้างว่า

“…ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดการแตกแยกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นตรงกันข้ามว่านโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ…”

การที่พระยามโนฯ ปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็เพราะพระยาทรงสุรเดชกับพวกซึ่งควบคุมกำลังทหารสนับสนุน จึงกระทำการสำเร็จ

ก่อนที่จะปิดสภา ม.จ.วิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ ราชเลขานุการประจำพระองค์ได้มีหนังสือถึงพระยามโนฯ หลายฉบับ มีข้อความสำคัญว่า สภาผู้แทนฯ จะดำรงต่อไปไม่ได้ ควรเลิกล้มเสีย ส่วนหลวงพิบูลสงครามและหลวงสินธ์สงครามชัย ได้คัดค้านไม่เห็นด้วยในการที่ปิดสภา

 

นายปรีดี พนมยงค์
ต้องลี้ภัยครั้งแรก

ก่อนปิดสภาเล็กน้อย พระยามโนฯ พระยาฤทธิ์อัคเนย์กับพวก เป็นผู้คิดให้หลวงประดิษฐ์ฯ ไปต่างประเทศ อ้างว่า เพื่อความปลอดภัย พระยาพหลฯ หลวงพิบูลสงคราม และหลวงอดุลเดชจรัส บอกนายปรีดีว่าให้รับปาก ส่วนทางนี้เพื่อนฝูงจะคิดแก้ไขให้กลับมาภายหลัง ในวันที่ออกเดินทางจากประเทศไทย พระยามโนฯ ยังได้ประกาศใช้กฎหมายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นฉบับแรกของไทย เป็นการกันไม่ให้นายปรีดีกลับมาเพราะข้อหาคอมมิวนิสต์ ทั้งยังนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระปกเกล้าฯ ซึ่งคัดค้านโครงการเศรษฐกิจมาตีพิมพ์เป็นสมุดปกขาว ออกจ่ายแจก ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…แต่มีข้อสำคัญอันหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่ต้องเป็นที่สงสัยว่า โครงการนี้นั้น เป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอน ดังที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลิน ก็ตอบไม่ได้”

ผลของกฎหมายทำให้มีการกวาดล้างจับกุมชาวเวียดนามที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ถูกจับและถูกจำคุก

ขณะที่นายปรีดีลี้ภัยไปประเทศฝรั่งเศส คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของพระยามโนฯ จัดการเข้าควบคุมอำนาจทั้งในการบริหารและนิติบัญญัติไว้เบ็ดเสร็จ

 

2476 ฝ่ายบริหาร รุก
ปิดสภาผู้แทนฯ และปรับผู้กุมกำลังทหาร

หลังการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อำนาจเก่าก็รุกต่อโดย มีการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่

รัฐบาลดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นได้แล้ว

แต่ด้านการทหารยังมีพระยาพหลฯ ขวางอยู่อีกคน เพราะเป็นผู้บัญชาการทหารบก

พระยาทรงฯ จึงชวนให้ทั้งหมดลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และทางการทหาร พระยาพหลฯ ก็ยอมลาออกตาม “สี่ทหารเสือ” ของคณะราษฎร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ โดยระบุวันลาออกจากราชการไว้ล่วงหน้า คือ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2476

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับให้ลาออกโดยไม่มีการทักท้วงแต่อย่างใด รัฐบาลก็ได้มีประกาศแต่งตั้งให้พระยาพิชัยสงครามเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนพระยาพหลพลฯ ให้พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นผู้รักษาการเจ้ากรมยุทธการทหารบกแทนพระยาทรงสุรเดช และให้หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการทหารปืนใหญ่อยู่ในขณะนั้นเลื่อนขึ้นเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการแทนพระยาทรงสุรเดช ซึ่งควบอยู่สองตำแหน่ง

การเปลี่ยนแปลงทางการทหาร มีผลต่อความปลอดภัยและอนาคตของนายทหารผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงนั้นก็มีการโยกย้ายคนของพระยาพหลฯ ออกจากหน่วยคุมกำลังทั้งหมด และจะให้พวกผู้ก่อการที่คัดค้านพระยามโนฯ นั้นไปศึกษาวิชาในต่างประเทศ

ส่วนหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกสั่งให้เตรียมตัวเข้าศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศฝรั่งเศส คณะราษฎรเห็นว่า พระยามโนฯ คงจะเตรียมเปลี่ยนการปกครองกลับเป็นระบอบเก่า

 

การรุกกลับของคณะราษฎร
ยึดอำนาจ เพื่อ…เปิดสภา

20 มิถุนายน 2476 กลุ่มนายทหารหนุ่มของคณะราษฎรรวมกำลังกัน โดยมีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารบก และหลวงศุภชลาศัยเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือ ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเปิดสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งตอนเช้ามืดของวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476

มีการนำกำลังเข้ายึดและควบคุมที่ทำการของรัฐบาลและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในพระนคร บังคับให้พระยามโนฯ และคณะรัฐมนตรีลาออกในวันเดียวกัน

พร้อมกันนั้นก็ได้มีการแจกประกาศแถลงการณ์แก่ประชาชนถึงเหตุผลของการยึดอำนาจว่า

“ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ…”

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กราบบังคมทูลลงพระปรมาภิไธยให้มีประกาศแต่งตั้งพระยาพหลพลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2476 หลังจากที่ปิดไปเป็นเวลา 81 วัน

พระยามโนฯ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ปีนังจนเสียชีวิต

ยกที่ 1 ใช้เวลา 1 ปีเต็ม เพื่อต่อสู้เปลี่ยนแปลง ประชาชนยังเป็นแค่ผู้ชม แต่ยก 2 ดุเดือดกว่า ต้องติดตามตอนต่อไป