THE OUTFIT | ‘ช่างตัดเสื้อ’

นพมาส แววหงส์

หนังเดินเรื่องสนุกเข้มข้น เชือดเฉือน เร้าระทึกเกินคาดค่ะ

ขอบอกเลยว่า มาร์ก ไรแลนซ์ เป็นตัวดึงดูดให้ดูหนังเรื่องนี้ โดยไม่ปล่อยให้เลยผ่านไปท่ามกลางกระแสของหนังมากมายที่ผ่านเข้ามา

เนื่องจากชอบเขามากนับตั้งแต่ได้ดูบทบาทอันเนียนละเมียดของจารชนรัสเซียที่ถูกเอฟบีไอเปิดโปงและต้องโทษในอเมริกาในหนังของสตีเวน สปีลเบิร์ก เรื่อง Bridge of Spies (2015, ทอม แฮงส์)

มาร์ก ไรแลนซ์ ได้รับออสการ์สาขานักแสดงชายในบทสมทบจากหนังเรื่องนั้น

จากนั้นก็ได้ตามผลงานของไรแลนซ์มาเรื่อยๆ ในบทบาทต่างๆ อาทิ บทหลุดโลกของแวมไพร์ใน Bones and All

มาครั้งนี้เขาได้รับบทตัวเดินเรื่องเป็น “ช่างตัดเสื้อ” ซึ่งคำภาษาไทยน่าจะสื่อความหมายตรงกับคำที่ตัวละครชอบให้ใครๆ เรียกเขาว่า cutter โดยไม่ชอบให้เรียกว่า tailor เนื่องจากคำหลังดูจะสื่อความหมายถึงการเย็บปรับให้เข้ารูปทรงมากกว่าความเด็ดเดี่ยวมือฉมังของช่างตัดเสื้อที่ตัดฉับๆ ให้ขาดสะบั้นจากผืนผ้าจนกลายเป็นเสื้อผ้า

กรรไกรตัดผ้าคมกริบเป็นอุปกรณ์คู่มือคู่ใจในอาชีพ “ช่างตัด” ของเขา

การแสดงของไรแลนซ์เนียนละเอียดโดนใจอีกแล้วค่ะ ในบทที่เป็นจุดศูนย์กลางของเนื้อเรื่องทั้งหมด รวมทั้งนักแสดงอื่นๆ ก็เล่นได้พอดิบพอดีกับความต้องการของบทในการเดินเรื่อง

ในฐานะนักการละคร ผู้เขียนดูหนังแล้วเกือบจะเชื่อขนมกินได้เลยว่าต้องสร้างมาจากบทละครเวทีแน่ๆ ทั้งในด้านการเดินพล็อต การพัฒนาแคแร็กเตอร์ จำนวนตัวละครที่ไม่มากนัก รวมทั้ง “เอกภาพทั้งสาม” ที่เคยเป็นเกณฑ์สำหรับละครยุคคลาสสิค คือเวลา สถานที่ และการกระทำ

แต่ไม่ปรากฏข้อมูลตรงนี้ค่ะ บอกเพียงว่าเป็นบทภาพยนตร์โดยแกรห์ม มอร์ และโจนาธาน แม็กเคลน

The Outfit เป็นฝีมือการกำกับฯ ครั้งแรกของแกรห์ม มอร์ ซึ่งนับว่าสะดุดตาไม่ธรรมดาจริงๆ

แกรห์ม มอร์ เคยได้ออสการ์จากงานเขียนบทภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่อง The Imitation Game (2015, เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) ซึ่งเป็นหนังที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้เขียน

The Outfit เปิดเรื่องจากมุมมองของช่างตัดเสื้อชื่อ เลียวนาร์ด (มาร์ก ไรแลนซ์) พร้อมด้วยกรรไกรคู่มือคมกริบที่หอบหิ้วข้ามน้ำข้ามทะเล อพยพจากถิ่นฐานเดิมในอังกฤษมาเปิดร้านตัดเสื้อชายที่ชิคาโกใน ค.ศ.1956

การสร้างแพตเทิร์น การเลือกเนื้อผ้า และตัดผ้าตามแบบของแพตเทิร์นอย่างแม่นยำ เป็นกลเม็ดในอาชีพช่างตัดเสื้อของเลียวนาร์ด

ฉากนำทำให้นึกถึงหนังดรามาละเมียดละไมเกี่ยวกับวงการเสื้อผ้าชั้นสูงและนักออกแบบจอม “ติสต์” อย่าง Phantom Thread (แดเนียล เดย์-ลูวิส)

แต่ปรากฏว่าต่อมาแปรโฉมหน้าเป็นหนังคนละแนวกันเลยทีเดียวเชียว

ร้านของเขาเป็นร้านเล็กๆ ที่มีเพียงรีเซปชั่นสาวชื่อ เมเบิล (โซอี ดอยช์) เป็นผู้ช่วยในร้านเพียงคนเดียว เมเบิลสะสม “ลูกแก้วหิมะ” ที่มาจากเมืองต่างๆ ในโลก และสโนว์โกล้บอันโปรดของเธอคือหอไอเฟิลในปารีส นั่นคือความใฝ่ฝันที่เธอจะได้ไปให้พ้นจากสภาพการณ์ที่อยู่ในปัจจุบันนี้

ลูกค้าประจำของเลียวนาร์ดเป็นแก๊งเจ้าพ่อในชิคาโก และใช้ร้านตัดเสื้อแห่งนี้ทำธุรกรรมอันลับๆ ล่อๆ ในการฟอกเงินสกปรกให้เป็นเงินสะอาด

เลียวนาร์ดรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา แต่ก็ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

การใช้ร้านตัดเสื้อชายเป็นหน้าฉากสำหรับจารกรรมหรือกิจกรรมนอกกฎหมายนี้ทำให้นึกถึงหนังคอเมดี้สืบสวนโฉ่งฉ่าง The King’s Man (ทารอน เอ็กเกอร์ตัน) ซึ่งฮิตจนกลายเป็นแฟรนไชส์ตามต่อมา

แต่ก็ปรากฏว่าเป็นหนังคนละแนวกันอีกนั่นแหละ

นี่เป็นหนังอาชญากรรมแนวดรามาที่เน้นการเดินเรื่องและปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครซึ่งเร้าระทึกเครียดขมึงลับสมอง พล็อตค่อย ๆ เผยปูมหลัง พัฒนาและพลิกเรื่องไปทีละเปลาะทีละขั้นด้วยแง่มุมที่นึกไม่ถึง

จนลงเอยด้วยตอนจบที่เกินคาดเดาล่วงหน้า

ลักษณะอีกอย่างที่ทำให้นึกถึงความเป็นละครเวที คือการเดินพล็อตที่ร้อยเรียง “การค้นพบ” ครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมด้วยองค์ประกอบของ “เซอร์ไพรส์” ที่สร้างความประหลาดใจให้คนดูอย่างต่อเนื่องในการเดินเรื่อง

การค้นพบ หรือ discovery เป็นศัพท์ทางการละคร ซึ่งจะเกิดแก่ตัวละครและส่งผลให้คนดูตาสว่างขึ้นจากเรื่องราวที่นักเขียนตั้งใจจะเล่า

ชื่อหนังบอกความหมายซ้อนกันสองนัย นัยหนึ่งคือ outfit ซึ่งแปลว่าเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ และอีกนัยหนึ่งคือองค์กรอาชญากรรม ซึ่งอยู่เบื้องหลังหน้าฉากของร้านตัดเสื้อแห่งนี้

ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 หรือราวทศวรรษ 1920-30 เมืองชิคาโกเป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรตัวเอ้ คือ อัล คาโปน

และ The Outfit คือองค์กรอาชญากรรมที่ก่อตั้งโดยอัล คาโปน และยังคงมีกลุ่มอันธพาลแก๊งสเตอร์ดำเนินงานอยู่ แม้ว่าตัวเจ้าพ่อจะถูกจับต้องโทษอยู่ในคุกก็ตาม

แฟนหนังน่าจะยังจำ The Untouchables ที่มีเควิน คอสเนอร์ กับฌอน คอนเนอรี เล่นได้นะคะ

การเดินเรื่องและการพัฒนาตัวละคร ของ The Outfit ชวนติดตามอย่างยิ่ง และแม้ว่าหนังจะจำกัดเรื่องราวให้เกิดขึ้นภายในร้านตัดเสื้อของเลียวนาร์ดเท่านั้น แต่ก็ใช้ประโยชน์สูงสุดจากเนื้อที่อันจำกัดนี้ด้วยมุมกล้องที่หลากหลาย

องค์ประกอบที่ติดตาน่าชมอีกอย่าง คือเครื่องแต่งกายย้อนยุคจากยุคทศวรรษ 1950

เป็นหนังที่ขอแนะนำอย่างยิ่ง หาดูได้ทางเน็ตฟลิกซ์ค่ะ •

THE OUTFIT

กำกับการแสดง

Graham Moore

แสดงนำ

Mark Rylance

Zoey Deutch

Dylan O’Brien

Johnny Flynn

Simon Russel Beale

Nikki Amuka Bird

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์