สวิตเซอร์แลนด์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย : ก้าวต่อไปประเทศใด

(Photo by Fabrice COFFRINI / AFP)

หากกล่าวถึงประเทศท่องเที่ยวในทวีปยุโรป หนึ่งในประเทศที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนึกถึง คงมีประเทศสวิตเซอร์แลนด์รวมอยู่ในรายชื่อเหล่านั้นอย่างแน่นอน ชื่อทางการคือ สมาพันธรัฐสวิส เป็นประเทศในยุโรปที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขา จึงมีภูมิประเทศสวยงามเหมาะแก่การท่องเที่ยว

สวิตเซอร์แลนด์ มีประชากรประมาณ 8.5 ล้านคน แต่รายได้ประชาชาติต่อหัว อยู่ในอันดับ 3 ของโลก (อ้างอิงข้อมูลประมาณการจาก IMF ปี 2023)

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ธนาคารกลางสวิส (The Swiss National Bank : SNB) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.75 คงเหลือร้อยละ 1.50

การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากธนาคารกลางสวิส เป็นการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเป็นชาติแรกในยุโรปที่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ส่งผลให้คนทั่วโลกจับตามองทิศทางของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ซึ่งคาดการณ์กันว่า การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสวิสนั้น จะทำให้ทิศทางของธนาคารกลางยุโรปเสียงแตก หรือมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

 

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างรอบคอบมาก เนื่องจากภาคธุรกิจที่สำคัญของประเทศ คือ ภาคบริการธุรกิจการเงินและการท่องเที่ยว

ปัจจัยหลักที่ธนาคารกลางสวิสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมาย คือ ร้อยละ 0-2 ติดต่อกันตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา

และในเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ สัมฤทธิผลเป็นอย่างดี

ประการต่อมา ภาคเอกชนในสวิตเซอร์แลนด์ อยากให้ธนาคารกลางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในปัญหาค่าเงินฟรังก์สวิสแข็งค่า มากกว่าเรื่องเงินเฟ้อ เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโต GDP ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้เป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยม ในปี 2564 เติบโตในอัตราร้อยละ 5.4 ปี 2565 เติบโตในอัตราร้อยละ 2.4 แต่ในปี 2566 เติบโตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.8 ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีการเกินดุลการค้ามาโดยตลอด สินค้ายุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ ยาเวชภัณฑ์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม ทุนสำรองระหว่างประเทศจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ มีลดลงไปบ้างแต่ไม่มาก

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ สวิตเซอร์แลนด์ใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลติดต่อกันเป็นปีที่ 4

 

จากทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและธนาคารกลางสวิสมีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงเพื่อต้องการให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่อัตราร้อยละ 0-2 แต่มิใช่การเหยียบเบรกเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไป

เมื่อคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายแล้ว ก็ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศ

ผลของนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินฟรังก์สวิสอ่อนค่าลงทันที ผลลัพธ์นี้จะช่วยส่งเสริมภาคการส่งออกและภาคบริการ ให้ขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แม้อาจมีเงินทุนไหลออกนอกประเทศบ้าง แต่เชื่อได้ว่าไม่มาก มีปริมาณเพียงเล็กน้อย และจะช่วยให้ค่าเงินฟรังก์สวิสอ่อนค่า ตรงตามเป้าหมายของธนาคารกลางอีกด้วย

เมื่อปัญหาเงินเฟ้อไม่มีเพราะบริหารจัดการให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ บวกกับค่าเงินอ่อนค่าลงช่วยเสริมภาคการส่งออกและภารการบริการ ย่อมบังเกิดผลลัพธ์ คือ ความเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปี 2567 นี้ จึงน่าจับตามองเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์อย่างยิ่ง

 

ด้านสหภาพยุโรป แม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ทั่วโลกต่างจับตามองประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามค่าเงินฟรังก์สวิส เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหภาพยุโรปอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากช่วงเดือนมกราคมที่ร้อยละ 2.8

ส่วนประเทศสหราชอาณาจักร อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย โดยเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.4 อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 5.25

ด้านเอเชีย ประเทศญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 17 ปี จากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ -0.1 เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0-0.1 (เป็นบวก) นับเป็นการสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่น เป็นการส่งสัญญาณหวังดึงเงินทุนจากบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นในต่างประเทศกลับประเทศญี่ปุ่นเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และในขณะเดียวกันบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ให้คำมั่นว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นมุมมองที่รัฐบาลให้ข่าว

แต่หากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานในเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อนหน้าสิ้นผลลง

 

สําหรับประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ ติดลบร้อยละ 0.77 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

หลุดต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0-2 และจากคาดการณ์เดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดน้อยลงกว่าเดือนกุมภาพันธ์

คงต้องคอยจับตาดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 10 เมษายน 2567 จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางไหน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นๆ เพราะแต่ละประเทศมีบริบททางเศรษฐกิจแตกต่างกัน