ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
เมื่อเรือน พ.ศ.2405 พระเจ้าแผ่นดินปรัสเซีย (ประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน) ได้ส่งราชทูตชื่อ ฟรีดริช ออยเลนบูร์ก (Friedrich Eulenburg) เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และทำสนธิสัญญากับสยาม โดยออยเลนบูร์กได้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ในระหว่างนั้นเอาไว้อย่างน่าสนใจด้วย
ตอนหนึ่งในบันทึกของออยเลนบูร์ก ได้อ้างเอาไว้ว่า ก่อนจะได้รับพระราชทานเข้าเฝ้าฯ อย่างเป็นทางการ ท่านได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการส่วนพระองค์มาก่อน
การเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ของออยเลนบูร์กในครั้งนั้น เป็นการเข้าเฝ้าฯ ในสถานที่ที่มีป้ายระบุเอาไว้อย่างชัดเจนเลยว่า สถานที่แห่งนั้นคือ “museum” นะครับ
ดังที่มีข้อความระบุอยู่ในบันทึกของออยเลนบูร์กว่า
“…ทางปีกด้านข้างตึกมีป้าย Royal Museum และมีข้อความว่า Protect this Museum และ Respect this Ordinance…”
ใช่ครับใช่ “museum” เดียวกันกับที่ไทยเราได้ควงศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” มาเพื่อแปลศัพท์คำนี้ในภาษาอังกฤษนั่นแหละ
ที่สำคัญก็คือ คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในภาษาไทยนี้ ก็เพิ่งจะปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกที่ museum ซึ่งออยเลนบูร์กได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 เป็นการส่วนพระองค์แห่งนี้นี่เอง เพราะสถานที่แห่งนั้นมีชื่อทางการในภาษาไทยว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์”
ขึ้นชื่อว่า “พระที่นั่ง” ก็ย่อมเป็นอาคารที่สร้างขึ้น และตั้งอยู่ในพระราชวัง
ดังนั้น “พิพิธภัณฑ์” แห่งนี้จึงเป็น “พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์” ของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ว่าใครที่ไหนก็เข้าไปเที่ยวชมได้สะดวกดายตามอำเภอใจ ใครที่เก็บแต้มบุญมามากพอจะชมอะไรที่จัดแสดงเอาไว้ในนั้นได้ ถ้าไม่ใช่คนในรั้วในวังแล้ว ก็ต้องเป็นแขกบ้านแขกเมืองระดับอย่างออยเลนบูร์กนั่นเอง
โดยธรรมชาติแล้ว “พิพิธภัณฑ์ส่วนตัว” (หรือพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ ในกรณีที่เจ้าของพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเจ้านายชั้นสูง) มักจะมีลักษณะเป็นของสะสมเฉพาะทาง แล้วแต่ความนิยมส่วนบุคคลผู้เก็บสะสมข้าวของนั้นๆ อย่างที่พวกฝรั่งมีศัพท์ว่า “private collection”
ส่วนของสะสมในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์แต่ละแห่งนั้น จะจัดจำแนกให้เป็นประเภทเดียวกันได้อย่างไร ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานในแต่ละเงื่อนไข
เฉพาะในส่วนของพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์นี้ เราอาจจะดูได้จากข้อความบางตอนใน “ประกาศเทวดาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร” ของรัชกาลที่ 4 ที่ก็ดูจะยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ ที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในทำนองดังกล่าว เพราะว่ามีข้อความบางตอนได้ระบุเอาไว้ให้เราเห็นชัดๆ เอาไว้ว่า
“…อนึ่ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ได้มีทางพระราชไมตรีด้วยพระมหานครในแผ่นดินใหญ่ๆ ในแผ่นดินยุโรปแลทวีปอเมริกา…มีสิ่งของเครื่องราชบรรณาการมาถวายเจริญทางพระราชไมตรีล้วนๆ ดี หลายอย่างต่างๆ ของจำพวกนี้จะทรงพระราชศรัทธาถวายบูชาพระรัตนตรัยในพระอารามหลวงเสียก็หาควรไม่ เพราะทูตที่มาแต่เมืองเจ้าของเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้น ก็เข้ามาเนืองๆ แล้วถามว่าเครื่องราชบรรณาการเหล่านั้นยังคงเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงทางพระราชไมตรีสืบไปฤๅ
ครั้งเมื่อจะจัดประดับประดาในพระที่นั่งสร้างอย่างสยามตามอย่างช่างโบราณ ก็จะดูพานขัดพระเนตร เปนที่ยิ้มเย้ยของแขกเมืองที่มาแต่ประเทศยุโรปจะพึงว่าได้ ว่าของสำหรับใช้อย่างอื่น เอามาใช้อย่างอื่นไป
เพราะฉะนั้น จึงโปรดให้ช่างสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ โดยแบบอย่างท่วงทีคล้ายกับราชนิเวศน์ ซึ่งมีในมหานครข้างโยรปิยปถพี (คือ ยุโรปปิยะปฐพี หรือทวีปยุโรปอันเป็นมิตรรัก, ผู้เขียน) เพื่อจะต้องท่วงทีกับสิ่งเครื่องประดับประดาที่ได้มาแต่โยรปิยมหานคร (คือ ยุโรปปิยะมหานคร หรือมหานครในยุโรปที่เป็นมิตรรัก) ต่างๆ ไว้สำหรับรับแขกเมือง และระลึกถึงทางพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในโยรปิยปถพี เพราะทอดพระเนตรเห็นของราชบรรณาการพิเศษที่กล่าวมานี้อยู่เนืองๆ นั้น…”
(อักขรวิธีตามต้นฉบับ แต่จัดย่อหน้าใหม่ เพื่อให้อ่านง่ายสบายมากขึ้นโดยผู้เขียน)
จากข้อความข้างต้นจึงสรุปความได้ว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์ หรือพระราชนิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ และใช้เก็บเครื่องราชบรรณาการของโลกตะวันตกเป็นการเฉพาะ คอลเล็กชั่นที่ถูกสะสมอยู่ในพระอภิเนาว์นิเวศน์นี้ก็คือ “เครื่องราชบรรณาการ” ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งอำนาจ และเครือข่ายความสัมพันธ์กับนานาชาติอารยะในโลกนั่นแหละครับ
“พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ที่ออยเลนบูร์กได้รับพระราชทานให้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ก็เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระอภิเนาว์นิเวศน์นี่แหละ
และการที่พระที่นั่งองค์นี้มีป้ายยี่ห้อบอกไว้ด้วยว่า เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น “museum” ท่ามกลางหมู่อาคารที่ใช้จัดเก็บและแสดงเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ข้าวของ และเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ที่ถูกนำมาจัดแสดงอยู่ในอาคารหลังนี้ ล้วนแต่เป็นเพชรยอดมงกุฎทั้งสิ้น
คําว่า “พิพิธ” แปลว่า “แปลก” ในขณะที่ “ภัณฑ์” คือ “ข้าวของ” ดังนั้น คำว่า “พิพิธภัณฑ์” จึงแปลตรงตัวได้ความว่า “ของแปลก”
ส่วนคำว่า “ประพาส” แปลว่า “เที่ยว”
เมื่อรวมความแล้ว พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ จึงหมายถึง พระที่นั่งที่ใช้เที่ยวชมของแปลก คือข้าวของที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ อันแสดงให้เห็นถึงอำนาจและบารมีของเจ้าของเครื่องสะสมเหล่านั้น
เมื่อครั้งที่ออยเลนบูร์กได้มีโอกาสเข้ามาเที่ยวชม “ของแปลก” ในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ท่านจึงไม่ได้เห็นเฉพาะเครื่องราชบรรณาการ หรือข้าวของแปลกตาทั้งหลายเท่านั้น แต่ท่านยังได้เห็นทั้งอำนาจ, บารมี และเครือข่ายของผู้เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ก่อนที่จะได้รับพระราชทานให้เข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการ พร้อมกับทำสนธิสัญญาระหว่าง ประเทศสยาม (ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไทย ณ เวลานั้น) กับปรัสเซียนั่นเอง
แต่ลักษณะอย่างนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นกับออยเลนบูร์กเท่านั้น เพราะก่อนหน้านั้น เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง (Sir John Bowring) ก็ได้เคยมีโอกาสเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 4 อยู่หลายหน ก่อนหน้าที่ “สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง” จะถูกทำคลอดออกมาในเรือน พ.ศ.2398 โดยครั้งหนึ่งได้เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งราชฤดี ซึ่งเบาว์ริ่งได้บันทึกถึงพระที่นั่งแห่งนี้เอาไว้ว่า
“…มีเครื่องประดับทุกชนิด หลายชนิดเกี่ยวกับธรรมชาติ เป็นต้นว่า นอแรดรูปร่างแปลกประหลาด และงาช้าง ประติมากรรมหลายชิ้นจากทวีปยุโรป แจกันกระเบื้องถ้วยจากประเทศจีน เครื่องทรงสมัยโบราณของพระมหากษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว งาช้างและไม้จำหลักอย่างงดงาม เครื่องประดับทองและเงิน พร้อมด้วยเพชรนิลจินดาเป็นจำนวนมาก พระพุทธรูปหลายองค์ และองค์หนึ่งก็ว่าเป็นทองแท้ทั้งองค์…”
แน่นอนว่าเบาว์ริ่งไม่ได้ไปเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 ที่ท้องพระคลังมหาสมบัติอันใด พระที่นั่งราชฤดี เป็นเพียงสถานที่เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องราชบรรณาการจากต่างประเทศก็เท่านั้นเอง
ดังนั้น “พระที่นั่งราชฤดี” ที่เบาว์ริ่งได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 4 จึงทำหน้าที่เป็น “พิพิธภัณฑ์” ไม่ต่างอะไรกับ “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ที่ออยเลนบูร์กได้เยี่ยมชมในช่วงหลังลงมา เพียงแต่ว่ายังไม่ปรากฏคำว่า พิพิธภัณฑ์ ที่พระที่นั่งราชฤดีเท่านั้นเอง
คําว่า “พิพิธภัณฑ์” ในภาษาไทย จึงถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับ “อำนาจ” และ “บารมี” ที่ถูกแสดงออกผ่านข้าวของที่ถูกนำมาจัดแสดง พร้อมกับที่ต้องการให้ผู้ชมรู้สึก “ระย่นย่อ” กับภูมิหลัง และอำนาจบารมีของรัฐ (ไม่ว่าตัวผู้เข้าชม อย่างน้อยก็ออยเลนบูร์ก หรือเบาว์ริ่ง จะรู้สึกระย่นย่อไปด้วยหรือไม่ก็ตาม) มาตั้งแต่แรกมีการประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาใช้แล้วนะครับ
คำถามที่สำคัญก็คือ ทุกวันนี้พิพิธภัณฑสถาน (อย่างที่บอกว่า “พิพิธภัณฑ์” แปลว่า “ของแปลก” ดังนั้น ต้องมีคำว่า “สถาน” ห้อยท้ายเอาไว้เพื่อระบุว่าเป็นสถานที่เก็บของแปลก) โดยเฉพาะพิพิธภัณฑสถานในกำกับของรัฐ มีเป้าหมายที่จะให้ใครเป็นกลุ่มผู้เข้าชมหลัก? และต้องการให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น “ระย่นย่อ” ต่อภูมิหลัง และอำนาจบารมีของรัฐเหมือนอย่างที่รัชกาลที่ 4 ทรงมุ่งหมายในการต่อสู้กับชาติมหาอำนาจตะวันตกหรือเปล่า?
ถ้าคำตอบที่ได้คือไม่ใช่ ก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีคิดในการนำเสนอ ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นเพียงการเปลี่ยนจากที่จัดแสดงเครื่องราชบรรณาการจากชาติตะวันตก มาเป็นข้าวของที่ได้มาจากดินแดนต่างๆ ที่รัฐสยามได้มาหลังการปักปันเขตแดนประเทศสยามสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 และทำให้ผู้คนในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นล้านนา มลายู หรืออีสาน เกิดความระย่นย่อต่อภูมิหลัง และอำนาจบารมีของความเป็นไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น •
On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022