เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ‘ไหว้ทีก๊องแซ’ วันปีใหม่ที่แท้ของชาวฮกเกี้ยนและหงวนเซียว จบเทศกาลตรุษจีน (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า

: ‘ไหว้ทีก๊องแซ’ วันปีใหม่ที่แท้ของชาวฮกเกี้ยนและหงวนเซียว จบเทศกาลตรุษจีน (1)

 

ผมเคยเขียนถึงวันเก้าค่ำเดือนอ้ายจีน (เจี่ยโง้ย โช่ยเก้า) หรือวันเทวสมภพแห่งฟ้า (ทีก๊องแซหรือทีกงแซ) ไว้คร่าวๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ ชื่อ “เล่าเรื่องกราบไหว้ฟ้าดิน อย่างขนบจีนวิสัย” แต่มาคราวนี้จะขอเขียนถึงตัวเทศกาลและพิธีกรรมนี้โดยเฉพาะ เพราะเป็นวันสำคัญอันหนึ่งในเทศกาลตรุษจีน

ยิ่งกับคนจีนฮกเกี้ยนแล้ว อาจถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดในเทศกาลตรุษจีนหรือในรอบปีเลยทีเดียว

ถึงกับมีคำกล่าวว่า “เฉ่เก้า (วันเก้าค่ำ) มาก่อนตรุษจีน” จึงนิยมนับถือว่า วันเก้าค่ำเดือนอ้ายนี้เป็นวันตรุษจีนหรือวันปีใหม่ที่แท้จริงของพวกตน

ทีก๊องหรือทีกงแปลว่าพ่อปู่ฟ้า ปู่สวรรค์ เทพยดาสรวง ฯลฯ เป็นคำลำลองของชาวบ้านที่ใช้เรียก “พระเทวราชหยก” หรือพระหยกจักรพรรดิ (หยกหองสย่งเต่) หรือรู้จักโดยทั่วไปว่า “เง็กเซียนฮ่องเต้” อันเป็นคำฮกเกี้ยนผสมเตี่ยจิว

คนจีนเชื่อว่า “โลกมนุษย์เป็นอย่างไร ปรโลกก็เป็นอย่างนั้น” ในดินแดนของคนมีพระราชาหรือจักรพรรดิปกครอง ในปรโลกไม่ว่าสรรค์หรือนรกก็ย่อมมีผู้ปกครองเช่นกัน

ในสวรรค์จึงมีพระเทวราชหยกทรงปกครองเทพยดาทั้งหลาย แม้จะไม่ใช่เทพสูงสุดตามคติเต๋าแบบทางการ แต่ตามความเชื่อชาวบ้านแล้วก็นับเป็นเทพสูงสุดพระองค์หนึ่ง

 

วันเทวสมภพของท่านกำหนดให้เป็นวันเก้าค่ำ มีเหตุผลเบื้องหลังในคติเต๋าอย่างไรผมก็ดันเลือนไปเสียแล้ว แต่มักจะจัดพิธีเซ่นไหว้จริงๆ กลางดึกของคืนวันแปดค่ำ เพราะต้องการไหว้ในยามแรกสุดของวันเก้าค่ำ ซึ่งคนจีนระบุให้อยู่ในช่วงเวลาประมาณห้าทุ่ม

ที่ต้องไหว้ตั้งแต่ยามแรกก็เพราะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ แต่บางคนนิยมไหว้ตอนอรุณก็มี และไม่ค่อยนิยมไหว้หลังเที่ยงไปแล้ว

การตั้งแต่งโต๊ะไหว้ทีก๊องจะตั้งไว้นอกชายคาหน้าบ้าน โต๊ะไหว้ปูด้วยผ้าแดงและติด “โต๊ะอุ๋ย” หรือผ้าปักลวดลายมงคลไว้หน้าโต๊ะ ที่สำคัญมักนิยมซ้อนขาโต๊ะไหว้ด้วยเก้าอี้หรือม้านั่งยาวให้สูงขึ้นไป เป็นการแสดงถึงความเทิดทูน

ผมเคยเห็นคลิปคนทำนั่งร้านสูงเท่าตึกสามชั้นแล้วเอาโต๊ะไหว้ไปตั้งข้างบนก็มี หรืออาจมีโต๊ะเล็กอีกตัววางซ้อนสำหรับวางเครื่องสูงก็มีเช่นกัน

ขาโต๊ะจะรองด้วยกระดาษทองแผ่นเล็กที่เรียกว่า เส้กิ๊ม เพื่อให้โต๊ะบูชาไม่ติดพื้นดิน

เป็นนัยว่าเครื่องสักการะทั้งหมดแยกออกไปจากแดนมนุษย์ เป็นของถวายสำหรับอีกภพภูมิหนึ่งที่สูงกว่า

 

ที่สำคัญ งานทีก๊องแซอาจเป็นงานที่ใช้ขนมมากที่สุดในบรรดาเทศกาลต่างๆ ของชาวฮกเกี้ยน มากทั้งประเภท ชนิดและปริมาณ ผมจะขอไล่ให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น

ขนมอย่างแรกที่ขาดไม่ได้คือ หนีโก้ย (ขนมปี) หรือขนมเข่ง ซึ่งจะไล่จากลูกใหญ่ไปลูกเล็กซ้อนกันสามลูก เป็นขนมบ่งถึงเทศกาลปีใหม่

อย่างที่สองคือ ขนมฮวดโก้ยหรือขนมถ้วยฟู ซึ่งนิยมใช้ตั่วฮวดโก้ยหรือลูกใหญ่และนิยมตั้งเป็นคู่หรือสองจาน

อย่างที่สาม คือขนมเต๋เหลี่ยวหรือกลุ่มขนมแห้งกินกับชาที่เราเรียกกันว่า “จันอับ” (เพี้ยนมาจากเจี้ยนอับ หมายถึงกล่องหรือภาชนะใส่ขนมเหล่านี้) แบบฮกเกี้ยนจะมีความหลากหลายกว่าแบบกวางตุ้ง คือมีขนมข้าวพอง (บี้ผ้าง) ถั่วตัด งาตัด ขนมก้านบัว เส้งหยิน ซกซา ฟักเชื่อม ฯลฯ โดยทุกชนิดจะแยกใส่แต่ละถ้วยหรือจะรวมกันสามถ้วยก็ได้

ท่านว่าของเอกในเต๋เหลี่ยวหรือจันอับคือขนมก้านบัวหรือฉุ่นโจ้ ผมเคยได้ยินคนแต้จิ๋วเรียกไหน่กี ซึ่งแปลว่าก้านบัว เป็นขนมแป้งทอดเล็กๆ อันเท่านิ้วก้อย เคลือบด้วยน้ำตาลหวานๆ

อาจารย์ของผมท่านบอกว่าคนจีนสมัยก่อน บ้านไหนก็ต้องมีขนมชนิดนี้ใส่อับ (กล่อง) หรือโหลแก้วติดบ้านไว้ ใครไปใครมาก็ยกมารับแขกพร้อมชาได้ทันที คนในบ้านเองหิวก็หยิบใส่ปากได้เลย

พอฟังเรื่องนี้ก็ถึงบางอ้อว่า ตอนที่พ่อตาแม่ยายของผมขึ้นบ้านใหม่ ในวันสุกดิบคุณพ่อตาซึ่งเป็นลูกหลานจีน บอกว่าต้องเข้าไปตลาดบ้านโป่งเพื่อซื้อขนมก้านบัวถุงใหญ่ๆ ไว้รับแขก

ตอนนั้นภรรยาของผมก็บ่นว่าทำไมต้องไปซื้อขนมชนิดนี้ด้วยในเมื่อของกินอื่นก็มีแล้ว และบอกว่าเห็นเตี่ยชอบซื้อมาเวลามีงาน ผมเองไม่ทราบว่าท่านแค่ชอบขนมชนิดนี้ หรือจริงๆ ท่านได้แบบแผนนี้มาจากผู้ใหญ่ในบ้าน

แต่พอรู้ข้อมูลจากอาจารย์ก็เห็นว่าสิ่งที่เตี่ยทำเป็นไปตามแบบที่คนจีนเก่าๆ นิยมกัน

 

ขนมอื่นๆ ในหมวดเต๋เหลี่ยวหรือจันอับยังมีความเชื่ออื่นๆ แฝงอยู่อีก อย่างพวกเส้งหยินหรือซกซาซึ่งเป็นลูกกวาด จึงมีข้อกำหนดว่าแต่ละชนิดมีความหมายอะไรและใช้ในพิธีไหนอย่างไร ทว่า เป็นเรื่องเก่าที่คนลืมเลือนกันไปหมดแล้ว แม้แต่การเรียงลำดับก่อนหลังท่านก็ว่าเรียงให้เกิดกลอนมงคลตามชื่อของขนม ผมปากหนักเลยยังไม่ได้ถามอาจารย์ จึงขอติดท่านผู้อ่านไว้ก่อน

นอกจากนี้ ยังมีขนมสดอีกหมวดหนึ่งที่เรียกรวมๆ ง่ายๆ ว่าอั่งกู๊อย่างละหกชิ้นหรือขั้นต่ำสองชิ้น ขนมประเภทนี้ใช้แป้งเดียวกันคือแป้งข้าวเหนียวผสมสีแดงสอดไส้ถั่วกวน มีพิมพ์ต่างกันหลายแบบเพื่อสื่อถึงสัญลักษณ์มงคลต่างๆ ได้แก่ อั่งกู๊หรือขนมเต่าแดงซึ่งนิยมไหว้ในทุกเทศกาล อั่งโถหรือขนมลูกท้อแดงคล้ายกับขนมก้วยท้อหรืออั่งก้วยของคนแต้จิ๋ว แต่มีพิมพ์, สีและไส้ที่ต่างกัน ทั้งอั่งกู๊และอั่งโถเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอายุยืนยาว

อย่างที่สี่ คืออั่งอี๋หรือขนมอี๋แดง ขนมชนิดนี้ไม่ต้องใช้พิมพ์ แต่ปั้นเป็นลูกกลมๆ โตเกือบเท่าไข่ไก่ หน้าตาคล้ายขนมต้มที่ไม่โรยมะพร้าวหรือขนมหัวล้านแบบภาคใต้ ซึ่งเป็นคนละชนิดกับ “ทึงอี๋” หรือขนมอี๋แบบใส่น้ำหวานหน้าตาคล้ายบัวลอยของไทย ซึ่งในงานทีก๊องแซก็นิยมตั้งไหว้ด้วยเช่นกัน ท่านว่ามีนัยของความกลมกลืนสามัคคีของลูกหลานหรือการมีลูกชาย

สุดท้ายคือ อั่งข้านหรือขนมเหรียญโบราณ (เหรียญรูร้อยเป็นพวง) สีแดง ใช้แป้งและไส้อย่างเดียวกับสามอันบน แต่ใช้พิมพ์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งขนมอั่งข้านจะไม่ใช้ไหว้เทพยเจ้าอื่นใดเลยนอกจากทีก๊องเท่านั้น เราจึงไม่ค่อยเห็นขนมชนิดนี้นอกเทศกาลไหว้ทีก๊อง

เป็นสัญญะของเงินเป็นสายลงมาจากฟ้าหรือวาสนาที่ฟ้าส่งมาให้

 

ผมผู้เป็นลูกเจ๊กบ้านนอกเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนฮกเกี้ยนเหลือน้อยยิ่งกว่าน้อย จะไหว้ทีก๊องครั้งหนึ่งก็ต้องทำขนมเหล่านี้เองเพราะไม่มีใครทำขาย

ผิดกับทางภูเก็ตหรือพังงาที่หาได้ไม่ยาก แม้ทางสิงคโปร์มาเลย์ซึ่งมีคนฮกเกี้ยนอยู่เยอะก็หาได้ไม่ยากเช่นกัน แต่กว่าจะสะสมพิมพ์ขนมเหล่านี้ได้ครบก็ไม่ง่าย โดยเฉพาะพิมพ์ไม้แกะซึ่งเป็นงานฝีมืออย่างหนึ่ง เก็บไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานได้

พอต้องมานั่งเคาะขนมจำนวนมากให้ทันใช้วันงาน เพราะทำล่วงหน้านานๆ ไม่ได้เนื่องจากเป็นขนมสด แช่ตู้เย็นก็จะแข็งกินยาก จะว่าสนุกก็สนุก จะว่าเหนื่อยก็เหนื่อยครับ

นอกจากนี้ ยังมีข้าวเหนียวกวนอีกสองจาน จานหนึ่งเป็นข้าวเหนียวขาว (แปะบีโก้) จานหนึ่งเป็นข้าวเหนียวแดง (ออบีโก้) ผมเข้าใจว่าสะท้อนภาวะคู่จึงใช้สองสี และประดับข้าวเหนียวในจานทั้งสองนั้นด้วยอั่งโจ้หรือพุทราจีนแห้ง ไข่ไก่ต้มย้อมสีแดง และลำไยอบแห้งทั้งเปลือกท่านว่าแทนลูกตาของมังกรให้เป็นสัญญะมงคลยิ่งๆ ขึ้นไป

ขนมสดยังมีอีกอย่าง คือขนมเต่าทำจากแป้งสาลีที่เรียกว่า “หมี่กู๊” อีกหกตัว บางทีเขาก็ทำเป็นหมั่นโถวยาวๆ ทาสีชมพู

 

มีขนมพิเศษอีกชนิดที่หายากแสนยากคือ “ทีก๊องเปี้ย” หรือขนมเปี๊ยะสำหรับไหว้ทีก๊องโดยเฉพาะ

เป็นเปี๊ยะแบบไส้เค็มหวาน ตัวแป้งสีเหลืองและชมพู ชุดหนึ่งมีจำนวนสิบสองชิ้นนิยมทำเป็นลวดลายต่างกันหกคู่

ที่ว่าหายากก็เพราะในเมืองไทยมีผู้ทำขนมชนิดนี้เป็นอยู่เพียงสองเจ้า เจ้าหนึ่งอยู่ที่ตรัง อีกเจ้าหนึ่งอยู่ภูเก็ต ซึ่งผมนิยมชมชอบเป็นพิเศษคือโรงขนมแม่บุ๋นของเชฟคิม คิมเป็นคนรุ่นใหม่และเป็นศิษย์ร่วมสำนักกับผมที่พยายามรื้อฟื้นขนมโบราณออกมาขาย และขนมของเขาก็อร่อย ควรค่าแก่การส่งเสริมจริงๆ ครับ ทั้งนี้ ผมมิได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด (ฮา)

เพราะหายากเช่นนี้เอง ทีก๊องเปี๊ยะจึงมิค่อยได้ปรากฏบนโต๊ะเซ่นไหว้ในเมืองไทย ผมเคยดูสารคดีพิธีไหว้ทีก๊องทางสิงคโปร์ คนทำทีก๊องเปี๊ยก็เหลือแต่คนแก่ๆ แต่ก็ยังพอหาได้มากกว่าทางนี้

บางบ้านอาจมีขนมอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น ขนมชั้น (กิ๊วเตี่ยนโก้ย) ส่วนของหวานอีกสองอย่างคือบิดเจี่ยนและ “ง้อซิ่ว” ผมจะขอยกไปเล่าในคราวหน้า เพราะเป็นของเอกที่แท้จริงในโต๊ะไหว้ทีก๊อง อีกทั้งยังสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียอีกด้วย

นอกจากขนมยังมีของอื่นๆ เช่น หลักไฉ่หรือผักแห้งหกอย่างดังที่ได้เคยเล่าไว้แล้ว แม้จะเป็นของแห้งซึ่งมิค่อยนิยมไหว้ในเทศกาลตรุษจีนเพราะเป็นฤดูชุ้น (วสันต์) แต่เนื่องจากจัดเป็นของสำคัญสำหรับไหว้เทพยดา ดุจดั่งเป็นกับข้าวของท่านจึงมีการตั้งไหว้ทีก๊องในพิธีนี้ด้วย

อันที่จริง เมื่อไหว้ทีก๊องมักจะไม่จัดแค่หลักไฉ่เพราะยังดูน้อยไปไม่สมพระเกียรติ มักจัดเป็น “จับหยีไฉ่อั๊ว” หรือผักสิบสองถ้วย

ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น เนื้อที่ของวันนี้หมดเสียแล้ว

โปรดติดตามต่อในตอนหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง