เล่าเรื่องกราบไหว้ฟ้าดิน อย่างขนบจีนวิสัย | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมติดค้างมาตั้งแต่ตรุษจีนหลังจากเล่าเรื่องมือใหม่หัดไหว้เจ้าไปแล้วว่าจะเล่าเรื่องการกราบไหว้ “ทีก้อง” (ทีกงในสำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ ปู่ฟ้า/ปู่สวรรค์ จะเรียกสวยๆ ว่า “นภาอัยกาเทพ” ก็ได้ ซึ่งเป็นความนับถือแพร่หลายในจีนทุกกลุ่มภาษา แต่เป็นอะไรที่สำคัญที่สุดในกลุ่ม “ฮกเกี้ยน” เพราะถึงกับมีคติว่า วันไหว้ทีก้องนั้นใหญ่กว่าวันปีใหม่หรือตรุษจีนเสียอีก

ผมเขียนบทความนี้จากความทรงจำเป็นหลัก จึงอาจมีข้อผิดพลาดหรือเลือนไปบ้าง

ท่านใดพบว่ามีข้อผิดพลาดโปรดชี้แนะโดยเมตตา

 

เมื่อเราไปไหว้เจ้าของจีน ทุกศาลจะมีจุดให้ไหว้เป็นจุดแรกคือจุดไหว้ฟ้าดิน

การไหว้ก่อนเทพอื่นใดแสดงว่าต้องมีความสำคัญที่สุด

หากเป็นศาลเจ้าของชาวแต้จิ๋วหรือไหหลำนิยมทำเป็นอาคารเล็กๆ หรือแท่นบูชาอยู่ด้านหน้าของศาลใหญ่ มีป้ายเขียนในภาษาจีนออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า “ทีตี่แป่บ้อ” แปลว่า ฟ้าดินพ่อแม่ ผมเข้าใจว่าหมายถึง “พ่อฟ้าแม่ดิน” คือเปรียบว่าฟ้านั้นเป็นพ่อ และแม่คือดินหรือแม่ธรณี อย่างที่เรามักพูดติดปากว่า ไหว้เทพยดาฟ้าดิน

นอกจากนี้ มักนิยมทำเสาสูงสำหรับแขวนโคมที่เรียกว่า “ทีกงเต็ง” หรือโคมทีกงชิดกับศาลหรือจุดบูชานั้น จากเสากลมเกลี้ยงก็ทำให้วิจิตรพิสดารมีการปั้นรูปมังกรเลื้อยพัน จนคนเข้าใจว่าเป็นเสามังกรเพื่อกราบไหว้เทพมังกรไปเสียแล้ว

ส่วนการตั้งที่บูชา “ทีก้อง” ตามแบบศาลเจ้าของฮกเกี้ยนนั้น ไม่ได้ทำเสาหรือทำเป็นอาคารแยกออกไป และไม่ได้ตั้งเสาสูงเป็นการถาวร (ผมเคยเห็นมีบางที่ตั้งเสาชั่วคราวเฉพาะในพิธีสำคัญ) แต่จะตั้งเป็นโต๊ะด้านหน้าของศาลเจ้า มี “ทีก้องหลอ” หรือกระถางธูปบูชา และ “ทีก้องเต้ง” หรือโคมทีก้อง มักทำเป็นโคมน้ำมันแปดเหลี่ยมแขวนจากเพดานลงมา เมื่อจะไหว้ก็หันหน้าออกไปนอกศาล คือไหว้ไปยังท้องฟ้าแล้วจึงปักธูป

ศาลเจ้าฮกเกี้ยนเกือบทุกแห่งยังคงรักษาขนบนี้อยู่ แม้แต่ศาลเจ้าฮกเกี้ยนในกรุงเทพฯ อย่างศาลเจ้าเกียนอันเกง และโจวซือกง (ฮกเกี้ยนเรียก จ้อซู่ก้อง) ตลาดน้อยก็ยังรักษาธรรมเนียมนี้ไว้

 

ส่วนการไหว้ทีก้องตามบ้านคน มักทำที่สักการบูชาอยู่สองแบบ

แบบแรก เป็นแบบดั้งเดิมคือแขวนทีก้องเต้ง และแขวนกระถางธูปไว้หน้าบ้าน คือแขวนห้อยลงจากเพดานชายคาบ้าน ธรรมเนียมนี้นิยมทั้งคนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว แต่ปัจจุบันมีการปฏิบัติน้อยลง อาจเพราะกีดขวางหน้าบ้านหรือลำบากในการกราบไหว้เพราะบางบ้านแขวนไว้สูง

เท่าที่ผมพบ เหลือเพียงคนแต้จิ๋วไม่กี่บ้านในกรุงเทพฯ ที่ยังมีทีกงหลอหน้าบ้าน ส่วนคนฮกเกี้ยนในเมืองไทยพากันไปใช้ธรรมเนียมของคนกวางตุ้งเกือบหมดแล้ว

แบบที่สอง หรือแบบกวางตุ้ง อันนี้เป็นที่นิยมมากๆ ในกลุ่มคนฮกเกี้ยน คือทำหิ้งมีป้ายขนาดเล็กพร้อมที่ปักธูป ติดตั้งไว้หน้าบ้าน โดยติดกับเสาหรือผนังทางด้านซ้ายของตัวบ้าน เพราะขนบจีนถือว่าซ้ายใหญ่กว่าขวา เว้นแต่จะไม่สะดวกก็อนุโลมติดอีกข้าง

ป้ายนี้เขียนอักษรจีนสี่ตัว อ่านแบบฮกเกี้ยนว่า “เทียนก๊วนซู่ฮก” (กวางตุ้งว่า ทีนกูนซื้อฟุก แต้จิ๋วว่า เทียนกัวสื่อฮก) แปลว่า ขุนนางฟ้าประทานวาสนา หรือ นภเสนามาตย์ประทานวาสนา เท่าที่ผมทราบ คนฮกเกี้ยนไม่เขียนว่าทีตี่แป้บ้อ และหากไปบริเวณที่คนฮกเกี้ยนเยอะอย่างภูเก็ต ตรัง ระนอง เรื่อยไปถึงปีนังและสิงคโปร์ จะเห็นหิ้งแบบนี้เรียงราย

ที่จริงเรื่องชื่อป้าย “เทียนก๊วนซู่ฮก” ก็มีความซับซ้อนพอสมควร เพราะแม้ว่าจะเขียนว่า เทียนก๊วน (ขุนนางฟ้า) ซึ่งโดยปกติหมายถึงชื่อของเทพเจ้าผู้ดูแลฟ้า (เทียนก๊วนไต่เต่) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพผู้ปกครอง อันได้แก่ เทียนก๊วนไต่เต่ (ปกครองฟ้า) จุ้ยก๊วนไต่เต่ (ปกครองน้ำ) ตี้ก๊วนไต่เต่ (ปกครองดิน) เรียกรวมว่า ซัมก๊วนไต่เต่ (ราชาธิราชทั้งสาม)

ทว่า แม้จะใช้ป้ายเขียนว่าเทียนก๊วน คนฮกเกี้ยนกลับไม่ได้ไหว้โดยระลึกถึงเทียนก๊วนไต่เต่ แต่ไหว้ระลึกถึงเทพ “หยกฮองสย่งเต่” ในภาษาฮกเกี้ยน หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “เง็กเซียนฮ่องเต้” ซึ่งแปลว่า พระหยกจักรพรรดิราช อันเป็นจักรพรรดิของพวกเทพเจ้าทั้งปวงนั่นเอง

ดังนั้น ทีก้องของคนฮกเกี้ยนจึงหมายถึงพระหยกจักรพรรดิราชหรือเง็กเซียนฮ่องเต้โดยเฉพาะ

 

ผมเข้าใจว่า คติเรื่องไหว้ฟ้าของฮกเกี้ยนจึงไม่ใช่การไหว้ “ฟ้าดิน” ที่มีลักษณะนามธรรมมากนัก เพราะอิทธิพลของศาสนาเต๋าที่แพร่หลายในมณฑลฮกเกี้ยน ซึ่งมักแปรสิ่งนามธรรมให้กลายเป็นเทพเจ้าแบบบุคคล จึงทำให้ทีก้องหรือเทพฟ้ากับหยกฮองสย่งเต่กลายเป็นองค์เดียวกัน

ส่วนเทียนก๊วนไต่เต่ เทพผู้ปกครองฟ้านั้น แม้จะเป็นเทพระดับสูงที่คนฮกเกี้ยนก็ให้ความเคารพ แต่ก็ถือเป็นเทพระดับรองลงมา และมีความสำคัญน้อยกว่าพระหยกจักรพรรดิราช

คนฮกเกี้ยนจึงยังคงไหว้ทีก้องหรือปู่ฟ้าทุกๆ วันเป็นกิจวัตร ที่จริงตัวหิ้งเทียนก๊วนซู่ฮกเป็นเพียงจุดสำหรับให้ปักธูป แต่เวลาไหว้จริงๆ ก็แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า แล้วค่อยนำมาปักบนหิ้ง

นอกจากการไหว้ประจำวันแล้ว คนฮกเกี้ยนยังมีเทศกาลไหว้ทีก้องโดยเฉพาะ คือการไหว้ทีก้อง (ป้ายทีก้อง) ในวันทีก้องแซหรือวันประสูติทีก้อง ซึ่งอยู่ในวันเก้าค่ำเดือนอ้ายจีน (เจี่ยโง้ยโฉ่ยเก้า หรือเฉ่เก้า) นับจากวันตรุษจีน (วันเที่ยวหรือวันปีใหม่) เป็นวันแรกมาจนถึงวันที่เก้า

วันนี้ชาวจีนภาษาอื่นๆ ก็อาจไหว้ทีก้องเช่นกัน แต่ชาวฮกเกี้ยนจะถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริงของพวกตน มีคำพูดว่า วันปีใหม่จะกลับมาบ้านไม่ทันไม่เป็นไร (เพราะอาจกำลังเดินทาง) แต่วันเฉ่เก้าทุกคนพร้อมหน้า

ที่จริง แต่เดิมจะไหว้ทีก้องในเช้ามืดของวันที่เก้าราวตี่สี่ตีห้า แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงเริ่มไหว้ตั้งแต่ห้าทุ่มของคืนวันที่แปด เนื่องจากจีนนับยามแรกของวันใหม่เวลาประมาณห้าทุ่ม ส่วนเย็นวันที่เก้ามีธรรมเนียมที่ครอบครัวจะสังสรรค์หรือออกไปปิกนิกนอกบ้าน

ถามว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าพระหยกจักรพรรดิประสูติวันไหน อันนี้เป็นเรื่องการตีความตามหลักคิดของเต๋าครับ ว่าเลขเก้ามีความสัมพันธ์กับท้องฟ้า จึงกำหนดให้วันที่เก้าเป็นวันเกิดของฟ้า

 

การฉลองทีก้องแซเป็นงานใหญ่ในชุมชนฮกเกี้ยนทั่วโลก พิธีนี้จะทำการตั้งโต๊ะเซ่นไหว้ที่หน้าบ้าน ยื่นออกมานอกชายคา นิยมยกโต๊ะให้สูงกว่าปกติโดยเอาเก้าอี้มาต่อขาโต๊ะ และเพราะเป็นที่เคารพสักการะมาก แม้แต่ขาโต๊ะก็ต้องรองด้วยกระดาษไหว้เจ้าโดยเฉพาะ

จากนั้นจึงประดับโต๊ะด้วยผ้าปักและเครื่องโต๊ะต่างๆ ซึ่งแต่ละบ้านก็เหมือนได้เอามาอวดกันปีละครั้ง เครื่องสักการะบูชามากมายตามขนบทั้งคาวทั้งหวาน ประกอบด้วยขนมสด ได้แก่ ขนมเต่าแดง (อั่งกู๊) แป้งข้าวเหนียวรูปเต่าไส้ถั่วนึ่ง อั่งอี๋ (อี๋แดง) อั่งโถ (ลูกท้อแดง) อั่งข้าน (เหรียญจีนโบราณแดง) ขนมเข่ง (ตีโก้ย) ข้าวเหนียวแดงกวน ขนมถ้วยฟู ขนมชั้น (เก้าเตี่ยนโก้ยหรือเต้งโก้ย)

ขนมแต้เหลี่ยวหรือจันอับ ขนมทีก้องเปี้ยหรือขนมเปี๊ยะไหว้ทีก้องโดยเฉพาะ บิดเจี่ยนหรือผลไม้เชื่อม นิยมนำมาประดับในเครื่องโต๊ะเฉพาะสำหรับบิดเจี่ยน ผักแห้งสิบสองถ้วย (จับหยี่ฉ่ายอั๊ว) หรื่อจะเป็นผักแห้งหกอย่าง (ลักฉ่าย) เครื่องน้ำตาลห้าอย่าง (ง่อสิ่ว) ได้แก่ เจดีย์น้ำตาล สิงโตน้ำตาล มังกรน้ำตาล หงส์น้ำตาลและช้างน้ำตาล บางบ้านก็จะไหว้เส้งเล่หรือเนื้อสัตว์บวงสรวงห้าอย่าง ผลไม้ห้าอย่างโดยเฉพาะสับปะรด เหล้าน้ำชาและกระดาษไหว้ทีก้องโดยเฉพาะ (ทีก้องกิ้ม)

ที่ขาดไม่ได้คือ โต๊ะบวงสรวงจะต้องผูกต้นอ้อยคู่หนึ่ง นอกจากอ้อยจะออกเสียงในภาษาฮกเกี้ยน ว่าก๊ามเจี่ยที่พ้องกับคำว่า “ขอบคุณ” (ก๊ามเสี่ย) คนฮกเกี้ยนมีตำนานเล่าขานกันว่า ในสมัยซ่งชาวฮกเกี้ยนหนีโจรสลัดเข้าอยู่ไปซ่อนตัวในป่าอ้อยแล้วกินอ้อยประทังชีวิตนานหลายวัน ต่อมาพวกโจรพากันกลับไปในวันทีก้องแซพอดี ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเพราะทีก้องช่วยเอาไว้ จึงได้นำอ้อยมาสักการะด้วย (บางตำนานว่าหนีพวกญี่ปุ่นในสมัยหมิง) เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้สำนึกถึงบุญคุณทีก้องนั่นเอง

คนฮกเกี้ยนถึงผูกพันกับทีก้องเป็นพิเศษ แต่นอกจากนี้ เครื่องสักการะทั้งหลายยังสะท้อนว่าฮกเกี้ยนเป็นพื้นที่การผลิตน้ำตาลที่สำคัญในโลกโบราณ

 

ผมได้ยินมาว่า ในอดีตการไหว้ทีก้องและจัดโต๊ะไหว้เป็นหน้าที่ของลูกชาย ในขณะที่การไหว้บรรพชนในบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิง (คือผู้หญิงดูแลทำกับข้าวไหว้) เพราะนอกจากจะเซ่นไหว้ตามความเชื่อแล้ว การจัดโต๊ะไหว้หน้าบ้านยังเป็นการอวดเพื่อนบ้านถึงความร่ำรวยมั่งคั่ง (ผ่านเครื่องโต๊ะและเครื่องบวงสรวงจำนวนมาก) และการมีลูกชายสืบสกุลด้วย เพราะมีเครื่องบูชาบางอย่างที่บอกว่า บ้านนี้มีลูกชายคือไข่ไก่ต้มย้อมสีแดง แต่ความคิดเช่นนี้ก็ควรเปลี่ยนแปลงได้แล้ว

ยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรควรคงไว้ก็คง อะไรที่ที่ไม่เหมาะก็อย่าคงไว้เลย

อีกอย่าง ผมว่าสมัยนี้เราอาจเพิ่มธรรมเนียมเข้าไป เช่น แทนที่จะขอพรเฉพาะตัวเองและครอบครัว

เราลองขอพรแด่บ้านเมืองและสังคมโดยรวมดีไหม

เช่น ขอฝนฟ้าตกต้อง บ้านเมืองกลับสู่มรรคา (เต๋า) ที่ถูกที่ควรโดยเร็ว

ให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน •