โฉมหน้าธนาคารไร้สาขา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สังคมไทย กับปรากฏการณ์ธนาคารไร้สาขากำลังจะมาถึง เป็นภาพที่มีสีสันและดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาก

ในเชิงสังคม มีความตื่นตัวและตื่นเต้นกันพอควร กับธนาคารแบบใหม่กำลังจะเปิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อกระทรวงการคลังออกประกาศ “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)” ลงนาม (20 กุมภาพันธ์ 2567) โดย เศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 4 มีนาคม 2567)

ตามไทม์ไลน์ (อ้างอิงจากข่าว ธปท. 5 มีนาคม) “ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank มายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567 ถึง 19 กันยายน 2567” ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงการคลัง ได้กำหนดช่วงเวลาต่อจากนั้นไว้ค่อนข้างตายตัว ดูเป็นระบบและแบบแผน

ราว 2 ปีจากนี้โฉมหน้าธนาคารไร้สาขาจะปรากฏขึ้น

 

ทว่า ยังไม่ทันไร ผู้คนพอจะสามารถคาดการณ์กันได้ โฉมหน้าธนาคารไทยไร้สาขาเป็นอย่างไร ใครจะมาวิน

จะว่าไป เป็นเรื่องคาดเดา ดูเหมือนจะเป็นได้ ไม่ซับซ้อนเท่าเหตุการณ์ครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมา ว่าด้วยพลิกโฉมหน้าธนาคารไทยครั้งก่อนหน้า ในรอบราว 3 ทศวรรษ

เชื่อกันว่า ผู้ผ่านคัดเลือกดำเนินธุรกิจธนาคารไร้สาขารายแรกๆ ของไทย น่าจะมี 2 รายนี้รวมอยู่ด้วย-เครือข่าย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า เอสซีบีเอ็กซ์ (SCBX) และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี

รายแรก-มีรากฐานมาจากธนาคารเก่าแก่ ผ่านร้อนผ่านหนาว เคียงคู่มากับสถาบันสำคัญสังคมไทยมานับศตวรรษ คราวนี้ออกตัวอย่างจริงจังในฐานะธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมรายเดียวก็ว่าได้ เพื่อเข้าสู่ธุรกิจธนาคารไร้สาขา

เชื่อว่าเป็นความพยายามก้าวสู่ยุคศมัยใหม่ตามแผนซึ่งเพิ่งปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ไปไม่นาน

อีกราย-ซีพี เครือข่ายธุรกิจอันกว้างขวาง ในฐานะอาณาจักรธุรกิจใหญ่รายสำคัญของไทยและภูมิภาค ดำเนินมายาวนานราว 6 ทศวรรษ แสวงโอกาสทางธุรกิจเข้ากับวิวัฒนาการทางสังคมไทย เชื่อมโยงกับโลกภายนอกหลายช่วงหลายตอน จากยุคยุคสงครามเวียดนาม ท่ามกลางอิทธิพลสหรัฐอเมริกา เข้าสู่อีกยุคสู่จีนแผ่นดินใหญ่รายแรกๆ เมื่อเปิดประเทศ

จากนั้นเปิดกว้างสู่ยุคโลกาภิวัตน์ จนถึงระบบเศรษฐกิจอาเซียนหลอมรวม

ที่สำคัญ ซีพีมีพื้นฐานสายสัมพันธ์กับอำนาจในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

เป็นภาพที่แตกต่างจากครั้งก่อนๆ อยู่บ้าง โดยเฉพาะช่วงผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย มีอันทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์รวนเรและพังทลายไปบางส่วน กับเปิดช่องครั้งใหญ่ เป็นไปอย่างซับซ้อน ให้มีรายใหม่ๆ เข้ามา

ในภาพเคลื่อนไหวอันต่อเนื่องช่วง 15 ปี (2541-2556) ยังคงตื่นเต้นในสายตาผู้ติดตามสังคมธุรกิจไทย ในนั้นมีกระแสหนึ่งที่น่าสนใจ ว่าด้วยขบวนธนาคารแห่งภูมิภาค ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะธนาคารโลกตะวันตกค่อยๆ ถอนตัว

เริ่มจากกระบวนการพลิกฟื้นและปรับโครงสร้าง

กรณีแรก-ธนาคารขนาดกลาง (ธนาคารเอเชีย) ธนาคารซึ่งก่อตั้งมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านการต่อสู้ดุเดือดกับภายในธุรกิจครอบครัวอยู่พักหนึ่ง เมื่อถึงวิกฤตการณ์ ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ กลายเป็นธนาคารแรก ขายกิจการให้ธนาคารต่างชาติ (2541) เปลี่ยนมือ และปรับโครงสร้าง 2-3 ครั้ง จากธนาคารยุโรป (ANB Amro) สู่ธนาคารแห่งสิงคโปร์ (UOB) ในอีก 7 ปีถัดมา (2548) และ UOB มีแผนอย่างกระตือรือร้นในการควบรวมอีกบางธนาคาร จนกลายเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 7 ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไปแล้ว

ที่น่าสังเกต ระหว่างทางนั้น มีธนาคารในภูมิภาคอีกบางรายเข้ามาในลักษณะเดียวกัน ธนาคารมาเลเซีย-CIMB (2552)

และมาถึงกรณีสุดท้าย (ในเวลานี้) กรณีใหญ่ เกี่ยวข้องกับธนาคารญี่ปุ่น-BTMU เพิ่งเกิดขึ้นมาเพียงทศวรรษเดียว (2556) ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แทนที่สถาบันการเงินแห่งสหรัฐ-GE Capital ซึ่งเข้ามาก่อนหน้านั้น (2550)

ในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้น “แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย” เกิดขึ้น ด้วยมีนโยบายหนึ่งซึ่งสำคัญ ตามมาด้วยแผนการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารใหม่ระลอกใหญ่

 

ช่วงปี 2547-2550 กระทรวงการคลังอนุมัติให้มีการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ มี 4 แห่ง เป็นไปตามแบบแผน-ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) “ให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้ทุกกลุ่มและทําธุรกรรมทางการเงินได้เกือบทุกประเภท…จะต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท”

และอีก 2 แห่ง เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) “ให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม… จะต้องมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาท” ต่อมา ธย.เหลือเพียงแห่งเดียว ด้วยอีกแห่งยกระดับขึ้นเป็น ธพ.

อย่างที่เคยว่าไว้ “ธนาคารใหม่มีโครงสร้างธุรกิจพัฒนามาจากสถาบันการเงินชั้นรอง โดยเฉพาะบริษัทเงินทุน ซึ่งสามารถผ่านมรสุมช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาได้ มักมีความสัมพันธ์โดยตรงกับเครือข่ายธุรกิจครอบครัวทรงอิทธิพลในเวลานั้น”

อย่างไรก็ตาม ธนาคารใหม่อยู่ภายใต้เครือข่ายธุรกิจไทยหลากหลาย ทั้งเครือข่ายธุรกิจรายกลางๆ และบางรายก้าวมาจากมืออาชีพก็มี ทั้งนี้ เนื้อในมีกระแสอย่างที่กล่าวไว้ซ่อนอยู่ด้วย

โดยเฉพาะในกรณีหนึ่ง การมาถึงของธนาคารสาธารณรัฐประชาชนจีน – Industrial and Commercial Bank of China หรือ ICBC เข้าซื้อกิจการธนาคารใหม่-ธนาคารสินเอเชีย (2553) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

 

สําหรับโฉมหน้าธนาคารไทยไร้สาขาที่คาดกัน มีภาพซึ่งสัมพันธ์กับกระแสแห่งภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะบทบาทเครือข่ายการเงินแบบใหม่จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกัน

ล่าสุด “SCBX ประกาศจับมือ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน ในฐานะพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เสริมสร้างศักยภาพ Consortium มุ่งนำประสบการณ์ระดับโลกและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย เตรียมยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank” หัวข้อข่าวใหญ่ตั้งใจเสนอของ SCBX เอง (22 มีนาคม 2567)

กับกรณีอีกข่าวหนึ่งยังจำกันได้ ย้อนไปหลายปีก่อน (2564) เกี่ยวกับ Ascend Group บริษัทแม่ของ True Money ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นบริษัทหลักเสนอตัวเข้าร่วมชิงชัยธนาคารไร้สาขา “คว้าเงินลงทุน 5 พันล้านบาทจากบริษัทสหรัฐ” อันที่จริงรู้กันอยู่ว่าผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่ว่า มาจากเครือซีพีเอง และอีกส่วนสำคัญมาจาก Ant Group แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้ง Ant Group และ WeBank ธุรกิจใหม่เพิ่งเกิดขึ้นเพียงทศวรรษเดียว มีจุดเริ่มต้น ตำนาน และความสัมพันธ์ (บางกรณีพลิกผันไปแล้ว) กับเครือข่ายธุรกิจใหม่อันโดดเด่นในจีนแผ่นดินใหญ่ใช้เวลาเพียง 2 ทศวรรษ

Alibaba และ Tencent ก่อตั้งในจีน ท่ามกลางช่วงเวลาพลิกผันและสับสนในภูมิภาค ช่วงเดียวกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และการส่งคืนฮ่องกงให้จีน (ปี 2540) โดย Tencent ก่อตั้งขึ้น (ปี 2541) ก่อน Alibaba (ปี 2542) เพียงปีเดียว ถือเป็นพวก start up เข้ากับกระแสโลก เทคโนโลยี และสื่อสารยุคใหม่ เริ่มต้นในเวทีเฉพาะพยายามปิดกั้นไว้ระดับหนึ่ง ขณะตนเองมีโอกาสเปิดกว้าง สามารถก้าวสู่โลกการเงินภายนอกได้อย่างเต็มที่ ภาพย่อยนั้นได้สะท้อนภาพใหญ่ ความเป็นไปทางเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างมหัศจรรย์ ต่อมาได้ขยายอิทธิพลกว้างไปในระดับโลก

เรื่องราวธนาคารไร้สาขาไทย ยังมีแง่มุมและรายละเอียดอีกพอสมควรให้ติดตาม ·

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com