แผนรับมือ ‘อากาศวิกฤต’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สภาพอากาศเวลานี้ แปรปรวนถึงขั้นวิกฤตจนเกิดผลกระทบในทุกด้าน

ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดอาการงงๆ ว่าเรากำลังอยู่ในฤดูกาลไหนกันแน่ เพราะมีทั้งอากาศร้อนจัด ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 คลุมมิดหนาบนท้องฟ้า

บางวันฝนเทกระหน่ำน้ำท่วมทะลัก

จากนั้นก็กลับมาร้อนแทบคลั่งแล้วยังเกิดปรากฏการณ์ฝุ่นพิษติดอันดับเลวร้ายของโลก

ถ้าเอาข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยามาเป็นสังเคราะห์ดู ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ประเทศไทยย่างเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศในตอนกลางวันร้อนอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส

ต้นเดือนมีนาคม อุณหภูมิทั่วประเทศขึ้นไปถึง 40 องศาเซลเซียส ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดที่จังหวัดชลบุรีพุ่งขึ้น 51.4 องศาเซลเซียส ถือเป็นระดับอันตราย

กลางเดือนมีนาคม กรมอุตุฯ พยากรณ์ว่าจะเกิดพายุฤดูร้อนเนื่องจากมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากจีนแผ่ลงมาคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดเอาความชื้นจากอ่าวไทย ทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคเหนือและภาคกลาง

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนภัยพายุฤดูร้อนทุกวันรวมแล้ว 8 ฉบับ ไล่เรียงจังหวัดในแต่ละภาคที่คาดว่าได้รับผลกระทบ

คำพยากรณ์ของกรมอุตุฯ เป็นจริง พายุฤดูร้อนเกิดขึ้นในหลายพื้นที่และมีฝนตกในหลายแห่ง

ภาพจาก เพจกู้ภัยเพียวเยี้ยงไท้ ศรีราชา ทีมงานบายพาสชุด 3

พายุฤดูร้อนที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเกือบ 2 ชั่วโมง บวกกับน้ำที่ไหลจากเขาลงสู่เบื้องล่าง น้ำท่วมทะลักจนรถยนต์ขนาดเล็กจอดดับสนิทกลางถนน

รถยนต์บางคันที่จอดเสียเพราะน้ำท่วมเป็นรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรืออีวี กลายเป็นเรื่องดราม่าขึ้นในสังคมออนไลน์เมื่อมีคนนำภาพรถอีวีคันนี้ไปโพสต์ว่าต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งชุด 3 แสนกว่าบาท เจ้าของถอดใจ ผ่อนรถยังไม่หมด ประกันไม่จ่าย อ้างไม่ใช่อุบัติเหตุ

สื่อเช็กไปเช็กมาปรากฏว่าเป็นข่าวปลอม เจ้าของรถอีวีงงไม่รู้ใครเอาไปโพสต์ เพราะอีวีคันนี้มีประกันภัยชั้น 1 บริษัทรับผิดชอบครอบคลุมทุกอย่าง ส่วนแบตเตอรี่ถ้าเสียหายก็รับผิดชอบเปลี่ยนให้

ระยะหลังๆ มานี้ประเด็นเรื่องรถไฟฟ้าเจอน้ำท่วมแล้วจอดเสียพูดกันบ่อยครั้ง เพราะรถอีวีในบ้านเราได้รับความนิยมมากขึ้น ยอดขายเพิ่มขึ้นทุกปี แต่คนซื้อยังไม่แน่ใจน้ำท่วมมีผลกับแบตเตอรี่หรือเปล่า และรถอีวีจะลุยน้ำได้นานเท่าไหร่

มีการตั้งคำถามผ่านสื่อออนไลน์ในประเด็นเหล่านี้เยอะมาก หลายๆ สื่อก็ช่วยหาคำตอบ

ขอยกตัวอย่างในเว็บของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (https://www.egat.co.th/home/save-energy-for-all-20221006/) ซึ่งเป็นเว็บหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายอีวี

เว็บ กฟผ.บอกว่า รถอีวีได้รับการออกแบบให้ระบบแบตเตอรี่แยกส่วนและปิดอย่างมิดชิด ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเล็ดลอดเข้าไป

ถึงแม้รถอีวีสามารถขับฝ่าน้ำท่วมขังและฝนตกหนักได้ แต่คนขับจะต้องไปดูว่าค่ามาตรฐานในการป้องกันของแข็งและของเหลวเล็ดลอดเข้าในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า IP rating (Ingress Protection)

รถอีวีทั่วไป IP rating กำหนดให้เป็น IP67 เพื่อรับรองว่ารถคันนี้ลุยน้ำได้ลึก 1 เมตร แช่น้ำได้ไม่เกิน 30 นาที

แต่สำหรับชาวบ้านธรรมดา เชื่อว่าคงไม่มีใครเจาะลึกลงไปถึงค่ามาตรฐาน IP ฉะนั้น เมื่อสังคมยังเป็นงงๆ จึงขอเสนอหน่วยงานภาครัฐให้ออกข้อบังคับผู้ผลิตรถอีวีทุกยี่ห้อ ต้องประกาศชัดเจนว่ารถอีวีรุ่นนี้ ยี่ห้อนี้ถ้าไปเจอน้ำท่วมฉับพลัน แบตเตอรี่จะพังเสียหายภายในกี่นาที หรือกันน้ำได้นานเป็นชั่วโมง

ผู้บริโภคจะเกิดความมั่นใจในการซื้อและการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

 

กลับมาเรื่องฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครเมื่อเช้าตรู่วันที่ 20 มีนาคม สร้างความปั่นป่วนให้กับการจราจร รถติดหนักยาวเป็นกิโล ผู้คนไปทำงานสาย ความเสียหายเกิดขึ้นมโหฬารทั้งเวลา เงินทองและพลังงาน

เมื่อพายุฤดูร้อนผ่านไป อากาศก็กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง อากาศร้อนขึ้น ไฟป่าและมีการเผาป่ามากขึ้น ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ก็อาละวาด นี่เป็นวงจรเพี้ยนๆ ของบ้านเราที่มีแนวโน้มเพี้ยนรุนแรงขึ้น

คาดกันว่า ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะสิ้นสุดกลางพฤษภาคม เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน แต่ช่วงนี้ผู้คนในแถบภาคเหนือที่เผาป่ากันเยอะๆ และคนกรุงเทพฯ ยังต้องเจอฝุ่นพิษเช่นเดิม

ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้คนไทยเผชิญกับวิกฤตสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ในรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ล่าสุดเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมนี้ อ้างถึงศูนย์ข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขว่าในปี 2566 คนไทยป่วยด้วยโรคมลพิษทางอากาศมากถึง 10.5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับปี 2565

ถ้าเฉลี่ยค่ารักษาพยาบาลต่อคนต่อครั้ง ครั้งละ 1,000 บาท เราก็สูญเงินเพราะฝุ่นพิษปีละ 1 หมื่นล้านบาทไปฟรีๆ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องไม้เครื่องมือ เพื่อดับไฟป่าและป้องกันไฟ

การแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จะเป็นโจทย์อีกข้อที่รัฐบาลชุดนี้ต้องรีบทำให้บรรลุเป้าหมาย มิฉะนั้นแล้วในต้นเดือนพฤศจิกายน วกเข้าสู่ฤดูฝุ่นพิษ ปัญหานี้จะย้อนกลับมาทิ่มแทงรัฐบาล

ถ้ารัฐบาลป้องกันได้สำเร็จเอาแค่ระดับค่าอันตรายลดน้อยลง จะมีเสียงชื่นชมปรบมืออย่างแน่นอน แต่ถ้าล้มเหลว ศรัทธาความน่าเชื่อถือจะเสื่อมถอย โดยเฉพาะคุณเศรษฐา ทวีสิน ที่ประกาศจะคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทยตั้งแต่ยังเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ปัญหาฝุ่นพิษจะลามไปถึงนโยบายท่องเที่ยว เพราะตราบใดที่ไทยยังมีคุณภาพเลวร้ายติดอันดับโลกติดต่อกันทุกปี ถามว่ามีนักท่องเที่ยวอยากมาเที่ยวไทยอีกหรือเปล่า

รายงานของ IQAir ของสวิส เอาสถิติคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร 5 ปีย้อนหลังมากางให้ดูว่า ปี 2566 คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเพียงแค่ 32 วันเท่านั้น

ส่วนองค์การอนามัยโลก ตั้งมาตรฐานคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปี ค่าพีเอ็ม 2.5 จะต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ กทม.พุ่งไปอยู่ที่ 33.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐานโลกถึง 6 เท่าตัว

คุณภาพอากาศเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกว่าคนไทยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี

 

ย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเป็น 1 ในปัญหาที่มีผลสืบเนื่องมาจากภาวะโลกเดือด ทำให้พายุฝนยกระดับความรุนแรง ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น เมื่อฝนตกจะตกหนัก อย่างที่ชลบุรี ตกต่อเนื่องเกือบ 2 ชั่วโมง เกิดคลื่นน้ำระบายไม่ทัน

ในหลายๆ ประเทศมีแผนเตรียมรับมือพายุฝนเพราะรู้ล่วงหน้าจากการพยากรณ์อากาศ จึงระดมพลเตรียมแผนจะช่วยลดภาวะวิกฤตจากน้ำท่วมหนักลงได้มาก

ขอนำข่าวการรับมือน้ำท่วมของผู้บริหารเมืองชาร์เลสตัน รัฐเซาธ์แคโรไลนา สหรัฐ มาเล่าสู่กันฟัง

ก่อนเกิดเหตุฝนตกในช่วงวันที่ 22-23 มีนาคมที่ผ่านมา ทางผู้บริหารเมืองชาร์เลสตันจัดประชุมพร้อมกับนำข้อมูลการพยากรณ์อากาศมาวิเคราะห์ว่าฝนจะตกหนักแค่ไหน เกิดคลื่นสูงในห้วงเวลาใด เพราะเมืองชาร์เลสตันอยู่ชายฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จเรียบร้อยจึงวางแผนปิดถนน 25 สาย เตรียมปั๊มน้ำ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อระบายน้ำให้เร็วที่สุด พร้อมบอกประชาชนให้ตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์และสื่อโชเชียล เพื่อป้องกันทรัพย์สิน ลดความสูญเสียจากน้ำท่วม

ข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการเตรียมแผนฉุกเฉินเช่นนี้ ถ้าบ้านเรานำมาประยุกต์ใช้ น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะอากาศวิกฤตได้มากทีเดียว •