รับนักเรียนปี ’67 คึกคัก ม.1-ม.4 แข่งดุ-อาชีวะมาแรง

ผ่านไปแล้วสำหรับการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2567 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 23-24 มีนาคมที่ผ่านมา

โดยปีการศึกษา 2567 ชั้น ม.1 มีแผนรับรวม 17,180 ห้องเรียน รับ 602,476 ราย มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 497,139 ราย ม.4 แผนรับ 10,364 ห้องเรียน รับ 404,651 ราย สมัคร 348,715 ราย

นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะกำกับดูแล สพฐ. การรันตีว่า การรับเด็กเข้าเรียน ม.1 และ ม.4 ปีนี้ ไม่มีการทุจริต แป๊ะเจี๊ยะเรียกรับเงินเพื่อรับเด็กเข้าเรียนอย่างแน่นอน

เพราะนอกจากเป็นนโยบาย ‘บิ๊กอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่เน้นบริหารด้วยความโปร่งใสแล้ว

ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาช่วยตรวจสอบ และจับตาเรื่องนี้เป็นพิเศษ

หากพบว่าโรงเรียนใดมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้บริหารโรงเรียนต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง รวมทั้งยังมีความผิดตามกฎหมายด้วย

 

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) หัวเรือใหญ่ ยืนยันว่า เด็กทุกคนมีที่เรียนอย่างแน่นอน โดย สพฐ.ได้ประกาศปฏิทินการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2567 ให้ทุกโรงเรียนดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 และได้เน้นย้ำกำชับให้ทุกเขตพื้นที่กำกับดูแลการดำเนินกระบวนการสอบ หรือกระบวนการคัดเลือกนักเรียนให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

“สพฐ.เข้าใจความกังวลใจของผู้ปกครอง และไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขต จัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2567’ เพื่อช่วยเหลือ ประสานงาน ให้ข้อเสนอแนะแก่นักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งจัดหาที่เรียนให้แก่นักเรียนทุกคน”

“โดยผู้ปกครองและนักเรียนสามารถยื่นความจำนงได้ ตั้งแต่วันที่ทราบประกาศผลการสอบคัดเลือก จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2567”

“และนักเรียนทุกคนจะต้องมีที่เรียนในโรงเรียนที่ยังมีที่ว่าง สามารถรองรับนักเรียนได้ ภายในวันที่ 5 เมษายน 2567”

“โดยให้รับมอบตัวในวันที่ 6 เมษายน 2567 ตามปฏิทินการรับนักเรียนที่กำหนด” ว่าที่ร้อยตรีธนุกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาดูเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กรุงเทพมหานคร (กท.1) ม.1 โรงเรียนยอดนิยม 5 อันดับแรก ดังนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แผนรับ 224 ราย สมัคร 1,445 ราย อัตราการแข่งขัน 1:5.16 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แผนรับรวม 192 ราย สมัคร 910 ราย อัตราการแข่งขัน 1:3.79, โรงเรียนเทพศิรินทร์ แผนรับ 256 ราย สมัคร 916 ราย อัตราการแข่งขัน 1:2.86, โรงเรียนโยธินบูรณะ แผนรับ 256 ราย สมัคร 835 ราย อัตราการแข่งขัน 1:2.61, โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน แผนรับ 320 ราย สมัคร 1,006 ราย อัตราการแข่งขัน 1:2.52

ม.4 โรงเรียนโพธิสารพิธยากร แผนรับ 20 ราย สมัคร 305 ราย อัตราการแข่งขัน 1:15.25,โรงเรียนเทพศิรินทร์ แผนรับ 30 ราย สมัคร 449 ราย อัตราการแข่งขัน 1:14.97, โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แผนรับ 71 ราย สมัคร 938 ราย อัตราการแข่งขัน 1:13.21, โรงเรียนสตรีวิทยา แผนรับ 35 ราย สมัคร 429 ราย อัตราการแข่งขัน 1:12.26, โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน แผนรับ 22 ราย สมัคร 199 ราย อัตราการแข่งขัน 1:9.05

สังกัด สพม.กท.เขต 2 ม.1 โดย 5 อันดับโรงเรียนที่มีผู้สมัครมากที่สุด ดังนี้ โรงเรียนหอวัง รับ 360 ราย สมัคร 1,113 ราย อัตราการแข่งขัน 1:3.09, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับ 440 ราย สมัคร 1,056 ราย อัตราการแข่งขัน 1:2.40, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รับ 520 ราย สมัคร 1,077 ราย อัตราการแข่งขัน 1:2.07, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า รับ 320 ราย สมัคร 663 ราย อัตราการแข่งขัน 1:2.07, โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า รับ 320 ราย สมัคร 656 ราย อัตราการแข่งขัน 1:2.05

ม.4 ดังนี้ โรงเรียนหอวัง รับ 22 ราย สมัคร 471 ราย อัตราการแข่งขัน 1:21.41, โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รับ 24 ราย สมัคร 446 ราย อัตราการแข่งขัน 1:18.58,โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ รับ 20 ราย สมัคร 305 ราย อัตราการแข่งขัน 1:15.25, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า รับ 60 ราย สมัคร 398 ราย อัตราการแข่งขัน 1:6.36, โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย รับ 47 ราย สมัคร 296 ราย อัตราการแข่งขัน 1:6.30

 

มาดูทางด้านสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มุ่งพัฒนาการจัดการศึกษา เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียน โดยจากการรับสมัครนักเรียน นักศึกษาออนไลน์ สำหรับสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน ผ่านทาง admission.vec.go.th พบว่า สาขาวิชายอดนิยมของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) อันดับ 1 คือ ช่างยนต์ จำนวนผู้สมัครเรียน 14,008 คน รองลงมาคือ ช่างไฟฟ้ากำลัง คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การบัญชี ช่างกลโรงงาน ตามลำดับ

และสาขาวิชายอดนิยมของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.1) อันดับ 1 คือ ไฟฟ้า จำนวนผู้สมัครเรียน 6,942 คน รองลงมาคือ การบัญชี เทคนิคเครื่องกล เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล เทคนิคการผลิต ตามลำดับ

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ระบุว่า สอศ.เปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษา สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 900 แห่ง โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 281,220 คน แบ่งเป็นภาครัฐ 209,841 คน และภาคเอกชน 71,379 คน ปัจจุบันมีผู้สมัครเรียนแล้ว 88,890 คน คิดเป็น 31.61% ซึ่งเปิดรับสมัครไปถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ผ่านทาง admission.vec.go.th

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ประเภทสาขาวิชาอุตสาหกรรม ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือประเภทสาขาวิชาพาณิชยกรรมและบริหารธุรกิจ ล้วนแล้วแต่เป็นสายงานที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ ซึ่งนอกจากการเรียนอาชีวศึกษาจะมีหลักสูตรที่หลากหลาย ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ มีการจัดการเรียนรู้ที่มีความทันสมัย หลักสูตรใหม่ๆ เช่น หลักสูตร EV และหลักสูตรอื่นๆ ที่ตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคตแล้ว ยังมีโครงการต่างๆ ที่ช่วยในการสร้างโอกาสให้กับผู้เรียน ส่งเสริมผู้เรียนให้มีสมถรรนะที่สูงขึ้น อาทิ การขับเคลื่อนสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน บริษัทชั้นนำในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านวิศวกรรมและยานยนต์ ฯลฯ มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ได้ฝึกปฏิบัติงานในสถานที่จริง พร้อมได้รับใบรับรองที่สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ มีทุนการศึกษา มีรายได้ระหว่างเรียน และโอกาสในการไปฝึกปฏิบัติงานที่ต่างประเทศ พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งในระดับชาติและระดับสากล การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

โดย สอศ.มุ่งเน้นผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ให้ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง เรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป

เรียกว่า การรับเด็กปีนี้คึกคักทั้งสายสามัญ และสายอาชีพ ซึ่งคงต้องจับตาว่า หลังการรับนักเรียน แล้วจะมีเรื่องร้องเรียนปัญหาทุจริตตามมาให้ ศธ.ได้ปวดหัวอีกหรือไม่ •

 

| การศึกษา