ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (7)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

การลาออกของ 4 ทหารเสือ (ต่อ)

เนื้อความในจดหมาย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ว่า “การลาออกของ 4 ทหารเสือ ผมก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเลย” ขัดแย้งกับบันทึก “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ของ พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี อย่างสิ้นเชิง…

“นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้ปรึกษากับ นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ และ นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ให้ไปเกลี้ยกล่อม นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมกันยื่นใบลาออกต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากได้ทำการยึดอำนาจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรวางมือเสียจากงานการเมืองซึ่งไม่ใช่ความถนัดของพวกตนที่เป็นทหาร แต่มีแผนซ้อนแผนอยู่ในใจว่า เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะมีคำสั่งใหม่ให้กลับรับราชการโดยไม่มี นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมอยู่ด้วย นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช จะได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกเต็มตัว โดยเชื่อมั่นว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจะเห็นด้วยเพราะเชื่อว่าถือหางฝ่ายตนอยู่”

บันทึกยังมีต่อไปว่า พระยาทรงสุรเดชได้เล่าเรื่องนี้ให้ประยูร ภมรมนตรี ทราบ ดังนั้น เรื่องนี้จึงทราบถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และนายพันโท หลวงพิบูลสงคราม นำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีสิทธิสงคราม กับหลวงพิบูลสงคราม ในเวลาต่อมา

“ตอนกลางวัน ท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ได้เชิญ พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน รัฐมนตรีกลาโหมมารับประทานอาหารกลางวันกัน มีเจ้าคุณศรีวิศาลฯ อยู่ด้วย ปรึกษาเรื่องท่านสี่ทหารเสือลาออกและจะเอาใครมาแทนใคร ข้าพเจ้าเสนอ พล.ต.พระยาพิไชยสงคราม แทน พ.อ.พระยาพหลฯ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม แทน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ตามความดำริของ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม”

ควรทราบว่า พล.ร.ท.พระยาราชวังสัน พระยาศรีวิศาลวาจา และ พล.ต.พระยาพิไชยสงคราม ล้วนอยู่ในกลุ่มอำนาจเก่าทั้งสิ้น

“ตอนบ่ายข้าพเจ้าพา พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม มาพบท่านเจ้าคุณมโนปกรณ์ฯ ข้าพเจ้าปล่อยให้ท่านพูดกันสองต่อสอง พูดกันร่วมชั่วโมงแล้วก็เรียกข้าพเจ้าไป เห็นยิ้มย่องผ่องใสว่าเข้าใจกันดี หลวงพิบูลฯ รับรองว่าท่านเจ้าคุณทั้งสองนั้นเหมาะสมแล้ว”

 

จากนั้น พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี ก็ไปพบ พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้ตรวจการลูกเสือ ที่กระทรวงธรรมการ

“พอเห็นหน้าข้าพเจ้าก็ยิ้มเย้ยว่าบ้านแตกแล้วซี เตือนแล้วตั้งแต่ต้น แล้วข้าพเจ้าขอไปพูดกันเฉพาะตัว ท่านอิดเอื้อนอยู่นานเกรงว่าจะมีลูกไม้และหลอกใช้เล่น ขอตรึกตรองกันก่อน ข้าพเจ้าจึงนัดท่านไปพบกับหลวงพิบูลฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศในวันรุ่งขึ้น”

“รุ่งขึ้น ข้าพเจ้าก็ไปรับเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาพบกับหลวงพิบูลฯ ในห้องรับแขกของกระทรวงการต่างประเทศ มีคุณหลวงสิทธิสยาม น้องเจ้าคุณศรีวิสาลวาจามาต้อนรับแล้วแยกไป รู้สึกว่าเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามพูดจาเคร่งเครียดคาดคั้นเอางานเอาการ หลวงพิบูลสงครามก็ยกมือขึ้นไหว้บ่ายหน้าไปทางวัดพระแก้วให้คำสัตย์มั่นว่า จะมาร่วมมือกันด้วยความสุจริตใจและก็ลุกร่ำลากัน”

การพบปะที่กระทรวงการต่างประเทศครั้งนี้ ปรากฏตรงกันกับจดหมายของพระยาศรีสิทธิสงครามที่มีไปถึงหลวงพิบูลสงครามและมีการเผยแพร่ภายหลังโดย แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ ซึ่งเก็บสำเนาจดหมายฉบับนี้ไว้

เมื่อตกลงร่วมกันดังนี้ จึงนำมาซึ่งประกาศลงวันที่ 18 มิถุนายน 2476 ให้ 4 ทหารเสือพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุน ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2476 เป็นต้นไป

ให้ นายพลตรี พระยาพิไชยสงคราม และ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมทั้งยังมีคำสั่งแต่งตั้งให้ นายพลตรี พระยาพิไชยสงคราม และ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม กลับเข้ารับราชการในกองทัพบกในตำแหน่ง “รักษาราชการผู้บัญชาการทหารบก” และ “เจ้ากรมยุทธการทหารบก” ตามลำดับ และให้ นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ” ซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก เหนือเจ้ากรมยุทธการทหารบกคือ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งมีอาวุโสและยศสูงกว่า นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม

แม้จะมีความร่วมมือระหว่างกัน แต่แล้วในวันที่ 19 มิถุนายน 2476 เพียงวันเดียวหลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม เจ้ากรมยุทธการทหารบกคนใหม่ก็กลับเตรียมออกคำสั่งปรับย้ายนายทหารระดับคุมกำลังในพระนครซึ่งมีฝ่ายที่นิยมหลวงพิบูลสงครามอยู่ไม่น้อยเป็นการด่วน

เหตุการณ์นี้ ทราบไปถึงฝ่ายนายทหารผู้ก่อการสายทหารหนุ่มที่มีหลวงพิบูลสงครามเป็นหัวหน้า ต่างมองว่าเป็นการหักหลังตัดทอนกำลังฝ่ายคณะผู้ก่อการ และยังเป็นการโดดเดี่ยวพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักของคณะผู้ก่อการ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมันสมองก็ถูกกดดันไปต่างประเทศ

หลวงพิบูลสงครามแม้จะมีตำแหน่งสำคัญ แต่หากปราศจากฐานกำลังก็ย่อมไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ จึงอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งนี้เสียเมื่อใดก็ได้

เนื้อความในจดหมายของหลวงพิบูลสงครามถึงหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ที่ว่า “การลาออกของ 4 ทหารเสือ ผมก็ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเลย อยู่ๆ ก็ลาออกกันไป เขาจะทำกันอย่างไรไม่ทราบ ผมเห็นแต่มีคนมาบอกอยู่เสมอๆ ว่า พระยาทรงฯ จะออก นอกนั้นผมไม่ได้วิ่งเต้นอะไร เขาออกไปแล้ว ผมไม่ทราบอะไร เปลี่ยนการปกครองใหม่ๆ ยังอ่อนในการเมือง”

จึงขัดแย้งกับหลักฐานแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง

 

โค่นพระยามโนฯ

หากปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปเช่นนี้ ผลที่ตามมาคือไม่เพียงแต่ “สี่ทหารเสือ” จะหลุดพ้นไปจากเครือข่ายอำนาจเท่านั้น แต่หลวงพิบูลสงครามกับนายทหารระดับคุมกำลังก็จะถูกกวาดล้างด้วย เปิดทางสะดวกแก่กลุ่มอำนาจเก่าในการยึดอำนาจคืน

20 มิถุนายน 2476 หลวงพิบูลสงครามพร้อมนายทหารหนุ่มระดับคุมกำลังจึงตัดสินใจครั้งสำคัญ เชิญพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้านำคณะทหารเคลื่อนกำลังเข้ายึดอำนาจการปกครองโดยปราศจากการต้านทานใดๆ

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ยอมก้าวออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีทางเลือก และจะไม่หวนกลับมาในเส้นทางการเมืองอีกจนกระทั่งไปเสียชีวิตต่างแดนในเวลาต่อมา

21 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ส่วนทางด้านทหารนั้นก็มีพระบรมราชโองการฉบับใหม่ลบล้างฉบับเดิมทั้งสิ้น โดยให้มีผลตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2476 เป็นต้นไป ให้พระยาพิไชยสงคราม ผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกออกจากประจำการเป็นนายทหารกองหนุน และให้พระยาพหลพลพยุหเสนา กลับเข้าประจำการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตามเดิม ให้พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่กลับเข้ารับราชการเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม ให้พระยาศรีสิทธิสงคราม ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก ออกจากประจำการและกลับไปรับราชการในกระทรวงธรรมการตามตำแหน่งเดิม ให้หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

เป็นอันว่า ในบรรดา “สี่ทหารเสือ” บัดนี้เหลือเพียงพระยาพหลพลพยุหเสนากับพระยาฤทธิอัคเนย์เท่านั้น ส่วนพระยาทรงสุรเดชกับพระประศาสน์พิทยายุทธ แม้ตามกฎหมายจะหลุดทั้งจากตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งในกองทัพไปแล้ว แต่ก็มีการเจรจากับพระยาพหลพลพยุเสนาจนได้กลับเข้ารับราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และต่อมาทั้งสองก็ได้รับอนุมัติให้เดินทางไปดูกิจการทหารที่ฝรั่งเศสและยุโรปอีกหลายประเทศ หลุดไปจากวงโคจรของอำนาจ

พระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงพิบูลสงครามจึงสามารถรักษาฐานะและบทบาทของคณะราษฎรไว้ได้อย่างหวุดหวิด หลังจากที่กลุ่มอำนาจเดิมสามารถเดินเกมการเมืองจนได้อำนาจคืน แต่ก็เพียงชั่วเวลาอันสั้น

ส่วนพระยาศรีสิทธิสงครามกับหลวงพิบูลสงครามก็เป็นศัตรูกันแต่บัดนั้นเป็นต้นมา