โจงกระเบน

ญาดา อารัมภีร

‘โจงกระเบน’ เป็นวิธีนุ่งผ้าแบบหนึ่งของคนไทยสมัยโบราณ ทำโดยม้วนชายผ้านุ่งแล้วสอดไปใต้หว่างขา ดึงขึ้นไปเหน็บขอบผ้านุ่งด้านหลังระดับบั้นเอว เรียกวิธีนุ่งผ้าเช่นนั้นว่า ‘นุ่งผ้าโจงกระเบน’ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) อธิบายไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า

“ในสมัยโบราณการนุ่งผ้านุ่ง กล่าวกว้างๆ มี 2 อย่าง อย่างหนึ่งนุ่งม้วนชายโจงกระเบน อีกอย่างหนึ่งนุ่งปล่อยชายลงไปไม่โจงกระเบน เรียกว่า นุ่งลอยชาย”

ตัวละครในวรรณคดีทั้งที่เป็นคนและสัตว์ ทุกเพศทุกวัยล้วนนุ่งโจงกระเบนกันทั่วหน้า ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่นางวันทองเตรียมตัวไปหาพลายงามลูกชาย (ที่ฝากค้างคืนกับท่านสมภารวัดเขา ก่อนที่นางจะชี้ทางไปเมืองกาญจนบุรีให้ลูกหนีขุนช้างพ่อเลี้ยงไปอยู่กับย่าทองประศรี) กวีบรรยายว่า

“นางวันทองร้องไห้เมื่อใกล้รุ่ง น้ำค้างฟุ้งฟ้าแดงเป็นแสงเสน

ด้วยวัดเขาเข้าใจเคยไปเจน โจงกระเบนมั่นเหมาะห่มเพลาะดำ”

โจงกระเบนนุ่งได้ทั่วถึงทั้งที่สาวอย่างนางวันทองและสูงวัยอย่างนางทองประศรี ตอนที่นางทะเลาะกับขุนแผนลูกชายเรื่องพลายงามหรือพระไวยหลานชาย เมื่อโกรธจัดนางทองประศรีก็ออกอาการ ดังนี้

“มึงไม่ไปเสียให้พ้นเรือน กูมิต่อยให้เปื้อนก็จึงว่า

มือเหน็บชายกระเบนร้องเกนมา กล้าดีก็มาอย่ารั้งรอ”

ขุนแผนยามโกรธจัดก็ฉวยดุ้นแสมจะตีพระไวย ทำเอาพระพิจิตรและนางบุษบาซึ่งเป็นพ่อตาแม่ยายของพระไวยต้องช่วยกันห้ามเป็นพัลวัน พ่อตาฉุดชายกระเบนขุนแผนไว้ ในขณะที่แม่ยายรีบแย่งดุ้นแสมไปจากมือ

“พระพิจิตรบุษบาก็ตกใจ ร้องห้ามลูกไปจนเสียงแห้ง

ฉุดชายกระเบนรั้งกำลังแรง บุษบาคร่าแย่งเอาไม้ไป”

 

มิใช่มีแต่คนไทยที่นุ่งโจงกระเบน คนมอญแจวเรือจ้างอย่าง ‘มะถ่อธะบม’ กำลังนอนหลับในเรือที่ค้างอยู่บนเลน ตกใจตื่นเนื่องจากได้ยินเสียงคนมาเรียก เมื่อรู้ว่าขุนแผนเร่งให้พาข้ามฟากไปสืบหาช้างตามรับสั่งกษัตริย์ ก็แก้ผ้าลงลุยโคลนรีบเข็นเรือออกมา พอพายเรือมาถึงท่า เห็นขุนแผนยืนอยู่กับสาวงามก็นึกในใจว่า

“แปลกใจเอ๊ะหลอกดอกกระมัง ลักผู้หญิงชาววังที่ไหนมา

หลอกเราใช้เล่นให้เข็นเรือ ยกเงื้อพายแร่ทั้งแก้ผ้า”

สภาพนุ่งลมห่มฟ้าทำให้นางวันทองสุดทน ขุนแผนร้องบอกให้มะถ่อธะบมรีบนุ่งผ้ามิให้อุจาดตา

“วันทองน้องอายไม่ลืมตา หม่อมขาดูเอาเถิดอ้ายนอกทาง

ขุนแผนร้องเบื่อมันเหลือเถน โจงกระเบนเสียก่อนเจ้าเรือจ้าง”

 

ตัวละครบางตัวถือโอกาสใช้หางกระเบนล้างแค้นเอาคืนซึ่งๆ หน้า ดังกรณีของ ‘เจ้าเงาะ’ ที่ถูกท้าวสามลพ่อตากลั่นแกล้งสารพัด และนางรจนาเมียรักก็ถูกพี่สาวเย้ยหยันทุกครั้งที่มีโอกาส บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” เล่าว่า

“เมื่อนั้น เจ้าเงาะก้มกราบยิบสักสิบหน

แกล้งเลียนล้อต่อหน้าท้าวสามล เฝ้าก่นหัวเราะหริกกระดิกเท้า

เห็นพ่อตาทำไมก็ทำมั่ง เหมือนบ้าหลังจริงจริงยิงฟันขาว

ทำโจงกระเบนใหม่ไว้หางยาว แกล้งปัดหัวพี่สาวของเมียไป”

น่าสังเกตว่าไพร่พลลิงของพระรามในบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ก็ยังนุ่งผ้าโจงกระเบนออกทำศึกเช่นกัน

“บ้างนุ่งผ้าตาโถงโจงกระเบน แกว่งหอกกลอกเขนขึ้นขี่หมี

แล้วเทียมราชรัถาด้วยพาชี มาเทียบที่เกยหน้าพลับพลาไชย”

แม้แต่ท่ารำชื่อ “โจงกระเบนตีเหล็ก” ที่รำโดยมือข้างหนึ่งจีบหงายระดับแง่ศีรษะ มืออีกข้างหนึ่งแบมือหงาย งอข้อศอก ระดับข้างลำตัว เอียงศีรษะข้างเดียวกับมือต่ำ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ก็บอกถึงประวัติการแต่งกายของไทยที่นิยมนุ่งโจงกระเบนในชีวิตประจำวันมานานแล้ว

ฉบับนี้ ‘โจงกระเบน’ ฉบับหน้า ‘ลอยชาย’

พลาดแล้วจะใสเจีย •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร