‘ก้าวไกล’ นับถอยหลังถูกยุบพรรค เร่งเดินเกมใน-นอกสภา ‘พิธา’ ลุยหลายบทบาท

นับถอยหลังวันชี้ชะตาพรรคก้าวไกล ที่ใกล้เข้ามาทุกที เมื่อนายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งได้รับมอบหมายจาก กกต. ให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำร้องดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเป็นมติเอกฉันท์ ว่าการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นและพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง

ซึ่งนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ดำเนินการเอาผิดกับพรรคก้าวไกลตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่รับคำร้อง เนื่องจากยังมีเอกสารบางรายการไม่ชัดเจน จึงให้ผู้ร้องส่งเอกสารฉบับที่ชัดเจนต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในกำหนดระยะเวลาเจ็ดวัน

แต่ในมุมมองของนักวิเคราะห์การเมือง หรือแม้กระทั่งจากการประเมินของพรรคก้าวไกลเอง ต่างเห็นตรงกันว่าพรรคก้าวไกลคงถูกยุบในเร็ววันนี้

 

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ต้องรอว่ากระบวนการหลังจากนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้อง ก็จะมีการแจ้งคำร้องมายังพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคก้าวไกลหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะให้โอกาสพรรคก้าวไกลได้แสดงความเห็นหรือชี้แจงเกี่ยวกับข้อกล่าวหาได้ ทางพรรคก้าวไกลและทีมกฎหมายจะทำเต็มที่เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ส่วนกระแสข่าวที่แหล่งข่าวภายในพรรคก้าวไกลประเมินว่า จะมีการยุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 10 เมษายน 2567 นายพริษฐ์กล่าวว่า จะเร็วหรือช้า เราก็ต้องรับมือในทุกกรอบเวลา

หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองประเมินไว้ เท่ากับว่าโอกาสที่เหลืออยู่ของพรรคก้าวไกลที่จะสร้างผลงานในสภา จะประกอบไปด้วยการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 2 และวาระ 3 ในวันที่ 20-22 มีนาคม 2567 และการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ในวันที่ 3-4 เมษายน 2567 ซึ่งอาจเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายของพรรคก้าวไกล

ต้องจับตาดูว่าพรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสบนเวทีนี้ได้คุ้มค่าหรือไม่

 

นอกจากการเมืองในสภาแล้ว อีกกรณีที่น่าสนใจคือการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเยือนเชียงใหม่ของนายทักษิณ ชินวัตร และนายเศรษฐา ทวีสิน ทำให้ถูกมองว่านี่คือสงครามชิงพื้นที่ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย

การลงพื้นที่ครั้งนี้ นายพิธา ซึ่งได้เดินทางไปที่อำเภอสันป่าตอง เพื่อร่วมกับอาสาสมัครดับไฟป่าของมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ตั้งใจจะมาศึกษาข้อมูลเข้าใจพฤติกรรมของไฟจากหน้างานในพื้นที่ เพราะมูลนิธิกระจกเงาอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งหาวิธีทำให้ทีมงานมีจำนวนเพียงพอเข้าถึงไฟก่อนที่จะลุกลาม

ปัญหาไฟป่าเป็นเรื่องที่สามารถเตรียมการล่วงหน้าได้ เพราะหลายจุดเป็นพื้นที่ไหม้ซ้ำซาก ตอนนี้สถานการณ์รุนแรง ควรจะประกาศเขตภัยพิบัติ หากไม่ประกาศงบฯ กลางจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งวันที่ 12 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ประกาศให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ร่วมมือกับท้องถิ่นได้ จึงอยากรู้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่

และวันนี้ก็ไม่ได้เข้าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่เข้าไปกับมูลนิธิกระจกเงาที่ทำเรื่องนี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว เพราะเป็นข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมที่อยากให้ภาคการเมืองเข้าไปดู

 

ช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่ร้านเล่า ถนนนิมมานเหมินท์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ นายพิธาได้เดินทางมาพบปะพูดคุย และแจกลายเซ็นหนังสือ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” ฉบับปรับปรุงและพิมพ์ใหม่ มีแฟนคลับมารอต้อนรับ พร้อมนำหนังสือมาขอลายเซ็นนายพิธาจำนวนมาก

นายพิธาเปิดเผยว่า เรื่องนี้เขียนตั้งแต่เรียนคณะการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อ 12 ปีก่อน โดยขณะนั้นได้เขียนบทความและส่งมาให้ทางแพรวสุดสัปดาห์ตีพิมพ์

ช่วงนั้นเรียนอยู่ต่างประเทศแต่ก็มีวิกฤตการเมืองที่มีความแตกแยกสูง และตนเป็นนักศึกษาไทยเพียงคนเดียวที่เรียนอยู่ในคณะ จึงถูกตั้งคำถามมากว่าเกิดอะไรขึ้น เสื้อแดง เสื้อเหลืองคืออะไร ทำไมเกิดคอร์รัปชั่น

โดยตนเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่เรียนคณะการเมืองการปกครอง จึงนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเขียนบทความกลับมาให้ทางนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ตีพิมพ์ และมีการรวมเล่มขึ้นมาในชื่อ ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน

ซึ่งเป็นคำพูดของอาจารย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่มักพูดประจำว่า ไม่สนว่าคุณจะเก่งมาจากไหน เพราะยังมีพื้นที่อีกเยอะให้เรียนรู้

“หลายเรื่องที่เขียนเมื่อ 12 ปีก่อน ส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง เช่น เรื่องอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ซึ่งมีโอกาสคุยกับซีอีโอของนิสสัน ได้คาดการณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าไว้เมื่อ 12 ปีก่อน เมื่อมาถึง 12 ปีนี้ภาพความแตกต่างเป็นอย่างไร เนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่ยังเป็นเค้าโครงเดิม เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งเหมือนได้กลับมาอ่านงานตัวเอง จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงหนังสือและตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เพราะสิ่งที่คิดและเขียนไว้พอ 12 ปีให้หลัง บางเรื่องก็ไม่เปลี่ยนแปลง และบางเรื่องก็ถอยหลัง เช่น เรื่องการศึกษา และคอร์รัปชั่น” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวอีกว่า กำลังเตรียมเขียนหนังสืออีก 1 เล่ม เป็นการสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุบสภาจนเลือกตั้ง ถูกผลักมาเป็นฝ่ายค้าน และถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีถือหุ้นไอทีวี และการต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญหลังมีผู้ไปยื่นร้องให้ยุบพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน

จึงรบกวนทุกคนช่วยติดตามด้วย

 

ตัดฉากมาที่ท่าทีของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่โพสต์ข้อความบน X (ทวิตเตอร์) ชี้แจงถึงสาเหตุที่ไม่ประกาศ เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติว่า

“จากกรณีที่มีคำถามมาถึงผมว่า ทำไมจึงไม่ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ในขณะที่ค่าฝุ่นสูง ผมได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วครับ เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลทางลบมากกว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที แน่นอนครับว่า จังหวัดเชียงใหม่จะเสียนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราเป็นห่วงกันตรงนี้ครับ

ส่วนเรื่องงบฯ กลางที่รัฐบาลจัดสรรไปที่กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพย์นั้น พร้อมเบิกจ่ายเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม) ครับ ผมขอย้ำว่าการจัดสรรงบฯ กลางนี้ เป็นการจัดสรรงบฯ ตรงถึงมือพี่น้องอาสาสมัครที่อาสาเข้ามาดูแลเฝ้าระวังไฟป่า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสรรงบฯ ในลักษณะนี้ เพราะเราต้องการจ้างคนในพื้นที่มาดูแลรักษาพื้นที่ของเขา ตามโจทย์ของพื้นที่ และงบฯ ที่ให้ไปมีจำนวนมากกว่างบฯ ฉุกเฉินด้วย

วิธีบริหารจัดการเรื่องฝุ่นมีหลายวิธี รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ แต่รัฐบาลต้องตัดสินใจเลือกทางที่ดี และมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องทำมาหากินด้วยครับ”

ประเมินจากกระแสสังคม พรรคก้าวไกลดูจะโดดเด่นในสมรภูมิเชียงใหม่ แต่ท้ายที่สุดปลายทางของพรรคก้าวไกลจะถูกจดจำแบบไหน คำตอบอยู่ที่ประชาชน