ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ฟ้า พูลวรลักษณ์
หนังสือเรียนสำหรับเด็ก เล่มสาม (๒)
๑
มีเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง ที่น่าสังเกต คือวิชาคณิตศาสตร์ แม้จะเป็นวิชาที่มีประโยชน์ต่อชาวโลกอย่างลึกซึ้ง ไม่น้อยกว่าวิชาอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ หรือเคมี ชีววิทยา หรือการแพทย์
แต่ทว่า ชาวโลกตอบต่อพวกเขา เหมือนเด็กๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไรนัก นี้ดูจะเป็นชะตากรรมของนักคณิตศาสตร์ ที่จะต้องเป็นเด็กๆ ในสายตาชาวโลก เหมือนพวกเขากำลังเล่นอยู่ ไม่ได้ทำงานจริงจัง
๒
สังเกตว่า ไม่มี โนเบลไพรซ์ สำหรับนักคณิตศาสตร์ ทั้งที่ยานอวกาศไม่อาจถูกยิงขึ้นสู่ฟ้าได้เลย หากขาดความรู้ทางคณิตศาสตร์ หรือยาตัวใหม่ๆ ก็ไม่อาจถูกผลิตออกมา หากขาดไร้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ มันแทรกซึมอยู่ในทุกแขนง
ฉันสงสัย ทำไมมนุษย์จึงไม่ตอบแทนนักคณิตศาสตร์เท่าที่ควรเลย
๓
เกียรติคุณสูงสุดในโลกคณิตศาสตร์ คือการชนะเหรียญ Fields medal
มันเป็นรางวัลสำหรับนักคณิตศาสตร์อายุน้อยกว่า ๔๐ ปี ในทุกสี่ปี จะมีการประกาศรางวัลนี้อย่างมากสี่คน แต่ละคนจะได้เหรียญทอง และเงินรางวัล ๑๕,๐๐๐ เหรียญ
หากเทียบกับโนเบลไพรซ์ ที่มีเงินรางวัลกว่าล้านเหรียญ จะเห็นว่าเงินรางวัล Fields medal เป็นอะไรที่จิ๊บๆ เหมือนเงินกินขนม
แต่ Fields medal ก็ถือเป็นโนเบลไพรซ์ของนักคณิตศาสตร์
ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้รับอย่างใหญ่หลวง
นักคณิตศาสตร์เหมือนเด็ก ชอบขนม
๔
ต่อมามี Abel prize ซึ่งเริ่มแจกในปี ๒๐๐๓ รางวัลนี้เลียนแบบโนเบลไพรซ์ แต่แจกทุกปี ให้นักคณิตศาสตร์ทั่วโลก เงินรางวัลราว ๗ แสนกว่าเหรียญ ถือว่าให้มากราวครึ่งหนึ่งของโนเบลไพรซ์
แต่แปลก รางวัลนี้กลับเป็นรอง Fields medal เหมือนหนึ่งว่า มันยังไม่ค่อยเข้ากัน เหมือนเอารางวัลผู้ใหญ่มาล่อเด็ก เด็กก็ไม่ค่อยอยากได้
๕
ในปี ๒๐๐๐
มีการประกาศเจ็ดรางวัล Clay Mathematics Institute millennium prizes ให้เงินหนึ่งล้านดอลลาร์แก่ใครก็ตามที่แก้ปัญหาเจ็ดข้อนี้ได้
๑ Birch and Swinnerton-Dyer conjecture
๒ Hodge conjecture
๓ Navier-Stokes existence and smoothness
๔ P and NP problem
๕ Riemann hypothesis
๖ Yang-Mills existence and mass gap
๗ Poincare conjecture
นี้เป็นปริศนาที่ยิ่งใหญ่ในโลกคณิตศาสตร์
ทุกวันนี้มีหนึ่งปัญหา ที่แก้ได้แล้ว คือ Poincare conjecture
ผู้ชนะคือ นักคณิตศาสตร์ชาวรัสเซีย Grigori Perelman
๖
แต่ความน่าพิศวงคือ Perelman คนนี้เคยชนะ Fields medal แต่เขาก็ปฏิเสธเงินรางวัลและเหรียญทอง มาบัดนี้เขาชนะ เงินหนึ่งล้านดอลลาร์ เขาก็ปฏิเสธเงินรางวัลอีกเช่นกัน จะว่าเขาเป็นคนพิลึกโลก ก็ไม่เชิงทีเดียว เขามีคุณสมบัติบางอย่างที่แท้จริงของนักคณิตศาสตร์ กล่าวคือ เขาทำงาน คิดค้นคณิตศาสตร์ แต่ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง หรือเงินทอง
เขาไม่ชอบความวุ่นวาย สปอตไลต์ การสัมภาษณ์
เรียกว่า เขาเหมือนพระธุดงค์ ที่ใช้ชีวิตตามอุดมคติของตน ไม่ชอบให้คนอื่นไปรบกวนเขา
แต่นี้คือจิตวิญญาณที่แท้จริงของนักคณิตศาสตร์
ที่ชอบเล่นสนุก คิดค้นปัญหา และเพียงพอในตัวเอง
๗
รางวัล Fields medal เป็นอะไรที่มีคุณค่า เพราะเท่ดี ไม่ใช่เพราะจำนวนเงินรางวัล ซึ่งน้อยนิดเดียว รางวัล Abel prize กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงเท่าไรนัก ทั้งที่เงินเยอะพอควร อาจเพราะไม่ถูกกับจิตวิญญาณของคณิตศาสตร์ มันก็ดี แต่ไม่ได้ดีมาก สิ่งที่นักคณิตศาสตร์สนใจมากกว่า คือเจ็ดปัญหาใหญ่หลวงนี้ แต่พอมีคนคิดค้นได้หนึ่งคน เขาก็ไม่เอารางวัลอีก น่าพิศวงยิ่งนัก
๘
เป็นความจริงที่ว่า นักคณิตศาสตร์มีความเป็นพระธุดงค์ มากกว่าศาสตร์แขนงอื่น ไม่ใช่ในการดำเนินชีวิต แต่ในความนึกคิด จิตของพวกเขาเดินทางไกล หายไปในความซับซ้อนของตัวเลข
มีความสุขในนั้น
พูดแบบภาษาชาวบ้าน คือคนพวกนี้บ๊องๆ แปลกๆ เหมือนอยู่ในโลกของตัวเอง
ซึ่งก็คือพระธุดงค์ ที่เดินป่าอย่างยาวนาน
คล้ายคนป่า คล้ายฤๅษี
หนวดเครายาวเฟื้อย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022