ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Biology Beyond Nature |
ผู้เขียน | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร |
เผยแพร่ |
Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร
ยีนฉันเป็นของใคร
(ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทคตอนที่ 34)
ประเด็นดราม่าเริ่มต้นในปี 1991 เมื่อฝ่ายกฎหมายของ NIH ทราบเรื่องการค้นพบยีนแบบรัวๆ ของ Venter และแนะนำให้ทางทีมวิจัยจดสิทธิบัตรการค้นพบยีนพวกนี้ก่อนตีพิมพ์
ฝ่ายกฎหมายให้เหตุผลว่าการจดสิทธิบัตรทำให้ยีนเหล่านี้มีมูลค่าจับต้องได้ NIH ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐผู้ถือสิทธิบัตรเหล่านี้สามารถมอบสิทธิหรือขายสิทธิให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจเอาไปพัฒนาเป็นยา ชุดตรวจ หรือผลิตภัณฑ์การแพทย์อื่นๆ
แต่ถ้าตีพิมพ์เปิดเผยข้อมูลออกไปเฉยๆ ก็จะไม่มีใครจดสิทธิบัตรยีนเหล่านี้ได้อีกเพราะสูญเสียความใหม่ไปแล้ว
การไม่มีโอกาสถือสิทธิบัตรเป็นผลเสียร้ายแรงเพราะเอกชนจะขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนต่อในยีนพวกนี้ อุตสาหกรรมไบโอเทคจะพัง สุดท้ายผลเสียก็ตกกับประชาชนที่อดได้ใช้ผลิตภัณฑ์การแพทย์ดีๆ
ทั้ง Venter และผู้อำนวยการของ NIH เห็นด้วยกับฝ่ายกฎหมาย มีสิทธิบัตรไว้ยังไงก็อุ่นใจกว่า วันหลังจะให้ใครใช้ฟรีเป็นกรณีไปก็ยังได้ ถ้าทิ้งโอกาสนี้ไปจะหวนกลับมาอีกไม่ได้แล้ว
อีกอย่างการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วนจากสิ่งมีชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการไบโอเทค
ปี 1980 ศาลสูงตัดสินให้นักวิจัยจากบริษัท General Electric จดสิทธิบัตรในแบคทีเรียปรับแต่งพันธุกรรมได้ (Diamond v. Chakrabarty case) ช่วยเปิดทางให้อุตสาหกรรมไบโอเทคของสหรัฐ Genentech บริษัทไบโอเทคแห่งแรกเข้าตลาดหลักทรัพย์สำเร็จผ่านการถือสิทธิบัตรในยีนอย่างอินซูลินและ HGH (อ่านตอนที่ 11) ไม่กี่ปีถัดมา Amgen ใช้สิทธิบัตรในยีนฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (erythropoietin) ผลิตยามาขายได้เงินปีหนึ่งๆ กว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (อ่านตอนที่ 15)
สำหรับบริษัทไบโอเทคและบริษัทยาสิทธิบัตรในยีนสำคัญๆ แม้เพียงยีนเดียวอาจจะมีมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐและเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของบริษัท ความจำเป็นของสิทธิบัตรยีนเป็นที่ยอมรับในเวลานั้น
ปัญหาคือที่ผ่านมาสิทธิบัตรพวกนี้ถูกยื่นจดกันทีละยีนสองยีน และมักจะเป็นยีนที่ผ่านการศึกษาหน้าที่ กลไกการทำงาน แนวทางการใช้ประโยชน์ต่างๆ มาค่อนข้างดีแล้ว
แต่ที่ Venter ฝ่ายกฎหมายและผู้อำนวยการ NIH จะทำคือการหว่านแหจดสิทธิบัตรทีละเป็นร้อยเป็นพันยีน แถมยีนพวกนี้ส่วนมากเรายังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก (นอกจากรู้ว่ามัน “น่าจะเป็นยีน”)
มองอีกแง่คือการจดๆ ไปก่อนกันที่คนอื่น
ดังนั้น ทั้งนักวิจัยและภาคเอกชนหลายบริษัทจึงออกมาคัดค้านเรื่องนี้สุดตัวโดยเฉพาะ Watson หัวหน้าโครงการจีโนมมนุษย์ของ NIH เขามองว่าทีมของ Venter แทบไม่ได้คิดค้นอะไรใหม่ เทคนิคการทำ cDNA, automated DNA sequencer, โปรแกรม BLAST ฯลฯ ของพวกนี้มีคนคิดมาก่อนแล้ว ทีม Venter แค่เอามันมาประกอบกัน อ่านและวิเคราะห์ลำดับเบสแบบหยาบๆ (แต่เยอะๆ) แล้วก็จะจดสิทธิบัตร
“นี่คือตัวอย่างชั้นดีของงานไร้สมอง …ลิงที่ไหนก็ทำงานแบบนี้ได้” Watson ด่าออกสื่อ
ทีมของ Venter อึ้งกับคอมเมนต์ไปพักหนึ่ง แต่ก็กลับมาล้อเลียนด้วยการชวนกันใส่หน้ากากกอริลลาโพสถ่ายรูปหน้าเครื่อง DNA sequencer
ฝ่ายคัดค้านให้เหตุผลว่าการจดสิทธิบัตรยีนแบบหว่านแหของ NIH จะเป็นตัวอย่างให้ทั้งเอกชนและทีมวิจัยภาครัฐอื่นๆ รวมทั้งในต่างประเทศแข่งกันจดสิทธิบัตรแย่งเป็นเจ้าของส่วนต่างๆ ในจีโนมมนุษย์ จากนั้นก็จะฟ้องร้องอ้างสิทธิกันวุ่นวาย แทนที่จะมาช่วยกันทำโครงการใหญ่นี้ให้สำเร็จเป็นผลงานร่วมของมวลมนุษย์ชาติอย่างที่ Watson เคยกล่าวไว้
พอเรื่องนี้เป็นข่าวรัฐบาลอังกฤษประกาศจะตอบโต้สหรัฐด้วยการยื่นจดสิทธิบัตรในยีนที่นักวิจัยฝั่งอังกฤษค้นพบกว่า 1,100 ยีน ฝั่งญี่ปุ่นก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้และเตรียมจะจดสิทธิบัตรในยีนที่นักวิจัยตัวเองค้นพบด้วย
ฝ่ายสนับสนุนมองว่าให้ NIH ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐของสหรัฐถือสิทธิบัตรไว้ก่อนปลอดภัยกว่า ยังไงฝั่งเอกชนหรือประเทศอื่นก็อาจจะหาทางจดสิทธิบัตรอยู่ดี นี่แหละคือหนทางปกป้องอุตสาหกรรมไบโอเทคของสหรัฐ
ต้นปี 1992 NIH ประกาศเดินหน้ายื่นเรื่องกับสำนักงานสิทธิบัตร ส่วน Watson ประท้วงด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าโครงการจีโนมมนุษย์ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น กลับคืนถิ่นเดิมที่ Cold Spring Harbor
ฝั่ง Venter ได้รับทั้งเสียงก่นด่าประท้วงและคำสรรเสริญจากผลงาน EST และเรื่องสิทธิบัตรยีน พร้อมกับโอกาสงานใหม่ๆ
กลุ่มนักลงทุนจากบริษัท Healthcare Investment Corps. ที่เห็นด้วยกับเรื่องสิทธิบัตรยีนและชื่นชมผลงานของ Venter ตกลงจะสร้างศูนย์วิจัยใหม่มูลค่า 70 ล้านเหรียญสหรัฐให้ทีมของ Venter “สถาบันวิจัยจีโนม (Institute of Genomic Research)” จากทุนเอกชนนี้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแต่ก็มีเป้าหมายจะมอบทรัพย์สินทางปัญญาในการค้นพบยีนและข้อมูลจีโนมให้กับบริษัท Human Genome Science ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย Healthcare Investment Corps. เช่นกัน
กรกฎาคม 1992 Venter และนักวิจัยลูกทีมอีกสามสิบชีวิตพร้อมใจกันลาออกไปรับตำแหน่งที่ Institute of Genomic Research ซึ่งอยู่ห่างออกไปจาก NIH ไปเพียงไม่กี่ช่วงถนน Venter ตั้งแล็บใหม่พร้อม automated DNA sequencer สามสิบเครื่อง
ประกาศจะไขความลับจีโนมมนุษย์ให้สำเร็จก่อนโครงการจีโนมมนุษย์ของรัฐบาลให้จงได้
ติดตามต่อตอนหน้าครับ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022