The Fireman จากดับไฟป่า เผชิญไฟการเมือง สยบเปลวเพลิงตำรวจ

กลางบรรยากาศอันอึมครึมของข่าวสารบ้านเมือง พอๆ กับอากาศวันฝนตกของบ่ายวันที่ 20 มีนาคม พลันก็เกิดข่าวที่สร้างความฮือฮากันทั้งประเทศ

เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งเด้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ช่วยราชการสำนักนายกฯ

นายเศรษฐามองข้ามช็อต เลือกใช้ความเด็ดขาด “ดับไฟร้อน” ที่กำลังเผาไหม้ศรัทธาประชาชนที่มีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่ก็เป็นการดับไฟ “ชั่วคราว” มันเป็นกองไฟที่พร้อมปะทุอีกได้ทุกเมื่อ เพราะทุกอย่างต้องว่าตามเนื้อผ้า จะจบง่ายๆ แค่ถอนฟ้องไม่ได้

ต้องมีการสืบสวนต่อ เอาผิดเจ้าหน้าที่ทุกคนที่รับสินบนจากเว็บพนัน คนไทยสูญเสียมามากแล้วกับเว็บพนันออนไลน์ เป็นเรื่องที่ประนีประนอมไม่ได้

นับเป็นหนึ่งในกองไฟหน้าร้อนที่กำลังลุกไหม้รัฐบาล ถูกจุดขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่ามกลางกองไฟอีก “หลายกอง” ที่กำลังลุกไหม้รัฐบาล

 

6 เดือนผ่านไปของรัฐบาลเศรษฐา วันนี้ยังเต็มไปด้วยปัญหาที่เหมือนดัง “ไฟ” รุมเร้า รายล้อม เผาไหม้ และจะส่งผลต่อรัฐบาลในหลายระดับ หนักขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้

ไฟป่า และวิกฤตฝุ่นพิษ คือไฟอีกหนึ่งกองที่กำลังเล่นงานรัฐบาลอยู่ในขณะนี้

หลังนายเศรษฐากลับจากเยือนประเทศยังไม่ทันได้พัก ก็ต้องรีบบินไป จ.เชียงใหม่ ภารกิจตรวจไฟป่า แก้ปัญหาฝุ่นพิษที่ปกคุลมภาคเหนือ แถมด้วยการพบปะนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เดินทางไปเชียงใหม่ครั้งแรก

การกลับมาของนายทักษิณ ที่โลดแล่นสู่เวทีการเมืองไทยได้สำเร็จ เป็น “แง่ดี” ต่อพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ด้วยบารมีความ “เก๋า” ในทางเศรษฐกิจการเมือง ดูจากคำพูดคำจา การให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณที่ จ.เชียงใหม่ ก็รู้ได้ทันทีว่า ทักษิณคนเดิมกลับมาแล้ว

แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ การ “ปรากฏ” ของนายทักษิณ “ตัวจริง” พรรคเพื่อไทย ที่จะเคลื่อนไหวมากขึ้นหลังจากนี้ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองในลักษณะ “คู่ขนาน” กับนายกรัฐมนตรี “ตัวจริง”

ดูจากรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ที่ไปรอรับและรายงานข้อมูลให้นายทักษิณ ก็เห็นว่าตอนนี้เกิดสภาวะ “ศูนย์กลางอำนาจ” แตกกระจาย

ทั้ง “ทำเนียบรัฐบาล” ทั้ง “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ทั้ง “หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน” ที่เป็นว่าที่อนาคตทางการเมืองของตระกูล “ชินวัตร”

แต่นายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ ทางการ ก็โชว์ท่าทีได้ดี เปิดเผยความสัมพันธ์กับนายทักษิณอย่างตรงไปตรงมา ไม่แคร์ถูกมองมีนายกฯ ซ้อน พร้อมที่จะควงนายทักษิณลงพื้นที่พบประชาชน

 

ในทางการเมือง การไปดับไฟป่า-แก้ปัญหาฝุ่นของนายเศรษฐา ไม่ราบเรียบอย่างที่หวัง

เนื่องจากไปชนกับกำหนดการของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ส.ส.ของพรรค ที่มีกำหนดการไปลงพื้นที่ดูการดับไฟป่าของเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่

พลันก็เกิดการปะทะทาง “ข้อมูล-ความเห็น” อย่างหนักในโลกออนไลน์ ต่อสู้กันถึงระดับอุปกรณ์ที่นายพิธาใช้ดับไฟ

ต้องชื่นชมว่าท่าทีของนายเศรษฐาที่กล่าวถึงการลงพื้นที่ของนายพิธา เป็นจุดยืนที่ดี ไม่ว่าใครก็สามารถลงพื้นที่ได้ ทำให้คนไทยมีรอยยิ้ม ดีทั้งนั้น

แต่ความเห็นของรองโฆษกรัฐบาลท่านหนึ่ง กลับสาดวาทกรรมน้ำเน่าใส่นายพิธา มองนายพิธาพูดเพื่อเอามัน ปฏิบัติจริงไม่ได้ ทั้งยังดูแคลนว่า “นายกฯ ทิพย์” หรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่มองว่านายพิธาไร้มารยาททางการเมือง ไปลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้

ยิ่งทำเอา “ไฟป่า” โหมรุนแรงมากขึ้น ลุกลามไหม้รัฐบาลในโลกออนไลน์

อันที่จริงต้องกลับมาตั้งหลักว่าการแก้วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ง่าย มีความซับซ้อน ไฟป่าก็เป็นหนึ่งในสาเหตุปัญหา แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

เมื่อเริ่มต้นจุดนี้ก็จะรู้ว่า การ “แอ๊กชั่น” ง่ายๆ หรือการแก้ปัญหาเบี้ยบ้ายรายทาง แก้ปัญหาใหญ่ๆ ไม่ได้ การจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลามาก ที่สำคัญที่สุดคือความร่วมมือและการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของประชาชน

ดังนั้น การทำให้คน “ตระหนักรู้” เข้าใจสาเหตุปัญหา ความซับซ้อนปัญหา จึงสำคัญในเบื้องต้น

อะไรที่เป็นเรื่อง “เฉพาะหน้า” ระยะสั้น ก็ไม่ควรไปตีปี๊บให้ดูเกินจริง หรือทำให้สังคมแคลงใจจนอยาก “หนีห่าง” มากกว่า “ร่วมมือ”

นั่นแหละคือที่มาว่า “ไฟป่า-ฝุ่นจิ๋ว” ดับไม่ง่าย และจะลุกไหม้รัฐบาลไปในทุกๆ ปี

 

อีกหนึ่งไฟที่ลุกไหม้รัฐบาลคือ “ไฟการเมือง”

“ไฟ” กองนี้ร้อนแรง ลุกไหม้รัฐบาลทั้งการเมืองในสภา และนอกสภา หนักหนาสาหัสตั้งแต่ตั้งรัฐบาลเสร็จ และจะลุกไหม้ต่อไป

ไฟการเมือง “นอกสภา” นายเศรษฐาเจอปัญหาสภาวะนายกฯ ซ้อน นายกฯ อย่างเป็นทางการคือนายเศรษฐา แต่ก็มี “ผู้นำตัวจริง” แบบไม่เป็นทางการ โผล่มา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมายืนในเวทีการเมืองของนายทักษิณ ทำให้สปอตไลต์ที่เคยฉายนายเศรษฐา ส่องไปหานายทักษิณมากขึ้น

ยิ่งผสมกับอำนาจของนายเศรษฐาในฐานะนายกฯ ที่ไม่ “เต็มไม้เต็มมือ” การมีทรัพยากรอำนาจที่ “จำกัด” ของนายเศรษฐา ยิ่งทำให้การสร้างภาวะการนำ จากผลงานรูปธรรม ยากลำบากยิ่งขึ้น

นายเศรษฐายังต้องเจอกับการเมืองของค่ายอนุรักษนิยมจารีต-ขั้วอำนาจเก่าที่จับจ้องเล่นงานนายเศรษฐา

ขยับออกนอก “ไลน์” นิดเดียวก็โดน รัฐบาลเพื่อไทยมีประสบการณ์เรื่องนี้ดี

ทั้งยังต้องเจอการวิจารณ์จากพลังเสรีประชาธิปไตย-ฝ่ายก้าวหน้า ที่จับตัวเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองสู้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันนี้ก็หันอาวุธ เล็งมาที่นายเศรษฐา สนามรบออนไลน์ ที่เกิดขึ้นรายวัน คือตัวอย่าง

ไฟการเมือง “ในสภา” ที่นายเศรษฐาต้องเจอ คือการตรวจสอบของฝ่ายค้านและ ส.ว. โดยเฉพาะการทำงานของพรรคก้าวไกล

สมรภูมิสำคัญที่พรรคก้าวไกลเดินเกมหนักคือ “กฎหมาย” ที่รัฐบาลจะต้องถูกไล่บี้อย่างหนัก กฎหมายตระกูล “ก้าวหน้า” ต่างๆ ทั้งยังต้องเจอเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ว่า “รัฐบาลเพื่อไทย” จะแสดงความตั้งใจดีเท่าไหร่ ก็ยังไม่พอแก้ปัญหาทางการเมืองที่กลุ่ม “พลังใหม่” ต้องการ

ล่าสุดคือเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่พรรคก้าวไกลเปิดแผลรัฐบาลไว้หลายเรื่อง เช่นกรณี จัดซื้อเรือฟริเกตของ ทร., งบฯ ทำฝายแกนดินซีเมนต์ 1.25 พันล้าน แม้แต่การเปิดเนื้อให้เห็นว่า ไม่มีงบฯ แจกเงินดิจิทัลอยู่เลย นั่นยิ่งตอกย้ำว่านโยบายเรือธงของเพื่อไทยว่าไร้อนาคตในเร็วๆ นี้

นั่นคือไฟการเมืองที่เล่นงานนายเศรษฐาอยู่ เป็นสัญญาณแห่งความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดอายุรัฐบาลนี้

 

สุดท้ายคือ “ไฟเศรษฐกิจ”

ดังที่นายทักษิณได้ให้สัมภาษณ์เองไว้ว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังเจองานหนัก การแก้เศรษฐกิจวันนี้ยากยิ่งกว่าวิกฤตต้มย้ำกุ้ง

และนับแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ จากจุดเด่นของพรรคเพื่อไทยเรื่องนโยบายทำได้จริง ต้องยอมรับว่าวันนี้กลายเป็นจุดด้อยให้ฝ่ายค้านโจมตี หลายนโยบายเรือธงยังไม่มีวี่แววในทางที่ดีนัก

เรื่องเงินดิจิทัล-แลนด์บริดก็เสียงเบาลงมาก กูรูหลายคนฟันธงว่าเกิดยาก หรือไม่เกิดได้เร็วๆ นี้ตามสัญญา

การเดินทางไปชวนนักลงทุนต่างประเทศ แม้เป็นเรื่องดีแต่ยังไม่เห็นผล

ขณะที่รัฐบาลยังต้องต่อสู้ทางความคิดเรื่อง “เศรษฐกิจ” กับเทคโนเครตจำนวนไม่น้อย ไม่นับต้องปะทะกับ “ชนชั้นกลาง” ที่มีวิญญาณการตั้งคำถาม “ประชานิยมฉบับพรรคเพื่อไทย” มาอย่างยาวนาน

วันนี้จะเห็นว่านายเศรษฐามีจุดยืนความพยายามในการประนีประนอมทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ในทางการเมือง แม้รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้นายเศรษฐา จะจับมือกับฝ่ายอนุรักษนิยม-อำนาจเก่า แต่ในทางปฏิบัติหลายเรื่องก็พยายามบาลานซ์ตัวเอง ไม่ได้แสดงตนเป็นศัตรูกับฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย-ฝ่ายก้าวหน้า ทั้งยังเห็นอกเห็นใจ รุดแก้ปัญหารวดเร็วในบางครั้ง

แต่การเมืองยุคนี้อยู่ในระดับวิกฤต บางครั้ง การเลือกที่จะอยู่ตรงกลางภายใต้โครงสร้างการเมืองเดิมก็ถูกมองว่ากระทำการไม่ต่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

หลายเรื่องทำดีอย่างการเสนอทำประชามติ 2 ครั้ง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ลดจาก 3 ครั้ง แต่คนกลับไม่สนใจ

 

เรื่องเศรษฐกิจ นายเศรษฐาแสดงความขยันเดินสาย ทุกคนเห็น แถมยังเป็นเจ้า “การตลาด” คิดโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ตลอด

แต่ก็ติดปัญหาใหญ่คือ ไม่สามารถ “ระดม” การมีส่วนร่วมอย่างเป็นหนึ่งเดียวจากประชาสังคมได้

คนไม่ค่อยร่วมมือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหลักก็เรื่อง “การเมือง”

ยิ่งมีวาระทางการเมืองไม่ชัดเจน บางครั้งถือ “วาระทางการเมือง-เศรษฐกิจ” จากคนในรัฐบาล พูดตรงข้ามกับที่คนส่วนใหญ่คิด ยิ่งไปกันใหญ่

ไม่นับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศขณะนี้มีปัญหา คนหนี้สินเยอะ ดอกเบี้ยสูง ไม่มีเงินใช้

แน่นอนนายเศรษฐารู้ปัญหานี้ แต่เครื่องมือในการแก้ไข “มีน้อย” ไปจนถึง “ไม่มี” พร้อมๆ กับรัฐบาลถูกทำให้อ่อนแอ ด้วยผลจากวิกฤต “รัฐธรรมนูญ”

นี่คือสารพัด “ไฟ” ที่ลุกไหม้รัฐบาล รอให้นายเศรษฐาในบทบาท The Fireman “ดับ”

ไฟป่า-ฝุ่นพิษ ว่ายากแล้ว

ไฟการเมือง-ไฟเศรษฐกิจ ยากกว่าหลายต่อหลายเท่า