‘หนี้’ ขวางการพัฒนา หนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงในระดับร้อยละ 90.9 ของจีดีพี

เริ่มเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงการทำงานที่ไม่ลงไปแตะต้นเหตุหลักของปัญหาประเทศ แต่รัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ได้ภาพของความขยันขันแข็ง เอาแต่ไล่ตามปัญหาเฉพาะหน้า แบบรายวันเสียมากกว่า

เหมือนทำงานเยอะ แต่เป็นการจัดการแบบปัญหาไม่จบ เพราะเป็นการจัดการกับปลายเหตุมากกว่าที่จะรื้อไปถึงต้นเหตุ

ในบางเรื่องที่หมักหมมดูจะไม่ได้รับความใส่ใจในการแก้ไขเสียด้วยซ้ำ

การศึกษาที่ตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวไม่หยุด การจัดการทรัพยากรของชาติให้เกิดการเข้าถึงอย่างเป็นธรรมของประชาชนทุกกลุ่ม กระทั่งระบบการจัดเก็บภาษีที่เปิดทางให้คนบางกลุ่มมีโอกาสในการหลีกเลี่ยงมากกว่า และอื่นๆ อีกมากที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

ภาพที่ชัดเจนคือปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่าง “หนี้ครัวเรือน”

 

จากตัวเลขที่รับรู้กันอยู่โดยทั่วไปคือ หนี้ครัวเรือนของคนไทยสูงในระดับร้อยละ 90.9 ของจีดีพี แม้จะมีแนวโน้มว่าการเติบโตจะลดลง แต่เป็นการลดจากผู้ให้กู้หลักอย่างธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ หรือไม่ให้กู้มากกว่าที่เกิดจากสามารถแก้ปัญหาให้อยู่ดีกินดีโดยไม่มีความต้องการที่จะกู้

ร้อยละ 57 ของคนไทยมีหนี้เกินกว่า 100,000 บาท, มูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 520,000 บาท, มูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

หนี้ครัวเรือนนี้ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศรุนแรง โดยไม่มีการชี้ให้เห็นว่า

ในด้านเศรษฐกิจ เกิดการชะลอตัวของการบริโภค ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

การชะลอตัวของการลงทุน ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน

การเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ผลกระทบต่อสังคม เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ขยายกว่างขึ้น ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มักมีภาระหนี้สูง ทางรายได้ที่ขยายกว้างขึ้น

ปัญหาสุขภาพจิต ภาระหนี้ที่สูง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากภาระหนี้ อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของปัญหาอาชญากรรม

ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

การลดลงของคุณภาพชีวิต ภาระหนี้ที่สูง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และการอยู่อาศัย

การลดลงของความมั่นคงทางการเงิน : ครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง มีความเสี่ยงต่อปัญหาการเงิน และอาจสูญเสียความมั่นคงในชีวิต

 

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ชีวิตประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความสุข ย่อมส่งผลต่อพลังในการลงแรงลงใจเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศ

ในการแก้ไขนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความพยายามสูงมากที่จะจัดการในเรื่องนี้ “มาตรการจัดการกับหนี้นอกระบบ” ที่อาศัยกลไกราชการระดับจังหวัดเข้าไปขับเคลื่อคือผลงานที่ดูจะเป็นความภาคภูมิใจของรัฐบาลที่คงจะมีการแถลงให้ประชาชนได้ร่วมยินดีในไม่นานนี้

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในเรื่องนี้คงไม่ได้อยู่ที่จำนวนรายที่รัฐบาลเข้าไปช่วย

แต่คำตอบที่แท้จริงจะอยู่ที่ “ประชาชนส่วนใหญ่” รู้สึกว่า “ครอบครัวอยู่ดีมาสุขขึ้นบ้างหรือไม่”

สถิติพากันฆ่าตัวตายยกครัวเพราะปัญหาหนี้สินลดลงบ้างหรือไม่