อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : SPLASHED ศิลปะการบำเพ็ญทุกรกิริยา ที่ตีแผ่บทบาทของแรงงานเพศหญิงในสังคมร่วมสมัย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เร็วๆ นี้มีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการของศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในระดับสากลที่กลับมาแสดงงานในบ้านเรา เลยถือโอกาสหยิบเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามรูทีน

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

SPLASHED

เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวของ กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่

ผู้มีผลงานเป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นผลงานวิดีโอที่ถ่ายทอดภาพศิลปะการแสดงสดของตัวศิลปินเอง ที่ใช้ร่างกายประกอบกิจกรรมอันพิลึกพิลั่นด้วยความยากลำบากและทุลักทุเล ในการเลียนแบบเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านที่ผู้หญิงต้องใช้งานในชีวิตประจำวัน

โดยประกอบด้วยผลงานวิดีโอชิ้นแรกอย่าง Ice (2017) ที่ศิลปินห้อยโยงสมดุลตัวเองอยู่บนเชือกประคองถาดใบใหญ่สองใบไว้บนแขนแต่ละข้างจนดูคล้ายกับตาชั่ง เพื่อรองรับน้ำแข็งจำนวนมากที่ร่วงหล่นลงมาบนถาดทั้งสองข้าง

และผลงานวิดีโอชิ้นที่สองอย่าง Carrier (Fish) (2017) ที่ศิลปินใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเหมือนภาชนะที่แบกรับเข่งกองซ้อนพะเนินเทินทึกที่บรรทุกปลาจํานวนมากไว้

และผลงานวิดีโอชิ้นสุดท้าย อย่าง Big Fish in a Small Pond (2017) ที่แสดงภาพของตัวศิลปินที่ถูกแขวนด้วยตะขอเกี่ยวปากและเชือกดึงร่างให้ลอยเหนือฝูงปลาด้านล่าง ราวกับว่าตัวเธอเป็นปลาที่ติดเบ็ดขึ้นมาเสียเอง โดยมีกระจกเงาวางอยู่บนพื้นเบื้องหน้าจอวิดีโอ ที่ช่วยสร้างมิติของภาพที่ลวงตาจนดูลึกราวกับเป็นบ่อน้ำจริงๆ เลยก็ปาน

ผลงานในนิทรรศการนี้ แสดงนัยยะถึงการใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมง และกระบวนการการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยการแสดงท่าทางซ้ำๆ ภายใต้ใบหน้าที่ไร้ความรู้สึกและดวงตาปิดสนิท ที่สื่อถึงชนชั้นแรงงานที่มักจะถูกมองข้ามไป

แนวคิดเกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นแรงงานเพศหญิง เป็นประเด็นที่กวิตาให้ความสนใจมาโดยตลอด โดยประเด็นเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในผลงานชิ้นก่อนหน้าของเธอ อาทิ ผลงานวิดีโอแสดงสดที่ศิลปินแสดงท่าทางเป็นไม้กวาด ด้วยการทําร่างกายให้แข็งทื่อ ห้อยศีรษะลง และแกว่งลําตัวไปมาโดยสยายปลายผมเรี่ยพื้นซึ่งห่างจากใบหน้าของเธอเพียงไม่กี่นิ้ว

หรือผลงานวิดีโอแสดงสดที่เธอนอนสมดุลตัวเองอยู่บนเสาสูง และใช้ร่างกายต่างไม้คานของแม่ค้าหาบเร่ ใช้คอและปลายเท้าหิ้วเข่งที่ใส่ผักจนเต็มเอาไว้ จนดูคล้ายกับตาชั่ง

และผลงานวิดีโอแสดงสดที่เธอใช้ปลายเท้าเทินกระบะพลาสติก เพื่อรองรับผลแตงโมที่ร่วงลงมาใส่ใบแล้วใบเล่าจนกระจัดกระจายเละเทะ

หรือผลงานวิดีโอแสดงสดที่เธอใช้หน้าแทนมือจับก้อนน้ำแข็งไสกับมีดทำน้ำแข็งไส หรือใช้ปากคาบผลส้ม คั้นน้ำส้มจนหกไหลเลอะเทอะใบหน้าของตัวเธอเองอีกคน ที่ถูกตัดต่อให้มานอนรับน้ำส้มอยู่ด้านล่าง (งงไหม?)

เอาเป็นว่าเข้าไปดูตัวอย่างผลงานของเธอในลิงก์นี้ก็แล้วกัน https://vimeo.com/210920599

การปฏิบัติกิจกรรมซ้ำๆ ซากๆ และยากลำบากในวิดีโอแสดงสดของกวิตา

เหล่านี้ เป็นการแสดงนัยยะถึงการยั่วล้อความสัมพันธ์หว่างมนุษย์และเครื่องจักร และเปิดเผยร่างกายของแรงงานสตรีที่ถูกหลงลืมในโลกของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้าไปอย่างรวดเร็ว

กวิตาใช้ภาษาภาพเหล่านี้สื่อสารเรื่องราวในยุคโลกาภิวัตน์และยุคดิจิตอลที่เสพเพียงข้อมูลฉาบฉวย และบดบังข้อเท็จใจจริงในอุตสาหกรรมต่างๆ

และที่สำคัญ เธอประกอบกิจกรรมเหล่านี้ด้วยตัวเองโดยไม่ใช้ตัวแสดงแทน ซีจี หรือเทคนิคพิเศษแต่อย่างใด ว่ากันว่าครั้งหนึ่งเธอเคยประสบอุบัติเหตุจากการแสดงนี้จนต้องเข้าโรงพยาบาลเลยทีเดียว

ถึงกวิตาจะนิยามถึงการแสดงสดของเธอว่าเป็น “ท่วงท่าของการทำสมาธิ” หากแต่การปฏิบัติกิจกรรมการทดสอบความยืดหยุ่นและสมรรถภาพทางร่างกายของเธอนั้นดูจะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับสมาธิแบบเซน ดูๆ ไปน่าจะคล้ายกับการบำเพ็ญทุกรกิริยาเสียมากกว่า!

สำหรับกวิตา ความอดทนอดกลั้นต่อความยากลำบากอย่างถึงขีดสุดเหล่านี้ เปิดให้เธอพบกับหนทางในการปลดปล่อยตัวเองจากความรู้สึกนึกคิด และเป็นเครื่องมือในการหลุดพ้นจากสภาวะของการดำรงอยู่ ด้วยการเปลี่ยนร่างกายตัวเองให้กลายเป็นเสมือนหนึ่งประติมากรรม

ผลงานวิดีโอแสดงสดเหล่านี้ของกวิตาเป็นเสมือนหนึ่งการกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา และเป็นการการตั้งคำถามใหม่ๆ ในการสำรวจสภาวะทางร่างกาย, สังคม และมุมมองในการให้คุณค่าทางวัฒนธรรมกับบทบาทและหน้าที่ประจำวันของแรงงานเพศหญิงในสังคมร่วมสมัย ร่างกายของตัวศิลปินถูกใช้เป็นพื้นที่ในการทดลองทางความคิดอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟมินิสต์, การกดขี่ ไปจนถึงการทดสอบความแข็งแรงของร่างกาย และการทำสมาธิ

การทดลองทางร่างกายที่ดูสนุกสนาน หากแต่ก็เปี่ยมไปด้วยความเจ็บปวดและยากลำบากในผลงานวิดีโอการแสดงสดของกวิตา นอกจากจะเปี่ยมไปด้วยความท้าทายที่ทั้งกระตุ้นเร้าความสนใจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ยังสร้างความหวาดเสียวไปจนถึงกระดากกระเดื่องใจให้กับผู้ชมงาน

แต่ด้วยการใช้สีสันอันสดใสน่าดึงดูดใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบอันโดดเด่นทางสุนทรียะในผลงานของกวิตานั้น เป็นอะไรที่เข้ากั๊นเข้ากันกับการสื่อสารด้วยภาษาดิจิตอลผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงที่ยึดครองสังคมบริโภคนิยมในโลกยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน และสร้างความบันเทิงเริงรมย์ผสมความระทึกใจให้กับผู้ชมได้ตั้งแต่แรกเห็น

(สังเกตได้จากเด็กๆ ผู้เข้าไปชมนิทรรศการ ที่สนุกสนานตื่นเต้นกับการดูงานของเธอ โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายถึงแนวความคิดหรือความหมายเชิงลึกในผลงานของเธอเลยก็ตามที)

กวิตาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย RMIT (Royal Melbourne Institute of Technology University) กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ผลงานของเธอได้รับการคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการและเทศกาลศิลปะชั้นนำหลากหลายแห่งทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอเป็นหนึ่งในสองศิลปินไทยที่ถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงในโครงการ Alamak! Pavilion ซึ่งเป็นการคัดสรรศิลปินหน้าใหม่มาแรง ให้เข้าร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 57 ในปี 2017 อีกด้วย

นิทรรศการ SPLASHED จัดแสดงที่หอศิลป์ โนวา คอนเทมโพรารี ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ถึง 24 ธันวาคม 2560 น่าเสียดายกว่านิตยสารเล่มนี้จะออก ตัวนิทรรศการก็คงจบลงไปแล้ว

แต่ถ้ามีข่าวสารอัพเดตเกี่ยวกับนิทรรศการของเธอที่ไหนอีก เราจะรีบนำมาแจ้งให้ทราบโดยพลัน!