‘ปฏิรูป’ ไม่เท่ากับ ‘ปฏิวัติ’ ‘แก้ไข’ ไม่เท่ากับ ‘ล้มล้าง’

เหยี่ยวถลาลม

 

‘ปฏิรูป’ ไม่เท่ากับ ‘ปฏิวัติ’

‘แก้ไข’ ไม่เท่ากับ ‘ล้มล้าง’

 

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีการล้อมฆ่าครั้งใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คนที่รอด หนีได้ก็หนีเข้าป่า ไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ “พคท.”

ห้วงนั้น กองกำลังรบของ “พคท.” เติบใหญ่ก้าวกระโดด มีการประดิษฐ์คำขวัญปลุกจิตใจสู้รบคนที่หนีตายไปให้ฮึกเหิม -รบนายหายจน- จะเอาธงแดงปักกลางนคร…ซึ่งก็เป็นความจริงว่า การสู้รบ พ.ศ.นั้น ในหลายสมรภูมิกองทัพรัฐบาลสูญเสียและเพลี้ยงพล้ำจนน่าหวั่นวิตก

แต่คำว่า “การเมือง” ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว

ปัญหาการเมืองควรจะแก้ด้วยการเมือง

เกิดแนวฉลาดคิด “ใช้การเมืองนำการทหาร” การเมืองต้องนำกฎหมาย จะเอาชนะวิกฤตการณ์ได้ก็ต่อเมื่อวิสัยทัศน์ของผู้นำเปลี่ยน

นโยบายการเมืองที่ชื่อ “66/2523” จึงปรากฏ

นโยบาย 66/2523 นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึง “กระบวนการยุติธรรม” ไม่มีคำว่า ถีบลงเขา เผาถังแดง

“สงคราม” ไทยฆ่าไทย ระหว่างกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับกองทัพของรัฐบาลเป็นอันยุติ

ประเทศไทยไม่มีพรรคการเมืองที่ “ต่อสู้ด้วยอาวุธ” อีกต่อไป

รัฐเชิญชวนให้ประชาชน “เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา” แนวความคิดที่แตกต่างสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นตัวแทนนำเสนอนโยบายให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ และตัดสินใจได้

กฎหมายคอมมิวนิสต์ถูกยกเลิก!

 

ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติ” หรือ Revolution ที่เปลี่ยนแปลงระบอบชนิดถอนรากถอนโคน พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

จะมีก็แต่การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ให้เหมาะสมตามยุคสมัย เรียกว่า “Reform” หรือการปฏิรูป

“66/2523” เป็นนโยบายการเมืองที่เปลี่ยนความเชื่อและแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่เคยจะใช้ “ป่าล้อมเมือง” ยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธเปลี่ยนโฉมประเทศ

นโยบายทางการเมืองเปิดทางให้ “คนป่าคืนเมือง” สร้างความเชื่อมั่นให้คนเชื่อมั่นใน “ระบบรัฐสภา” หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำว่า “คอมมิวนิสต์” ไม่เป็นภัยคุกคามสำหรับรัฐไทยอีกต่อไป

ถ้าหากจะมี “ภัยคุกคาม” ชนิดใหม่ทางการเมือง น่าจะเป็นภัยจาก “คณะบุคคล” ที่ใช้กำลังอาวุธ “รัฐประหาร” ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครอง แล้วตั้งพวกเดียวกันเขียนกติกาหรือรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ

จาก 2523-2534 ห่างกันเพียง 11 ปีก็มีคณะทหารก่อรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534

ต่อมาเดือนกันยายน 2549 ทหารก็รัฐประหารอีก

และวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็รัฐประหารอีก

มีรัฐประหารบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายสักครั้ง

ซ้ำร้าย “คณะรัฐประหาร” ยังจับกุมคนที่เห็นต่างหรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเข้าคุก

“ความเห็นต่างทางการเมือง” กลับกลายเป็น “ภัยคุกคาม”!

ทั้งๆ ที่ “คณะรัฐประหาร” คือ “ต้นไม้พิษ”

“ผลของต้นไม้พิษ” เป็นภาษาที่ใช้ในวงการยุติธรรม หมายความว่า หลักฐานใดก็ตาม ถ้าได้มาจากการกระทำโดยมิชอบของเจ้าพนักงาน จะนำหลักฐานนั้นไปใช้เอาผิดผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้

หัวใจของหลักการนี้อยู่ที่ “ความแฟร์” ให้โอกาสในการต่อสู้

กระบวนการยุติธรรมทั้งหลายตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางจึงต้องมีความอิสระ มีการถ่วงดุล โปร่งใส และถูกตรวจสอบได้

“นโยบาย 66/2523” ได้ปูทางไว้ดีแล้ว

 

การต่อสู้ด้วยอาวุธยุติไปแล้วกว่า 40 ปี ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมควรจะได้เข้ารูปเข้ารอย

แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคำว่า “รัฐประหาร” หรือที่เรียกว่า Coup d’etat!!

นานาอารยประเทศล้วนแต่เข้าใจคำว่า “Coup d’etat” ตรงกันคือ to overthrow a government หรือการใช้กำลังอาวุธเข้าเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

“Coup d’etat” คือการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตย ยึดเอาไปอยู่ในมือของ “คณะบุคคล”

กฎหมายอาญาไทยจึงบัญญัติให้การใช้กำลังอาวุธเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นการกระทำที่ผิด และมีโทษหนักถึงขั้น “ประหารชีวิต” หรือจำคุกตลอดชีวิต

“การล้มล้าง” การปกครองระบอบประชาธิปไตยจึงมีเพียง “การปฏิวัติ” หรือ Revolution กับ “รัฐประหาร” หรือ Coup d’etat เท่านั้น

“ล้ม” คือทำให้ตั้งอยู่ไม่ได้ “ล้าง” คือ การทำให้หมดสิ้นไป

“ล้มล้าง” เป็นศัพท์การเมือง ถ้าจะใช้ในแง่ตามกฎหมายจะต้องบรรยายพฤติการณ์หรือการกระทำให้ชัดแจ้ง เช่น มีการใช้กำลังทหาร ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์สงคราม เข้าจี้จับตัวผู้บริหารประเทศ ใช้ถุงดำคลุมหัว หิ้วปีกขึ้นรถ แล้วเอาตัวไปกักในค่ายทหาร ไม่ให้เยี่ยม หรือการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ไม่ใช่แก้ไขปรับปรุงแบบค่อยเป็นค่อยไป การยกเลิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง การไล่กวาดจับคนไม่เห็นด้วยไปขึ้นศาลทหาร ทั้งหมดนี้คือ “การล้มล้าง” การปกครองระบอบประชาธิปไตย

แต่ “คณะทหาร” ทำรัฐประหารกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 จนถึงครั้งล่าสุดเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

ประเทศไทยได้ชื่อว่า มีสถิติที่น่าอับอายคือ “รัฐประหารกันเฉลี่ยทุก 6-7 ปี”

 

การเมืองไทยถอยหลัง ผู้นำที่ครองอำนาจบนเวทีการเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นนายทหาร และทุกครั้งหลังจากรัฐประหาร “เจตนารมณ์” หรือความต้องการของคณะรัฐประหารก็จะถูกสานต่อ ผู้นำสืบทอดอำนาจ เล่นการเมือง พร้อมกับทำลายพรรคการเมือง และลิดรอนนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม จากนั้นเกมจะค่อยๆ ผ่อนคลายจาก “ปืน” ไปเป็น “กฎ” ใช้กด

ในขณะที่ผู้ซึ่ง “เชื่อมั่น” ในระบบรัฐสภาและเชื่อในการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีกลายเป็น “ภัยคุกคาม” ของผู้ปกครอง

“เจตนารมณ์ประชาธิปไตย” ถูกบ่อนทำลาย การแสดงอย่างสันติปราศจากอาวุธ การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกปิดกั้น จนถึงขั้นปราบปราม

อย่างเช่น หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557 แค่โพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ต้องถึงขั้นจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ชำแหละแยกแยะผิดชอบชั่วดี แค่รวมตัวแสดงออกด้วยท่าทางอย่างสันติ ก็ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ถูกบุกค้นบ้าน ยึดคอมพิวเตอร์ ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีโทษจำคุก 7 ปี

ประชาธิปไตยไทยไม่ได้มีโอกาสพัฒนา “แบบค่อยเป็นค่อยไป”

แม้ว่า นโยบายการเมือง 66/2523 ประสบความสำเร็จในการยุติสงครามประชาชนและชักนำเสรีชนให้เข้าสู่เส้นทางเสรีประชาธิปไตยไทยที่เปิดกว้าง และปลอดภัยจาก “Revolution”

แต่ระบอบประชาธิปไตยไทยกลับถูก “ล้มล้าง” จาก Coup d’etat ครั้งแล้วครั้งเล่า!?!!!