บิ๊กธุรกิจ ผวาเศรษฐกิจ ต้วมเตี้ยม…รอปาฏิหาริย์ จี้รัฐอัดเงินบูสต์กำลังซื้อ

เข้าสู่เดือนสุดท้ายไตรมาสแรกของปี 2567 ดูเหมือนหลากธุรกิจเริ่มทำใจ ยอดขาย รายได้ เป้าหมายที่วางไว้ มีแนวโน้มจะไม่มาตามนัด ในเมื่อทุกเสียงบ่นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อยังไม่กลับมา เชื่อว่าอย่างไรต้องอาศัยเวลาอีกสักพักใหญ่กว่าจะฟื้นตัวอย่างที่อยากเห็น

ขณะที่การระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต สัญญาณเริ่มไม่ค่อยดี โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ที่เวลานี้กลายเป็นของแสลงของวงการธุรกิจ พลันที่มีเอฟเฟ็กต์จากหุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

ล่าสุดอย่างยักษ์ใหญ่วงการรับเหมาก่อสร้างบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) ขอเลื่อนการชำระหนี้หุ้นกู้จำนวน 5 รุ่น วงเงิน 14,455 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี หลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จากหลากปัญหารุมเร้า

ซึ่งก่อนหน้านี้ธุรกิจหลายรูปแบบ ทั้งรายใหญ่รายเล็ก ก็เจอสภาพคล้ายกัน

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอฟเฟ็กต์เบี้ยวหนี้หุ้นกู้นั้น กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจัยลบยังคงอยู่ แม้จะเป็นผลกระทบรายบริษัทก็ตาม แต่เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการออกมาตอกย้ำชำระหนี้ได้ตามแผน

ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายได้ปรับแผนออกหุ้นกู้หลายรุ่น งัดแผนสำรอง หากออกหู้นกู้แล้วไม่เวิร์ก จะนำที่ดินอยู่ในแผนพัฒนาในอนาคต ทำเป็นโปรเจ็กต์โลน ขอกู้เงินจากแบงก์แทน

ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจและน่าติดตามจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ที่ระบุว่าปี 2567 มีหุ้นกู้จะครบกำหนดอายุ 890,908 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 10% มูลค่า 99,586 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้เสี่ยงสูงต้องประเมินและติดตามเป็นรายบริษัท

นอกจากสถานการณ์หุ้นกู้แล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจไทย จะไปในทิศทางไหน “อภิชาติ เกษมกุลศิริ” ซีอีโอ บมจ.แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2567 มั่นใจใน 9 เดือนหลังของปี 2567 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง เติบโตไม่น้อยกว่า 2.5-3.0% โดยมีสัญญาณจากกำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัวทั้งการบริโภคภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว

สัญญาณถัดมา ดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนในปี 2566-2567 ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน และกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล แม้ยังไม่ยุติ แต่ความกังวลต่อผลกระทบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เริ่มคลี่คลายและไม่รุนแรง สุดท้ายการลงทุนจากภาครัฐ หากงบประมาณปี 2567 ผ่านการอนุมัติ จะทำให้เกิดการใช้จ่ายและสร้างอัตราการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

เมื่อเศรษฐกิจดี จะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับอานิสงส์และมีแนวโน้มดีขึ้นไปด้วย แม้ยังมีความกังวลหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเกิน 90% ต่อจีดีพี และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็ตาม โดยเชื่อว่าสถาบันการเงินเองก็มีความต้องการที่จะขยายพอร์ตสินเชื่อ ในขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีหลักประกันที่มีมูลค่าไม่เสื่อมถอย ถือเป็นหลักประกันที่ดี

 

ขณะที่ “ปิยะ ประยงค์” ซีอีโอ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรกของปี 2567 ยังทรงตัว และยอดขายยังหนืด เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือน และรายได้ของคนที่ยังช่องว่างห่างกันอยู่มาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก เคยเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมานาน สถานการณ์ก็ยังไม่ได้ดีขึ้นมาก ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องหาเครื่องยนต์ใหม่มาขับเคลื่อน

จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเป็นใจ ซีอีโอพฤกษา บอกว่า ทำให้ต้องลุ้นยอดขายไตรมาสแรกจะมาตามนัดหรือไม่ แม้ว่าบ้านเดี่ยวราคา 7-20 ล้านบาท คอนโดมิเนียมราคา 2-4 ล้านบาท ยังพอไปได้ แต่ที่ยอดขายหนืด คือ ทาวน์เฮาส์ต่ำ 3 ล้านบาท เพราะติดปัญหากู้ไม่ผ่านสูง 40-50 % จึงอยากให้ภาครัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและยกเลิกมาตรการLTV ซึ่งแค่ 2 มาตรการนี้ จะช่วยภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างมาก

ขณะที่เศรษฐกิจภาพใหญ่ รัฐบาลก็ต้องออกมาตรการกระตุ้นเช่นกัน เพื่อให้คนมีรายได้ ในการใช้จ่าย เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น หากเศรษฐกิจไม่ดี ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นโจทย์ใหญ่ ซึ่งอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก และมีผลต่อการไดรฟ์เศรฐกิจให้ขยายตัวไปถึง 3% นั่นยากมากยิ่งขึ้น

 

ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยที่กำลังซื้อซึม สินค้าแฟชั่นและค้าปลีกก็ไม่ต่างกัน

“ธรรมรัตน์ โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล ในเครือสหพัฒน์ บอกว่าภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังซึมต่อเนื่องมาหลายปีตั้งแต่ก่อนมีโควิด และในปี 2567 ยังทรงตัว ไม่ดี ไม่แย่ไปกว่าปี 2566 เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณที่ทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อดีขึ้น ทำให้ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตตามสภาพเศรษฐกิจ

หลังจากดูในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้แล้ว แม้ว่าการใช้จ่ายซื้อสินค้าดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไม่ได้เกิดจากอุปสงค์ที่แท้จริง เพราะเป็นการดึงกำลังซื้อในอนาคตมา แต่ถ้าไม่มีมาตรการอีซี่ อีรี-ซีท สถานการณ์คงแย่ไปมากกว่านี้ แต่ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ น่าจะได้ดีขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรีและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามามากขึ้น

เช่นเดียวกับ “อธิพล ตีระสงกรานต์” รองกรรมการผู้จัดการ บจ.ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ระบุว่ากำลังซื้อค้าปลีกขึ้นปี 2567 บรรยากาศไม่น่าจะแตกต่างจากปี 2566 โดยคึกคักบางพื้นที่ อย่างเมืองท่องเที่ยว หรือช่วงเทศกาลสำคัญๆ ขณะเดียวกันรอลุ้นยอดขายช่วงสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ เพราะแม้รัฐบาลประกาศจัดงานมหาสงกรานต์ต่อเนื่องทั่วประเทศ 21 วัน แต่ความคึกคึกของกำลังซื้อยังกระจุกตัวในเมืองท่องเที่ยวและพื้นที่ที่จัดงานเท่านั้น

จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังซึม “อธิพล” บอกว่า กระทบต่อยอดขายฟู้ดแลนด์ในช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยยอดขายตก 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นและเพื่อให้สอดรับกับสถาการณ์เศรษฐกิจ บริษัทได้รัดเข็มขัดมากขึ้น ไม่มีแผนเปิดสาขาใหม่ ยกเว้นมีทำเลดี และค่าเช่าไม่สูงมาก ทั้งจะปิดสาขาที่ไม่สร้างกำไร

ล่าสุดตัดสินใจปิดสาขาในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสาขาที่ 20 ในเดือนมิถุนายนนี้ หลังเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากพฤติกรรมคนโคราชไม่ค่อยเดินซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่เดินซื้อของในตลาดสด ทำให้รายได้ในสาขานี้ไม่ค่อยดีมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับผลกระทบสะสมจากวิกฤตโควิด-19 ระบาดด้วยแล้ว ทำให้ขาดทุนมาตลอด จำเป็นต้องปิดให้บริการ

หลากหลายปัจจัยรุมเร้า เถ้าแก่ใหญ่อดไม่ได้ที่จะส่งสัญญาณดังๆ ถึงรัฐบาล ถึงเวลาที่ต้องเร่งกู้ซากเศรษฐกิจไทยจากซอมบี้ เดินหน้าพลิกเศรษฐกิจประเทศ!!