ธุรกิจปี 2567 ยากกว่าที่คาด

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ที่เคยเข้าใจว่า จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงท้ายๆ ของการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือช่วยปลายปี 2564 หลังจากนั้นจะเป็นการเงยหัวฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ นั้น

พบความจริงว่า ปี 2565-2566 ทำท่าจะใช่ แต่เลยมาถึงปี 2567 เห็นได้ชัดว่า เป็นการเข้าใจผิดอย่างจัง

เพราะเริ่มศักราชใหม่ปี 2567 มาได้เกือบ 3 เดือน มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ที่กำลังจะสิ้นเดือน จบไตรมาสที่ 1 ของปี คนทำมาหากิน คนทำธุรกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้ “ยากกว่าที่คิดไว้”

หันมาดูตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมหรือประมาณการเติบโตเศรษฐกิจ (GDP) ของหน่วยงานและสถาบันกันบ้างว่า พบว่า ทุกแห่งได้ปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปี 2567 ลงอย่างถ้วนหน้าระหว่างไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการจาก 2.7-3.7% เหลือ 2.2-3.2% ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์จาก 3.2% เหลือ 2.5-3.0%

สถาบันเอกชน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการจาก 3.1% เหลือ 2.8%, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ปรับลดจาก 3.1% เหลือ 2.3%, SCB EIC ก็ปรับลดจาก 3% เหลือ 2.7%

 

เป็นอันว่าตรงกัน หน่วยงานวิชาการด้านเศรษฐกิจได้ปรับลดประมาณการเติบโตลงจากเดิมที่เคยคาดไว้เหมือนกัน และมีค่ากลางหรือค่าเฉลี่ยใหม่ต่ำกว่า 3% เหมือนกัน และตรงกับความจริงที่คนทำธุรกิจเจอ คนเข้าร้านน้อยลง ยอดขายต่ำลง

แนวโน้มการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอลงเช่นนี้ พบว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ออกมาขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2-3 ครั้งตั้งแต่รับตำแหน่ง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนธุรกิจจากการชะลอตัวเศรษฐกิจ

ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและต้นปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ มีเพิ่มเติมว่า เป็นการฟื้นตัวอย่างไม่สม่ำเสมอ บางธุรกิจฟื้นแล้ว บางธุรกิจยังไม่ฟื้น จึงอาจยังมีผู้เดือดร้อน และชี้ว่า ปัญหาใหญ่เศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาโครงสร้าง

ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ยังไม่ลด

ที่ ธปท.ชี้ว่าเป็นปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจนั้นถูกต้องไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะหลายสาขาเศรษฐกิจของไทยประสิทธิภาพการผลิตได้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปแล้ว สินค้าส่งออกที่เคยโดดเด่นในตลาดโลก ส่วนแบ่งตลาดก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ และยังไม่มีอะไรใหม่ที่จะมาเป็น new s-curv

 

ย้อนดูอัตราเติบโต GDP ย้อนหลังที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง จนเรียกกันว่า เป็นทศวรรษที่สูญเปล่า

แต่ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจการปรับปรุงแก้ไขให้เห็นผลต้องใช้เวลา

ปัญหาเศรษฐกิจกำลังซื้อชะลอตัวในขณะนี้เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วนที่ต้องเยียวยา บรรเทา และกระตุ้น

ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนเฉพาะหน้า หรือปัญหาโครงสร้างระยะยาว ต้องอาศัยมาตรการภาครัฐ ทั้งมาตรการการคลัง และมาตรการการเงิน ควบคู่กันไป

เพราะหากทำเพียงมาตรการด้านใดเพียงด้านเดียวย่อมเหมือนการวิ่งด้วยขาข้างเดียว ซึ่งยากจะถึงเป้าหมาย

ประมาณการผิด ก็แก้ไขใหม่ให้ถูกได้ และต้องทำให้เร็ว

เดี๋ยวจะเป็นเหมือนคำพังเพยว่าไว้ “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” •