เกี้ยว

ญาดา อารัมภีร

มหรสพในงานอภิเษกนางบุษบากับจรกาที่กรุงดาหา ทั้งชายหญิงอุ้มลูกจูงหลาน ‘เดินเป็นหมู่หมู่เที่ยวดูงาน’ งานอย่างนี้มีหรือจะขาดชายเจ้าชู้ บทละครในเรื่อง “อิเหนา” บรรยายว่า

“นักเลงเหล่าเจ้าชู้หนุ่มหนุ่ม คาดเข็มขัดนุ่งปูมเกี้ยวคอไก่

ทัดยาดมห่มสีน้ำดอกไม้ หวีผมตำรับใหญ่แยบคาย

เห็นสาวสาวไหนชุมก็รุมเกี้ยว อดข้าวขับเคี่ยวอยู่จนสาย”

‘เกี้ยว’ ทั้ง 2 คำในตัวอย่างข้างต้น แม้เป็นคำกริยาเหมือนกัน แต่ความหมายไกลกันลิบ

‘เกี้ยว’ ในข้อความว่า ‘คาดเข็มขัดนุ่งปูมเกี้ยวคอไก่’ เกี้ยว หมายถึง ผูก รัด หรือพัน ส่วนในข้อความว่า ‘เห็นสาวสาวไหนชุมก็รุมเกี้ยว’ เกี้ยว มีความหมายว่า พูดแทะโลม พูดให้รักในเชิงชู้สาว หรือพูดเลียบๆ เคียงๆ สาวเพื่อให้ตัวเองสมหวัง

‘นุ่งปูมเกี้ยวคอไก่’ คือ นุ่งผ้าปูมหรือผ้าไหมชนิดหนึ่งมีดอกเป็นตาๆ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความว่า เป็นการนุ่งผ้าโดยใช้วิธี ‘เกี้ยวคอไก่’ คือ นุ่งผ้าเอาชายพกรัดอีกชายหนึ่งไว้แล้วเหน็บให้แน่น ส่วนในหนังสือ “กวีโวหารโบราณคดี” อาจารย์ฉันทิพย์ กระแสสินธุ์ ใช้คำว่า

“ในการนุ่งหักคอไก่ เป็นการนุ่งชนิดที่รวบชายผ้าตอนบนที่โอบรอบเอวมาบรรจบกันเหนือสะดือ แล้วบิดชายผ้าอีกข้างหนึ่งเหน็บไว้ชายพกซ้าย ปล่อยชายผ้าอีกข้างหนึ่งเหลือเป็นพกไว้ พกนี้เป็นที่ใส่เบี้ยหรือใส่หมากพลูสำหรับไว้รับประทานในคราวเดินทางไกล”

จะ ‘นุ่งเกี้ยวคอไก่’ หรือ ‘นุ่งหักคอไก่’ น่าจะความหมายครือๆ กัน ตัวอย่างข้างต้นน่าจะเป็นแฟชั่นยอดนิยมของชายไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแต่งตัวไปเที่ยวไปจีบสาว

 

มีวิธีการนุ่งผ้าอีกแบบหนึ่ง คือ ‘เกี้ยวเกไล’ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายคร่าวๆ ว่า เป็นวิธีนุ่งผ้าชนิดหนึ่งสำหรับขี่ช้าง

จำได้ว่าเคยเจอคำนี้ตอนอ่านวรรณคดีสมัยอยุธยา ลองค้นๆ ดูก็ใช่ตามนั้น “กาพย์ห่อโคลง” ของหลวงศรีมโหสถในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีข้อความว่า ชายแต่งตัวเต็มที่ คอยเมียงๆ มองๆ หญิง

“ลางชายลายนุ่งเกี้ยว ยกย่างเลี้ยวเอี้ยวโอนดู

ดอกไม้ใส่ห้อยหู พรั่งพรูบ่ายม่ายเมียงหญิง

ลางชายลายนุ่งเกี้ยว เกไล

ยกย่างพลางจงใจ จ่อชู้

ทัดเพยียเขี่ยกันไร เพราเพริด (พเยีย, เพยีย = พวงดอกไม้)

เมียงม่ายกลายกลางสู้ เสียดส้องแลหา”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ‘เกี้ยวเกไล’ ไว้ใน “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” เล่ม 1 ว่า

“ด้วยได้ไปเห็นตุกตานุ่งผ้าอย่างต่างๆ พระยาอุทัยธรรม (อายุ ๘๑ ปี) ทำขึ้นไว้ให้ลูกดูเพื่อสอน รูปเหล่านั้นรูปหนึ่งเปนแบบนุ่งผ้า เรียกว่า ‘เกี้ยวเกไล’ ใช้ผ้าลายสองผืน ผืนหนึ่งนุ่งโจงกระเบนสนับเพลา อีกผืนหนึ่งคาดพุง วิธีคาดนั้นด้านหลังชักแผ่ลงปรกถึงก้น ด้านหน้ารวบผูกเงื่อนคาด ไว้ชายข้างหนึ่งเสมอเงื่อน อีกชายหนึ่งปล่อยแผ่ยาวเลื้อยลงไป แล้วกลับทบชายขึ้นมาเหน็บไว้ที่พก ดูเห็นเหมือนเอากระเป๋าห้อยไว้ที่หน้าขานั้น เข้าใจว่าผืนที่นุ่งคงเรียกว่า ‘ผ้านุ่ง’ ผืนที่คาดคงเรียกว่า ‘ผ้าเกี้ยว’ คิดว่าแต่ก่อนนี้ผ้านุ่งกับผ้าเกี้ยวคงจะต่างชะนิดกัน ผ้านุ่งกว้าง ผ้าเกี้ยวแคบ ทีหลังไม่ค่อยได้แต่งกัน ไม่มีผ้าคาดก็ฉวยเอาผ้านุ่งมาคาด เลยทำความยุ่งเรียกผ้านุ่งว่าผ้านุ่งลายบ้าง ผ้าเกี้ยวลายบ้าง”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

 

วิธีการ ‘นุ่งเกี้ยว’ สมัยอยุธยาน่าจะมีใช้กันอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จาก “โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ของกวีท่านเดียวกันบันทึกว่า

“เงินคำครอบเครื่องทั้ง ของขัน

เพลาะเสื้อแพรพรายกรร มะหยี่ย้อม

รัดเอวคาดควรขยัน ยาวย่น

ผ้าพรรณพื้นลายล้อม นุ่งเกี้ยวแกมงามฯ”

แสดงว่า ‘นุ่งเกี้ยว’ ใช้ได้กับผ้าลาย เช่นเดียวกับผ้าปูมในข้อความว่า ‘นุ่งปูมเกี้ยวคอไก่’ นั่นแหละ

แค่นุ่งผ้า ‘เกี้ยวคอไก่’ และ ‘เกี้ยวเกไล’ ก็น่าสนใจทั้งชื่อเรียกและวิธีการนุ่ง

ยังมีวิธีนุ่งผ้านอกเหนือจากนี้

ติดตามฉบับหน้า •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร