การเมืองใน พ.ร.บ.แรงงาน เมื่อ ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต ถูกปฏิเสธกลางสภา

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by Romeo GACAD / AFP)

ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานถูกนำเสนอในสภา

มีรายละเอียดสำคัญคือ การลดเวลาการทำงานตามกฎหมาย จาก 48 ชั่วโมงให้เหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ-การเติบโตทางเศรษฐกิจ

การห้ามเลือกปฏิบัติไม่ว่าด้วยเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ทัศนะทางการเมือง

การวางเงื่อนไขที่ลดการจ้างงานแบบรายวันเพื่อมุ่งสู่การจ้างงานรายเดือน

มีห้องให้นมบุตร ลาดูแลคนในครอบครัว และวันพักผ่อนประจำปี ฯลฯ

กฎหมายนี้ถูกเสนอแยกกับร่างกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติการเงิน ซึ่งมีประเด็นคือ การเพิ่มวันลาคลอด 180 วัน และการขยายการคุ้มครองแรงงานภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องของร่างทางการเงินที่ต้องได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี

ผมได้มีโอกาสให้ความเห็นในคอลัมน์นี้หลายครั้งในประเด็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางสังคมต่อข้อเสนอทั้งหลายเหล่านี้

ในบทความนี้ผมจะพิจารณาเฉพาะประเด็นทางการเมือง เพื่อตอบข้อสงสัยว่าเหตุใด พ.ร.บ. “ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต” ถึงไม่ผ่าน ถูกคว่ำกลางสภา

 

พระราชบัญญัติฉบับ “ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต” ไม่ใช่ของใหม่ ได้รับการยื่นตั้งแต่ช่วงระหว่างปี 2562-2566 อันล้อกับนโยบายหาเสียงของพรรคอนาคตใหม่ เสนอโดย ส.ส.สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการการแรงงาน

โดยการยื่นได้รวมทุกข้อเสนอไว้ในร่างเดียวกัน ซึ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการตีตกร่างที่เกี่ยวข้องกับการเงินได้ จะว่าไปแล้วภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีกฎหมายที่ผ่านเข้าสู่การอภิปรายในสภาอย่างจำกัดมาก

โดยในปี 2567 พรรคก้าวไกลทำการแยกยื่นสองฉบับเพื่อป้องกันข้อเสนอที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินถูกตีตกไปด้วย

ซึ่งในฐานะคนที่ติดตามประเด็นด้านแรงงานมาอย่างต่อเนื่องต้องกล่าวว่า จริงๆ แล้ว ร่าง “ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต” เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ท้าทายต่อโครงสร้างผลประโยชน์ของชนชั้นนำอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับร่างข้อเสนออื่นๆ ของทางพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจจะต้องปะทะกับเครือข่ายชนชั้นนำและผลประโยชน์ รวมถึงกระบวนการจัดสรรทรัพยากร

แต่กรณีนี้เราจะพบว่า ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้ต้องจัดสรรทรัพยากรเพิ่มแต่อย่างใด

หรือแม้แต่กับกลุ่มผู้ประกอบการ ก็มีเพียงส่วนน้อยมากที่จะได้รับผลกระทบทางต้นทุน เพราะเป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำ ที่หลายแห่งก็ก้าวผ่านจุดนี้ไปแล้ว

การลาดูแลคนในครอบครัว ลาพักผ่อน หรือการเลือกปฏิบัติก็เป็นแนวทางใหม่ๆ ที่เป็นกระบวนการการปรับความเข้าใจมากกว่า การกระทบกับต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ

 

ในทางเทคนิคมันจึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อย เพราะข้อเสนอเหล่านี้น่าจะอย่างน้อยผ่านวาระหนึ่งได้ และสามารถนำสู่การถกเถียงในชั้นต่อไป

การปฏิเสธข้อเสนอพื้นฐาน อย่างเรื่องคุณภาพชีวิตของคนวัยทำงาน ในทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องที่พึงทำ เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อความนิยมทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการเมืองฝ่ายใด

และเมื่อพิจารณาในด้านนี้ จึงน่าแปลกใจที่พรรครัฐบาลนำโดย พรรคเพื่อไทยตัดสินใจโหวตคว่ำ พ.ร.บ. “ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต” ในสภา

และเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่นำมาอภิปรายก็ไม่มีเหตุผลที่ชัดแจ้งแต่อย่างใด

ส.ส.บางท่านของพรรคเพื่อไทยก็ยังให้ความเห็นในทางสนับสนุนต่อคุณภาพชีวิตแรงงานด้วยซ้ำ

แต่ในทางการเมือง เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่าลืมว่า ณ ปัจจุบัน พรรคก้าวไกล ได้ขยับสู่การเป็นคู่แข่งทางการเมืองหลักของทางพรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเอง ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการบริหารงานมามากกว่าครึ่งปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต หรือการขยับนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ ที่ดูจะไม่เห็นความสำเร็จที่ชัดเจน

แม้แต่นโยบายที่ดูจะเป็นรูปธรรมในกระทรวงสาธารณสุขที่ดูจะคืบหน้ามากกว่ากระทรวงอื่น ก็ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ยังไม่สมบูรณ์

ขณะที่นอกสภาแม้พรรคก้าวไกลจะผ่านมรสุมหลายด้าน แต่ความนิยมในทางสังคมก็ยังติดลมบน สวนทางกับทางพรรคเพื่อไทย ที่ยังคอยจังหวะความสำเร็จทางนโยบายที่เป็นรูปธรรม

ในด้านนี้ มีเหตุผลอะไรที่พรรคเพื่อไทยจะปล่อยให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านเพื่อให้ทางพรรคก้าวไกลมีโอกาสสะสมความนิยมให้มากขึ้น

แม้จะเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณาจากขบวนการแรงงาน แต่ทางรัฐบาลก็ปล่อยให้ พ.ร.บ.ฉบับการเงิน ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ที่มีประเด็นถกเถียงมากกว่า ผ่านคู่กันกับอีกร่างของพรรคก้าวไกล ในประเด็นข้อถกเถียงการคุ้มครองแรงงานภาครัฐ และการลาคลอด 98วัน หรือ 180 วัน

ซึ่งการผ่านประเด็นนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่น่าแปลกใจเหมือนกัน เพราะเคยเป็นประเด็นที่เคยถูกตีตกมาก่อน

พรรคเพื่อไทยลดแรงเสียดทานต่อประเด็นนี้โดยการพยายามดึงภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องแรงงานและสวัสดิการเป็นตัวแทนในกรรมาธิการวิสามัญ ถือว่าเป็นการพยายามแก้เกม

ขณะที่ทางพรรคก้าวไกลต้องยอมรับความผิดพลาดทางการเมืองที่ประเมินประเด็นนี้พลาดไป

เพราะหากพรรครัฐบาลมีประเด็นร่างที่ใกล้เคียงกันเสนอเข้าไป อาจจะผ่านวาระหนึ่งได้

สะท้อนว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ไม่ได้มีการหารือในประเด็นแรงงานที่น่าจะเป็นประเด็นร่วมกัน

 

เอาเป็นว่า พ.ร.บ. “ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต” ตกไปด้วยเหตุผลทางการเมือง

แต่สำหรับผู้ผลักดันประเด็นทางแรงงาน การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลายเป็นตัวกลางของการวัดพลังอำนาจทางการเมือง เพราะพรรคก้าวไกลซึ่งมีคะแนนนิยมในเมืองอุตสาหกรรมหลายแห่งมีโอกาสสะสมความนิยม ถูกปฏิเสธไป อาจจะเป็นข้ออ้างให้การผลักดันประเด็นเหล่านี้ยากลำบากต่อไปในอนาคต

การลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มวันลา จ้างงานรายเดือน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ยาวนานของขบวนการ อาจถูกเลื่อนวาระออกไปอย่างไม่มีกำหนด