ออสการ์ครั้งที่ 96

วัชระ แวววุฒินันท์

ผ่านพ้นไปแล้วเมื่อตอนเช้าตรู่ของวันที่ 11 มีนาคมในบ้านเรา กับงานการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 96 ที่ผลรางวัลปีนี้ไม่มีอะไรพลิกล็อกให้ได้พูดถึงเลย

โดยเฉพาะในรางวัลใหญ่ๆ ที่ก็เป็นไปตามโผของนักวิจารณ์และแฟนภาพยนตร์ โดยหนังฟอร์มยักษ์เต็งจ๋าอย่าง “Oppenheimer” ที่เข้าชิง 13 รางวัล ก็กวาดไปได้ถึง 7 รางวัลสำคัญ ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายและสมทบชายยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ในส่วนของผู้กำกับฯ “คริสโตเฟอร์ โนแลน” นั้น นี่คือออสการ์รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมตัวแรกของเขา หลังจากที่ไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขานี้มาก่อนเลย แม้จะมีผลงานที่ยิ่งใหญ่เพียงใด

ส่วนนักแสดงนำชายอย่าง “คิลเลียน เมอร์ฟี่” ก็เป็นการถูกเสนอชื่อรางวัลนี้ครั้งแรกและก็ได้ไปเลยในครั้งแรกนี้เช่นกัน

ผิดกับนักแสดงสมทบชายที่ตีคู่กันมาในหนังคือ “โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์” ที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งล่าสุดนั้นห่างจากครั้งนี้ร่วม 16 ปี ก็ได้รับรางวัลสมใจจากเรื่องนี้เสียที

จะว่าไปทั้งสามคนนี้ก็อยู่ในลิสต์ที่คาดหมายกันอยู่เดิม เพราะได้กวาดรางวัลจากเวทีอื่นมาก่อนหน้านี้แล้ว เหมือนเป็นการเรียกน้ำย่อย ก่อนจะมามีความสุขสมหวังกับเมน คอร์ส อย่างออสการ์

 

เบน คิงสลีย์ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง “Gandhi” เมื่อปี 2525 ได้พูดถึงเมอร์ฟี่ในช่วงพรีเซนต์ผู้เข้าชิงไว้ว่า เมอร์ฟี่ตกลงใจรับเล่นเรื่องนี้ก่อนจะได้อ่านบทเสียอีก นั่นเพราะเขาไว้วางใจคริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับฯ ที่เคยร่วมงานกันมาก่อน ซึ่งต้องใช้ความเชื่อใจและความกล้าหาญอย่างมาก

และการแสดงของเมอร์ฟี่ก็ยอดเยี่ยม เพราะสามารถแสดงออกถึงความเป็น “มนุษย์” กับตัวละครอย่าง Oppenheimer ที่เหมือนจะไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ จากการสร้างเจ้าระเบิดปรมาณูขึ้นมา และเป็นการแสดงที่ทำให้เราประทับใจได้

ซึ่งเรื่องนี้ เมอร์ฟี่เองก็ได้กล่าวในตอนท้ายของสปีชตอนขึ้นรับรางวัลไว้ว่า

“เราทำหนังเกี่ยวกับคนที่สร้างปรมาณู และตอนนี้เราทุกคนก็อยู่ในโลกที่ Oppenheimer ได้สร้างขึ้นมา ผมจึงขอมอบรางวัลนี้ให้กับผู้คนที่ช่วยกันสร้างสันติสุขให้กับโลกใบนี้”

 

ส่วนหนังที่ได้รับจำนวนรางวัลมาเป็นอันดับสองก็คือ “Poor Things” ซึ่งเข้าชิงทั้งสิ้น 11 รางวัล และได้รับมา 4 รางวัล แต่รางวัลที่เป็นไฮไลต์ที่สุดก็คือ รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่ “เอ็มมา สโตน” คว้าไปครองเป็นออสการ์ตัวที่สองของเธอ

ตอนพรีเซนต์ผู้เข้ารอบรางวัลนี้ มี 5 นักแสดงที่เคยได้รับออสการ์นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาก่อน มาเป็นคนพรีเซนต์ถึงผู้เข้าชิงในปีนี้ทั้ง 5 คน โดยของเอ็มมานั้นเป็น แซลลี่ ฟิลด์ ที่เคยได้รับออสการ์ไปแล้ว 2 ตัว เป็นคนกล่าวสปีชให้เครดิตกับเธอ แซลลี่บอกว่า

“ตัวละครเบลล่า ที่เอ็มมาเล่น เป็นตัวละครที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนทารกที่เติบโตมาในโลกแบบไร้ความกลัวใดๆ และเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสระเสรี ไร้ข้อจำกัดซึ่งเอ็มมาก็สามารถสวมบทบาทนี้ได้อย่างเซอร์ไพรส์คนดู และน่าจดจำ”

เมื่อเอ็มมาขึ้นเวทีเพื่อรับรางวัล มีเหตุการณ์สดๆ จากชุดสวยของเธอที่ซิปด้านหลังนั้นแตกและเธอก็ให้นักแสดงที่อยู่บนเวทีช่วยดูให้ ซึ่งสามารถเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้อย่างน่ารัก

เอ็มมาบอกว่า เมื่อคืนเธอ Panic มาก คิดถึงว่าจะเป็นอย่างไรหากในคืนนี้เธอจะได้ขึ้นมาบนเวทีนี้เหมือนตอนนี้ แต่ผู้กำกับฯ คือ “ยอร์กอส ลานธิมอส” ได้บอกว่า อย่ากังวล เพราะนี่คือรางวัลของพวกเราทุกคน ซึ่งเธอก็เห็นด้วยและยังได้กล่าวชื่นชมถึงการทำงานเป็นทีมที่วิเศษ ทั้งจากนักแสดงและทีมงานเบื้องหลังต่างๆ

รางวัลนี้จึงเป็นของทุกคนเช่นเดียวกัน

 

สําหรับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ก็ไม่พลิกโผเช่นกัน โดยตกเป็นของ “ดาไวน์ จอย แรนดอล์ฟ” จากเรื่อง “The Holdovers” ซึ่งก็เดินสายตกรางวัลจากเวทีต่างๆ มาแล้ว ตั้งแต่เวทีลูกโลกทองคำ, SAG Awards และ BAFTA ตอนขึ้นรับรางวัลเธอได้กล่าวความในใจด้วยเสียงที่สั่นเครือว่า

“นานมาแล้ว ที่ฉันคิดเสมอว่า อยากจะแตกต่างจากคนอื่น แต่ตอนนี้ฉันคิดได้แล้วว่า ขอแค่ฉันเป็นตัวของตัวเองก็พอ ขอบคุณที่มองเห็นสิ่งที่มีในตัวฉัน ขอบคุณครูคนหนึ่งที่เคยสอนฉันในคลาสที่ฉันเป็นคนผิวดำคนเดียวในคลาสนั้น ครูให้กำลังใจฉัน ให้ฉันเป็นตัวของตัวเอง และบอกว่าไม่ต้องกลัว เราสองคนจะสร้างหนทางไปข้างหน้าด้วยกัน”

 

ส่วน “โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์” ที่ทุกคนคงรู้ว่ากว่าจะมีวันนี้ได้เขาเคยมีชีวิตที่ตกต่ำเหลวแหลกเพียงใด ทั้งติดเหล้า ติดยาเสพติด และไม่มีงานในวงการทำ แถมมีคดีความจนเคยติดคุกมาแล้ว เพราะฉะนั้น ในวันนี้ที่เขากลับมายืนขึ้นใหม่ได้ และได้รับการยอมรับในฝีมือและความเป็นตัวตนของเขา เขาย่อมจะต้องมีความสุขอย่างล้นเหลือ ซึ่งประโยคแรกในการกล่าวสปีชของเขาก็คือ

“ขอขอบคุณชีวิตในวัยเด็กห่วยๆ ของเขา” แล้วเขายังพูดถึงภรรยาของเขาด้วยว่า ขอขอบคุณเธอที่ดูแลเหมือนเขาเป็นสัตว์เลี้ยงอนาถาที่เธอเก็บมาเลี้ยงและได้ดูแลเขาอย่างดี

นอกจากนั้น เขายังบอกถึงการรับบทสำคัญนี้อีกว่า “ผมต้องการบทนี้ (ลูวิส สเตราส์ ) มากกว่าที่บทต้องการผมเสียอีก”

และเขาก็ตอบแทนโนแลนและเอ็มมาภรรยาของโนแลน ที่เป็นโปรดิวเซอร์งานนี้ ด้วยการแสดงอย่างสุดฝีมือจนคว้ารางวัลออสการ์ในปีนี้มาครอง

 

เมื่อมีคนสมหวังก็ต้องมีคนผิดหวัง เพราะหนังกระแสดีอย่าง “Barbie” ที่เข้าชิงถึง 8 สาขา สุดท้ายก็เก็บมาได้แค่รางวัลเดียวจากเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือเพลง “What Was I Made For?” ซึ่ง ไรอัน กรอสสิ่ง ได้ขึ้นโชว์เพลงนี้บนเวทีเองด้วย

แต่นั่นก็ยังดีกว่าหนังเรื่อง “Killer of the Flower Moon” ที่ได้เข้าชิงถึง 8 สาขารางวัล แต่ไม่ได้เลยสักรางวัลเดียว จึงเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของผู้กำกับฯ เรื่องนี้คือ มาร์ติน สกอร์เซซี ที่เคยมีหนังเข้าชิงออสการ์จำนวน 10 รางวัลมาแล้วถึง 2 เรื่องคือ “Gangs of New York” และ “The Irishman” แต่ก็ไม่สามารถคว้ารางวัลไปนอนกอดได้เลย

หนนี้จึงเป็นหนที่สามที่ต้องกลับบ้านมือเปล่าอีกครั้ง

 

งานประกาศรางวัลออสการ์ปีนี้สร้างบรรยากาศออกมาแบบเรียบหรูและย้อนยุคหน่อยๆ ให้ความรู้สึกถึงการมีคุณค่าของรางวัล ที่นับวันจะได้รับความสนใจชมการถ่ายทอดสดน้อยลง โดยมีพิธีกรรายการทอล์กโชว์ชื่อดัง “จิมมี่ คิมเมล” ทำหน้าที่ดำเนินรายการ คิมเมลทำหน้าที่หนนี้เป็นครั้งที่สี่แล้ว ซึ่งก็สร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นและลื่นไหลได้ไม่เลว แม้จะมีบางช่วงที่ออกจะแซวแรงไปสักหน่อย

อย่างตอนเปิดรายการ เขาเดี่ยวไมโครโฟนถึงนักแสดงเด่นๆ ที่ได้เข้าชิงในปีนี้อย่างหยิกแกมหยอก พอถึงตอนที่พูดถึง โรเบิร์ต เดอ นิโร และ โจดี้ ฟอสเตอร์ ซึ่งได้เข้าชิงนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมในปีนี้ทั้งคู่ว่า ทั้งสองเคยแสดงร่วมกันในหนังเรื่อง Taxi Driver เมื่อปี 2519 ตอนนั้นโจดี้ดูเหมือนลูกของเดอ นิโร เลยล่ะ เมื่อ 48 ปีต่อมา ทั้งสองได้มาเจอกันอีกในงานนี้ แต่ตอนนี้โจดี้ดูแก่เกินจะเป็นแฟนของเดอ นิโร เสียอีก ภาพตัดไปรับหน้าโจดี้ที่ยิ้มแบบแค่นๆ

สำหรับปีนี้ ผลงานสายเอเชียไม่โดดเด่นมากเหมือน 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่พอจะกู้หน้าได้บ้างก็คือ 2 รางวัลจากประเทศญี่ปุ่น คือ รางวัลภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม จากเรื่อง “The Boy and the Heron” โดยฝีมือเจ้าเก่า Ghibli Studio ที่ก็กวาดรางวัลจากเวทีสำคัญๆ ก่อนหน้านี้มาแล้ว

และรางวัลเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม จากเรื่อง “Godzilla Minus One” ที่หากดูจากทุนสร้างอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับหนังที่มี Visual Effect เยอะๆ ของฮอลลีวู้ดแล้ว หนังทำได้ขนาดนี้ก็สมควรจะได้รับไป

 

อีกรางวัลหนึ่งที่เข้ากับบรรยากาศของโลกตอนนี้คือ รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ซึ่งภาพยนตร์จากประเทศอังกฤษที่ชื่อ “The Zone of Interest” ได้รับไป หนังนำเสนอถึงบรรยากาศของบ้านทหารนาซีที่อยู่ติดกับค่ายเชลยศึกในยุคล้างเผ่าพันธุ์ ที่ทำออกมาแบบเสียดสีได้อย่างฉลาดมากๆ

และตอนที่ผู้สร้างขึ้นไปรับรางวัลก็ได้เอ่ยถึงความโหดร้ายจากการไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตอนนั้น ซึ่งไม่ต่างจากตอนนี้ที่เราได้เห็นในกรณีการใช้ความรุนแรงคร่าชีวิตมนุษย์ในอิสราเอล และในกาซา

เป็นสปีชที่เหมือนได้ตบหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาเบาๆ ซึ่งก็พอจะทำให้ออสการ์ปีนี้มีอะไรกระตุกถึงความจริงของโลกอยู่สักหน่อย

พอจะพูดได้ว่า ออสการ์ปีนี้มีพระเอกเป็นหนังที่พูดถึงคนสร้างลูกระเบิดปรมาณู มีนางเอกเป็นหนังที่พูดถึงผู้หญิงที่ปลดแอกจากสังคม และมีพระรองเป็นหนังที่พูดถึงการลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ส่วนออสการ์ปีหน้าจะมีอะไรให้ได้พูดถึงและกระตุกต่อมแรงๆ ได้บ้าง ต้องติดตามกันนะครับ •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์