จดหมาย

จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 15-21 มีนาคม 2567

 

• ดับร้อนรุ่ม

เปิดตามจิตปิดตามใจไปตามโจทย์

ฌานมีโทษโปรดอย่าหลงโปรดจงวาง

หลบหลีกลี้หนีให้ไกลไปให้ห่าง

ไม่ใช่ทางไม่ใช่ธรรมไม่นำพา

เป็นเครื่องมือถือถ่อเรือเมื่อวันก่อน

เป็นเครื่องถอนอุปาทานวันข้างหน้า

ฌานสมาบัติจัดตามแนวที่แจวมา

ฌานที่ตาฌานที่หูดูให้ดี

ฌานวิโมกข์โลกนั้นถือว่าคือฝั่ง

ชินในทางเจนในใจไร้วิถี

ธรรมบรรจบบรรจงใจในวารี

ดับโลกีย์เป้าประสงค์ขององค์ฌาน

อามะภันเต อุตตโม นามะ

 

ณาน

หากเป็นกริยา หมายถึง ทำใจให้สงบตามหลักทางศาสนา

หากเป็นนาม

ฌาน หมายถึง ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์

หรือการเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ

ในยามอากาศร้อนรุ่ม

และมีปัญหารุมเร้า ทั้งโดยส่วนตัว ส่วนรวม และของประเทศ

การพยายาม “ทำใจให้สงบ”

ก็อาจคลายความร้อนรุ่มลงได้บ้างกระมัง?

 

• ผีเสื้อ และดอกไม้

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน สถานีวิจัยลำตะคอง จัดกิจกรรมพิเศษสำหรับน้องๆ ในช่วงปิดเทอมที่ต้องการเลี้ยงหนอนผีเสื้อเพื่อศึกษา “วงจรชีวิตและการเจริญเติบโต” อย่างใกล้ชิด

โดยสามารถเข้ามารับ หนอน “ผีเสื้อแพนซีสีตาลไหม้” (จำกัดบ้านละ 10 ตัว)

ตั้งแต่บัดนี้-31 มีนาคม 2567 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

โดยเปิดให้บริการเยี่ยมชม (walk-in) ในวันอังคาร-อาทิตย์ หรือตามปฏิทินเปิด-ปิดเวลา 09.00-16.00 น.

วิธีการมารับหนอน “ผีเสื้อแพนซีสีตาลไหม้” ขอความร่วมมือน้องๆ และผู้ปกครอง ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

1. เตรียมกล่องหรือภาชนะที่ระบายอากาศได้ดี และปิดล็อกอย่างแน่นหนา มารับหนอนกลับบ้าน

2. เตรียมพืชอาหาร ได้แก่ ต้นต้อยติ่ง หรือต้นขาไก่ ไว้ที่บ้านในปริมาณมาก เพราะหนอนกินใบไม้เก่ง

3. ยื่นตั๋วเข้าชม “ศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน” และแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “มารับหนอนกลับบ้าน” เพียงเท่านี้น้องๆ ก็จะได้หนอนผีเสื้อกลับไปเลี้ยงที่บ้าน

ทั้งนี้ ผีเสื้อมีประโยชน์ในการเป็นผู้ช่วยผสมเกสรให้กับพืช ช่วยให้พืชประสบความสำเร็จในการสร้างเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งยังทำให้เกิดผลไม้ไว้สำหรับบริโภคด้วย โดยวงจรชีวิตของผีเสื้อ มีดังนี้

1. ระยะไข่ ใช้เวลา 4-7 วันจะเริ่มฟักตัว

2. ระยะหนอน 12-40 วัน

3. ระยะดักแด้ 12-38 วัน

4. ระยะผีเสื้อ เมื่อผีเสื้อฟักตัวออกจากดักแด้ ปีกของผีเสื้อจะชื้นแล้วยังยืดไม่เต็มที่ ช่วงเวลานี้ต้องปล่อยผีเสื้อผึ่งปีกให้แห้งเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง เมื่อปีกและตัวผีเสื้อเสื้อแห้งสนิทแล้ว ผีเสื้อจะสามารถบินออกสู่โลกกว้างได้อย่างแข็งแรง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ facebook : Tropical insect sanctuary #Tropicalinsectsanctuary

อนึ่ง สถานีวิจัยลำตะคอง เป็นหน่วยงานในสังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. มีภารกิจและเป้าหมาย มุ่งวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านงานวิจัย เพื่อนําไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

กองประชาสัมพันธ์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

มีผีเสื้อ

ก็ย่อมมีดอกไม้

ปลูกฝังและสร้างความผูกพันเล็กระหว่างผีเสื้อกับดอกไม้

ให้กับลูกหลานของเรา

ย่อมเป็นสิ่งที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย

รักธรรมชาติตั้งแต่เยาว์ จะได้ไม่คิดยึดหรือบุกรุกป่า

 

• พืชและสวน

สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers – AIPH) ประกาศให้สิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก (International Horticultural Expo) หรือ “โคราช เอ็กซ์โป 2029” การได้รับสิทธิ์จัดงานระดับโลกครั้งนี้ จะช่วยยกระดับจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพืชสวน ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature & Greenery : Envisioning the Green Future)

“โคราช เอ็กซ์โป 2029” หรือ งานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.2572 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2573 ถือเป็นงานมหกรรมระดับโลก ประเภท A1 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานจำนวน 2.6-4 ล้านคน

การจัดงานครั้งนี้จะนำเสนอแนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” (Nature and Greenery : Envisioning the Green Future) สะท้อนความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพืชสวนและการเกษตรที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2549 โดยนับเป็นการจัดงานมหกรรมระดับโลกครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย และยังได้รับรางวัลเหรียญทองจากความสำเร็จในการจัดงานในครั้งนั้นอีกด้วย

การประกาศผลการคัดเลือกให้จังหวัดนครราชสีมาได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.2572 มีขึ้นระหว่างการประชุมประจำปี 2567 ของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในวันที่ 6 มีนาคม โดยผู้แทนจากทีมประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมและนำเสนอความพร้อมของประเทศไทยในรอบสุดท้ายประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ

ลำดับถัดไป ไทยจะต้องเสนอตัวต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ BIE (Bureau International des Expositions) เพื่อให้ได้รับการพิจารณารับรองเป็น Certified License Host ของงาน เนื่องจากมหกรรมพืชสวนโลกเป็นงานระดับ A1 ตามเกณฑ์ของ BIE

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการจัดงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 หรืองานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.2572 คาดการณ์ว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 9,163 ล้านบาท รายได้จากการจัดเก็บภาษี 3,429 ล้านบาท และสร้างงาน 36,003 อัตรา

ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

 

หลายคนคงผ่านตากับข่าวนี้

ที่จงใจหยิบมานำเสนอ

ด้วยเพราะเห็นว่าโคราช

เมื่อได้เป็นเจ้าภาพพืชสวนโลก

กระแส “เขียว” น่าจะอบอวลในจังหวัด

อันน่าจะรวมถึง “เขาใหญ่” ที่กำลังเป็นข่าวอื้ออึงตอนนี้

เกี่ยวกับการเบียดชิงพื้นที่

ระหว่าง ส.ป.ก.กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

เลยอยากตอกย้ำข่าวนี้สักหน่อย

เผื่อกระแส “เขียว” จะทำให้พื้นที่ป่าเขาใหญ่

ไม่ต้องแหว่งเว้าลงไปอีก! •