‘อยู่อย่างโกง’ จนชิน

เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีสัญชาตญาณต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นเหล่าเป็นคณะ และเพราะมนุษย์มีสมองที่มีความสามารถในการคิด การสร้างภาพในจินตนาการเพื่อจัดการให้การดำเนินชีวิตดีที่สุด จึงคิดสร้างระบบการอยู่ร่วมกันขึ้นมา

เพราะความฉลาด และความเข้มแข็งของมนุษย์ไม่เท่ากัน ระบบการอยู่ร่วมกันจึงมี “ผู้นำ” พัฒนาเป็นระบบการปกครอง เพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างสุขสงบ อันหมายถึงอยู่ร่วมกันอย่างเรียบร้อย

ทุกสังคมต้องการผู้นำที่มีความปรารถนาดีต่อสมาชิก

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผู้นำ” หรือ “ผู้ปกครอง” จำนวนมาก หลงเหลิงความสุขสบายที่สมาชิกมอบตอบแทนให้ด้วยความเคารพ เป็น “อำนาจที่เหนือกว่า” มีการใช้อำนาจที่มาจากความฉลาด เข้มแข็งกว่า รวมถึงโอกาสที่สมาชิกมอบให้นั้น ทำการเอารัดเอาเปรียบ แสวงหาประโยชน์อย่างเกินเลยจากความเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้ปกครอง”

เป็นจุดเริ่มต้นของการ “ทุจริต” ส่งผลให้คณะหรือทีมงานของผู้นำนั้นเห็นเป็นตัวอย่าง แล้วพากัน “คอร์รัปชั่น”

 

ประเทศที่ “การทุจริต-คอร์รัปชั่น” เติบโตมาจนเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกมากเท่าไร ยิ่งเป็นความเลวร้ายของการอยู่ร่วมกันเท่านั้น

ไม่เพียงจะทำให้ประเทศขาดแคลนทรัพยากรในการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น เพราะกลไกการปกครองเบียดบังเอาไปครอบครองเป็นของตัวเองแทนเท่านั้น แต่ประเทศยังต้องสูญเสียงบประมาณ และเวลาในการจัดตั้งหน่วยงานที่จะใช้ปราบปรามการทุจริตขึ้นมา

ยิ่งคอร์รัปชั่นมาก ยิ่งต้องตั้งหน่วยงานที่ไม่จำเป็นสำหรับประเทศที่ “ผู้นำ” ดีงามมากขึ้น

และที่น่าอ่อนใจคือ ไม่ว่าจะตั้งขึ้นมามากแค่ไหน “หน่วยปราบคอร์รัปชั่น” ก็ไม่มีหน่วยไหนทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าจะทำหน้าที่อย่างได้ผล

 

ประเทศไทยเรามี “หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ขัดขวางการทุจริตมากมาย”

ล่าสุด “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “คดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ”

น่าสนใจคือที่ถามถึง “ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ในหน่วยงานต่างๆ”

ผลออกมาว่า ที่ตอบว่า “เชื่อมั่นมาก” นั้น คือ “สำนักงานอัยการสูงสุด” ได้ร้อยละ 5.50, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ร้อยละ 12.52, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร้อยละ 6.02, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ร้อยละ 10.00, กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร้อยละ 6.49, ตำรวจหน่วยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ บก.ปปป. ได้ร้อยละ 4.05

เท่ากับทุกหน่วยงานสอบตกหมด

เคยมีการคำกล่าวเอาไว้ว่า ประเทศไทยเราหากแก้ปัญหาทุจริตได้ จะใช้ “ทองสร้างถนน” ก็ยังได้ หมายถึงโดยทรัพยากรแล้วไทยเราเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่ที่ไม่มีงบประมาณมาพัฒนาประเทศเท่าที่ควรจะเป็นนั้น เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่นได้พัฒนามาเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งยากลึกในกลุ่มผู้มีอำนาจและแวดวงข้าราชการ จนเห็นเรื่องการทุจริตคดโกงประเทศเป็นเรื่องปกติ

ประเทศไทยตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปราบปรามการคดโกงประเทศโดยเฉพาะขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ “นิด้าโพล” สำรวจ แต่ไม่ได้ผลอะไรเลย

ความเชื่อถือของประชาชนต่อหน่วยงานเหล่านี้มีน้อยมาก จนหากจะพูดว่า “ไม่ต้องตั้งขึ้นมาก็ได้” คงมีคนจำนวนไม่น้อยเห็นดีเห็นงามด้วย

เมื่อหน่วยงานหนึ่งทำงานไม่ได้ผล ก็ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมทำหน้าที่ซ้ำซ้อน ตั้งเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยหน่วยงานที่ไม่ได้รับความเชื่อถือนั้นก็ยังอยู่

สูญเสียงบประมาณไปมากมายกับการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผลแบบนี้

เหมือนกับว่า การตั้งหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนเพื่อมาแก้ปัญหาทุจริตนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นเสียเอง

แต่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงให้ดีขึ้น

เราคุ้นชินกับการเห็นความล้มเหลวเรื่องการปราบปรามการทุจริตเป็นว่าเป็นเรื่อง “ปกติธรรมดา”