กระแสปฏิรูปตำรวจ จะหายไปในสายลม อีกครั้ง?

นานนักแล้วที่ประชาชนยุ่งยากลำบากใจเมื่อมีความจำเป็นต้องไปโรงพัก แต่เสียงประชาชนไม่ดัง พักเดียวเสียงนั้นก็หายไปในสายลม บ่อยครั้งที่การไปแจ้งความร้องทุกข์ที่โรงพักนั้นจะต้องขวนขวายหาผู้มีบารมีช่วยฝากฝังด้วยความหวังว่าจะได้รับบริการที่ดี ได้รับความยุติธรรม หรือกระทั่งบางรายหวังจะได้ใช้ “อภิสิทธิ์” เหนือคู่กรณี

โรงพักเป็นแบบนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ตำรวจรุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่ง 1 ในงานที่ถูกต่อว่าต่อขานมากที่สุดคือ งานสอบสวน

วันนี้ถึงขั้นใช้คำว่า “วิกฤตการณ์งานสอบสวน” อีกแล้ว

แต่ทุกคนต้องไม่ลืมว่า กว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะก้าวไปจนถึงจุดที่เรียกว่า “วิกฤต” นั้นไม่ใช่ความธรรมดา หากแต่จะต้องเป็น “ความผิดพลาดซ้ำๆ” เป็นความแย่ๆ หรือสั่งสมความชั่วร้ายสารพัดมายาวนานพอสมควร

“งานสอบสวน” ของตำรวจถูกเปรียบเปรยให้เป็น “ต้นธารของกระบวนการยุติธรรม”!

น่าสงสัยหรือไม่ว่า บริหารกิจการกันอย่างไร งานสอบสวนถึงได้เข้าขั้น “วิกฤต”

แล้วถ้า “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรมวิกฤตเสียแล้ว ลำดับชั้นถัดไปจะเป็นเช่นไร

 

เมื่อมีคดีเกิดขึ้น ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 130 บัญญัติว่า

“ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วย”

เจตนารมณ์ที่บัญญัติว่า “โดยมิชักช้า” นั้นก็เพราะความชักช้าสามารถก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม เช่น ผู้เสียหายถูกข่มขู่คุกคาม ถูกฆ่า หรือพยานหลักฐานถูกทำลาย ถูกทำให้บิดเบือนไป หรือผู้กระทำความผิดหลบหนี ฯลฯ

หลักแห่งความรวดเร็วนี้จึงเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน

หากแต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ เปิดเผยว่า โรงพัก 1,400 แห่งขาดแคลนพนักงานสอบสวนอย่างหนัก บางที่ประชาชนไปแจ้งความแล้วไม่เจอตำรวจ กลายเป็นโรงพักร้าง

นั่นโคม่ายิ่งกว่าคำว่า “ชักช้า”!

 

ข้อเท็จจริงด้านกำลังพลตำรวจชี้ชัด

ปัจจุบันมีอัตราพนักงานสอบสวนอยู่ทั้งสิ้น 18,599 ตำแหน่ง แต่ปฏิบัติงานจริง 12,010 ตำแหน่ง

“เก้าอี้ว่าง” มีอยู่ถึง 6,589 ตำแหน่ง

“พนักงานสอบสวน” จึงมีไม่พอ ในขณะที่ “ป.วิอาญา” มาตรา 130 ว่า ให้เริ่มสอบสวนทันที “โดยมิชักช้า”

แล้วถ้าไปดู “ป.วิอาญา” มาตรา 131 ก็จะพบกับความบัญญัติที่เรียกร้องด้าน “ประสิทธิภาพ” หนักเข้าไปอีกว่า

“ให้พนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”

ข้อนี้ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนตั้งมั่นอยู่ใน “หลักการตรวจสอบความจริง” ด้วยความยุติธรรม ทั้งในแง่การหาตัวผู้กระทำผิด การพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือแม้แต่ “ความไม่ผิด” ของผู้ถูกกล่าวหา

งานสอบสวนของตำรวจจึงเป็นไปทั้งเพื่อการปกป้องสังคม คุ้มครองสุจริตชน และคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เพราะยังไม่แน่ว่า “ผู้ถูกกล่าวหา” นั้นจะใช่คนเดียวกันกับ “ผู้กระทำความผิด” หรือไม่

บทบัญญัตินี้ของกฎหมายจึงมีลักษณะ “เสรีนิยม”

และ “ความเป็นเสรีนิยม” นั้นก็ควรจะต้องถูกสอนและปลูกฝังให้กลายเป็น “สปิริต” ของตำรวจ สังคมจึงได้ตำรวจที่เหมาะกับ “ประเทศเสรีประชาธิปไตย” ทำหน้าที่เป็น “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม เป็นตำรวจที่เข้าใจในหลักการแบ่งแยกอำนาจ “นิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ” เข้าใจใน “ขอบเขต” อันจำกัดของอำนาจทุกชนิด เข้าใจหลักการถ่วงดุลและถูกตรวจสอบได้ ทั้งมีความเข้าใจในแนวคิดพื้นฐานสังคมประชาธิปไตย ที่เคารพสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของพลเมือง

หากแต่ที่ผ่านมา องค์กรตำรวจถูกนำพาไปผิดทิศผิดทาง เห็นผิดเป็นชอบ จนกระทั่งเป็นความเชื่อสืบทอดมาจวบจนปัจจุบัน

นั่นคือ ตำรวจเป็นแค่ “เครื่องมือ” ของผู้มีอำนาจ!

 

ตั้งแต่สมัย “เผ่า ศรียานนท์” ได้เงินจากสหรัฐอเมริกามาสร้าง “รัฐตำรวจ” เทียบเคียงทุกเหล่าทัพโดยเฉพาะกองทัพบกที่มี “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” เป็นผู้นำ ตำรวจยุคนั้นถูกปลุกให้เชื่อว่า “ไม่มีอะไรใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้”

มีตำรวจฆ่าผู้บังคับบัญชา ค้าฝิ่น ก่ออาชญากรรม สังหารหมู่นักการเมือง อุ้มหาย!

ในมุมมองของ “เผ่า” ตำรวจไม่ใช่ “วิชาชีพ” ตามแบบฉบับสากล ไม่โฟกัสที่การอำนวยความยุติธรรม แต่เป็น “กองกำลัง” รับใช้นายทั้งในทางส่วนตัวและสายบังคับบัญชา

“ตะกอนความคิด” ที่นิยมอำนาจนี้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน!

เกิดเป็นทัศนคติที่เห็นว่า งานอำนวยความยุติธรรม การรักษาความสงบเรียบร้อย บริการประชาชน ไม่ใช่งานที่จะทำให้ชีวิตราชการเจริญก้าวหน้า

ตำรวจคุ้นชินกับการเป็น “เครื่องมือ” ของผู้มีอำนาจทางการเมือง

จริงอยู่ที่ประเทศไทยเป็นเสรีนิยม ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

แต่ประเทศไทยมีรัฐประหารเฉลี่ย 6 ต่อ 1 ครั้ง

“ผู้นำทางการเมือง” ที่มาจากทหารบกจึงกลายเป็นผู้ครอง “อำนาจการเมือง” ยาวนานที่สุด

ผู้นำตำรวจไม่ได้ให้ความสนใจกิจการในองค์กรของตัวเองตามที่ควรจะเป็น

งานด้านต่างๆ ถูกปล่อยปละละเลย สั่งสมความผิดพลาด ความแย่ๆ และความเลวร้ายนานหลายสิบปีจนถึงขั้น “วิกฤต”

 

จะว่าไปแล้ว ถ้าเจาะลึกลงไปจริงๆ ไม่เฉพาะ “งานสอบสวน” เท่านั้นที่วิกฤติ

ภาพรวมทั้งหมดของตำรวจคือวิกฤตการณ์!!!

บ่อยครั้งมักได้รับคำอธิบายว่า “ตำรวจต้นทุนต่ำ”

ตำรวจเป็น “บุคลากรพิเศษ” เป็นผู้มีการศึกษาพิเศษ มีการฝึกฝนอบรมเป็นพิเศษ เพื่อให้ทำหน้าที่ “พิเศษ” ตามกฎหมายบัญญัติและสังคมคาดหวัง

ถามว่า จู่ๆ “บุคลากรพิเศษ” ที่ถูกบรรจงสร้างนี้จะมี “ต้นทุนต่ำ” ไปได้อย่างไร

ถ้าทุกคนยังจำได้ “การปฏิรูปตำรวจ” เคยพูดกันมาไม่น้อยกว่า 30 ปี จุดมุ่งหมายก็เพื่อทำให้องค์กรตำรวจเป็นตำรวจตามที่กฎหมายบัญญัติและสังคมคาดหวัง

แต่ล้มทุกที!

ความขาดแคลนในทุกด้านของตำรวจ ความไม่สมประกอบ หรือเรื่องแย่ๆ ทั้งหลายในทุกวันนี้จึงเปรียบเสมือนส่วนที่อยู่ปลายสุดของรากฝอยแห่งปัญหา

วิกฤตตำรวจจะคงดำรงอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่ยังไม่มี “การปฏิรูปตำรวจ” ให้ถูกทาง!?!!!