คิม กอร์ดอน กับการนำดนตรีมาทำงานศิลปะแนว Collage ผ่านอัลบั้มเดี่ยวชุดใหม่ The Collective

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

 

คิม กอร์ดอน

กับการนำดนตรีมาทำงานศิลปะแนว Collage

ผ่านอัลบั้มเดี่ยวชุดใหม่ The Collective

 

Sonic Youth วงร็อกระดับตำนานจากมหานครนิวยอร์กถือเป็นวงดนตรีวงแรกๆในประวัติศาสตร์ดนตรีอเมริกันร็อกที่นำดนตรีวัฒนธรรมพังก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาร์ตพังก์ในแบบวง Television, The Stooges, The Velvet Underground, แฟรงค์ แซปปา ไปจนถึง เดวิด โบวี มาผสมผสานกับดนตรี นิวยอร์ก ฮาร์ดคอร์ , อินดัสเทรียล (แนวดนตรีที่ใช้ซินธิไซเซอร์ที่ผลิตซาวด์ให้ออกมาเหมือนเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม) ไปจนถึงดนตรี เอ็กซ์ตรีม เมทัล (เธิร์สตัน มัวร์ มือกีตาร์วง Sonic Youth เคยเป็นสมาชิกวง แบล็ค เมทัล ระดัลซูเปอร์กรุ๊ปอย่าง Twilight มาแล้ว)

การปฏิสนธิของดนตรีร็อกทางเลือกเหล่านี้ก่อให้เกิดดนตรี นอยซ์ ร็อก (Noise Rock) ที่ต้องใช้เวลาฟูมฟักอยู่ในครรภ์มารดานานพอสมควร

เนื่องจาก นอยซ์ ร็อก เป็นแนวดนตรีที่ยากจะจำกัดหมวดหมู่ ถึงแม้ว่ารากฐานของมันคือวัฒนธรรมพังก์ที่ไม่แยแสต่อกระแสสังคมเลย

ส่วนซาวด์อันเป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงกีตาร์ไฟฟ้าที่เล่นผ่านเอฟเฟ็กต์ดิสทรอชั่นสุดแตกพร่าจนฟังไม่ได้ศัพท์ก็ได้สร้างคุณูประการที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อวงการเพลงร็อกทางเลือกในทศวรรษที่ 90

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวง Nirvana, My Bloody Valentine, Dinosuar Jr. ไปจนถึงวงอย่าง Pavement (โลไฟ, อินดี้ร็อก) และ Sigur R?s (โพสต์ร็อก)

 

นับได้ว่าจากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอนหลังจากที่ Sonic Youth ยุบวงไปในปี 2011 แนวดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ Sonic Youth ได้สร้างเอาไว้นั้นส่งอิทธิพลต่อวงดนตรีร็อกนอกกระแสยุคหลังๆอย่างประเมินค่าไม่ได้

เพราะถ้าหากไม่มีวงดนตรีวงนี้ เคิร์ท โคเบน ก็อาจจะไม่ได้ตั้งวง Nirvana ขึ้นมาก็ได้

ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าทิศทางดนตรีร็อกในยุคปัจจุบันจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ถ้าหากว่าโลกนี้ไม่มีอัลบั้มอย่าง Nevemind หรือว่า Loveless ของวง My Bloody Valentine ไปจนถึงวงโพสต์พังก์ที่ฟื้นคืนชีพกลับมาหลายวงในปัจจุบัน

เธิร์สตัน มัวร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่สร้างซาวด์กีตาร์ที่อยู่เหนือกระแสสำนึกได้อย่างน่าทึ่งไม่ต่างไปจากงานศิลปะแนวนามธรรม (Abstract) ของ แจ็คสัน พอลล็อก

ถ้าหากเปรียบเวทีคอนเสิร์ตเป็นเหมือนผืนผ้าใบ

มัวร์ก็ใช้เอฟเฟ็กต์กีตาร์นานาชนิดในการสำแดงอารมณ์ความรู้สึก ณ ขณะนั้นออกสู่ลำโพงไม่ต่างไปจากสรรพสีที่ พอลล็อค สาด, ละเลง, หยดและเทลงบนผืนผ้าใบ

 

สมาชิกอีกหนึ่งคนของวง Sonic Youth ที่สร้างคุณูประการให้กับวงการดนตรีร็อกทางเลือก (Alternative Rock) ไม่แพ้กันก็คือมือเบสหญิง คิม กอร์ดอน

คิม กอร์ดอน มีเสียงร้องในโทนคอนทราลโต (Contralto) ที่ต่ำและหนักแน่น คอนทราลโตเป็นเสียงร้องของผู้หญิงที่ต่ำที่สุดท่ามกลางโทนเสียงร้องทั้งหมดของดนตรีคลาสสิก เสียงที่ต่ำและลุ่มลึกของ คิม กอร์ดอน เข้ากันได้ดีกับดนตรีพังก์และได้รับการยกย่องจากทางสื่อดนตรีอิสระชื่อดังอย่าง Pitchfork ว่าเสียงร้องของเธอเปรียบเสมือนหนึ่งในเครื่องดนตรีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีโพสต์พังก์

คิม กอร์ดอน ได้ฝากเบสไลน์อันเป็นเอกลักษณ์เอาไว้ในเพลงของวง Sonic Youth หลายเพลง อาทิ Kool Thing, Dead Valley 69, Mildred Pierce, Silver Rocket และอีกมากมาย โดยหลังจากที่ Sonic Youth ยุบวงไปแล้ว คิม กอร์กอน ก็ผันตัวมาเป็นศิลปินเดี่ยวและเป็นทำวงไซด์โปรเจคท์อีก 3 วงด้วยกันคือ Free Kitten, Body/Head และ Glitterbust ซึ่งก็ยังคงเป็นวงในแนว นอยซ์ ร็อก

และ อินดี้ ร็อก อยู่ แต่งานเพลงในฐานะศิลปินเดี่ยวแล้ว คิม กอร์ดอน ได้นำดนตรีอินดัสเทรียล, อิเล็กทรอนิกส์ ร็อก ไปจนถึง อาร์ต พังก์ มาเป็นแกนหลักในการทำงานเพลง

นอกจาก นอยซ์ ร็อค แล้ว คิม กอร์ดอน ก็ยังชื่นชอบดนตรี โน เวฟ ด้วย โดยดนตรีแนวนี้เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีหัวก้าวหน้า (Avant-Garde Music) โน เวฟ เป็นดนตรีทางเลือกที่เป็นขบถต่อดนตรีกระแสหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีนิวเวฟ (นิวเวฟก็คือพังก์ร็อกในฟอร์มที่ป็อปขึ้นด้วยการผสมผสานดนตรีแนวซินธ์ป็อป, แด๊นซ์ และ ดิสโก้ อย่างเช่นวง Blondie)

โน เวฟ เป็นดนตรีที่ปฏิเสธความป็อป แต่ศิลปินจะเน้นการสร้างทำนองดนตรีที่สะท้อนความรู้สึกภายในออกมามากกว่าและให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ (Texture) ของซาวด์มากกว่าเมโลดีที่ติดหู ส่งผลให้ โน เวฟ เป็นดนตรีทดลองที่แทบจะไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ใดๆตามแบบฉบับของงานศิลปะนามธรรม

“ในมุมมองของฉัน ดนตรีก็เป็นเหมือนกับกระแสไฟฟ้า มันสร้างพลังงานที่ไหลไปข้างหน้าอย่างไร้ทิศทางและเป็นอิสระต่อทุกๆอย่าง” คิม กอร์ดอน เคยให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ gear4music เอาไว้ในปี 2022

 

หลังจากที่ปล่อยอัลบั้มเดี่ยวออกมา 2 ชุด No Hoe Record (2019) และ At Issue (2019 กับมือกีตาร์รุ่นใหญ่ ลอเรน คอนเนอร์) ล่าสุด คิม กอร์ดอน กลับมาอีกครั้งกับอัลบั้มเดี่ยวชุดที่ 3 ที่มีชื่อว่า The Collective ที่ค่าย Matador Records ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

งานเพลงชุดนี้ คิม กอร์ดอน ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายเรื่อง The Candy House ของนักเขียนหญิง เจนนิเฟอร์ อีแกน

The Collective ยังคงเป็นงานเพลงที่กล้าหาญอย่างยิ่งทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์และการนำเสนอ Bye Bye เพลงแรกของอัลบั้มเดินไปข้างหน้าด้วยบีทสุดล้ำก่อนจะเข้าสู่ช่วงแห่งการทำลายล้างด้วยดนตรี นอยซ์ ร็อก ที่อัดแน่นด้วยเสียงแตกพร่าของกีตาร์และเสียงกลองที่โหมกระหน่ำ

Bye Bye สร้างความประหลาดใจให้กับนักวิจารณ์ดนตรีอย่างมาก เพราะไม่มีใครนึกว่า คิม กอร์ดอน จะนำดนตรีแทร็ป (Trap) ซึ่งเป็นสไตล์ย่อยของดนตรีฮิปฮอปร่วมสมัยมาผสมผสานกับดนตรีนอยซ์ร็อกแบบนี้

และที่เหลือเชื่อมากกว่านั้นก็คือเพลงนี้กลายเป็นไวรัลใน TikTok ด้วย เพราะเหล่าผู้ใช้งาน TikTok ต่างก็พร้อมใจกันร้องเพลงตามและเก็บข้าวของเครื่องใช้ (ยานอนหลับ, สนีกเกอร์, รองเท้าบู้ทและอื่นๆ) ตามที่กล่าวถึงในเพลงๆนี้ใส่กระเป๋าและโพสต์ลง TikTok กันยกใหญ่

ดูเหมือนว่า คิม กอร์ดอน ที่พยายามออกแบบซาวด์ที่สั่นคลอนโสตประสาทและรวบกวนจิตใจต่อผู้ฟังให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเธอประสบความสำเร็จอย่างสวยสดงดงาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงอย่าง The Candy House, I Don’t Miss My Mind, I’m a Man, Psychedelic Orgasm, Tree House และ The Believers ที่เหมือนนำส่วนที่ดีที่สุดของวง Melvins (วงนอยซ์ร็อกและสโตนเนอร์ร็อก) วง NIN, Throbbing Gristle, Coil และ Killing Joke (วงอินดัสเทียลและโพสต์พังก์) มาเสกสรรให้เป็นงานเพลงทดลองของเธอเอง

 

เนื้อเพลงที่ คิม กอร์ดอน แต่งเป็นเหมือนงานศิลปะแนว Collage มากกว่าการเล่าเรื่อง ซึ่งเธอก็เห็นด้วย โดยศิลปินรุ่นใหญ่ที่ในตอนนี้อายุได้ 70 ปีแล้วได้ให้สัมภาษณ์กับทางเว็บไซต์ The Guardian เอาไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

“ฉันเป็นนักจดบันทึก เหมือนๆ กับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ นั่นแหละ ต่างกันตรงที่ฉันไม่แต่งเพลงเศร้า จริงอยู่ว่ามันอาจจะฟังดูเศร้าบ้างแต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ฉันเชื่อในพลังของงานเขียนและการแต่งเพลง เพียงแต่ว่ามันไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าออกมาเป็นเรื่องราวก็ได้”

ธรรมชาติของศิลปะแนว Collage ก็คือการนำวัสดุนานาชนิดมาตัดแปะเพื่อสร้างงาน Collage เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้งานศิลปะที่มีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์บนแพล็ตฟอร์ตที่แตกต่างกันออกไปเพื่อสร้างความหมายใหม่

เช่นเดียวกับ The Collective งานเพลงที่เป็นดั่งบทกวีของงานเพลงทดลองร่วมสมัยที่นำศิลปะแห่งสรรพเสียงมาตัดแปะเพื่อสร้างสไตล์ดนตรีที่แปลกใหม่ให้นักวิจารณ์เพลงคิดค้นชื่อแนวเพลงย่อย (Sub-Genre) ออกมา ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับดนตรีร็อกทดลองในอนาคตด้วย