ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นสงครามระดับภูมิภาคที่ร้ายแรงที่สุดในดินแดนทวีปยุโรปหลังสงครามเย็น จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา ก็ยืดเยื้อมาแล้วกว่าสองปี และดูเหมือนสถานการณ์จะเริ่มมีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น
นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษมติชนสุดสัปดาห์ประจำปีนี้อีกวาระหนึ่ง ถึงความขัดแย้งดังกล่าวที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ตลอดจนความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศไทยในปัจจุบัน
“ก่อนอื่น ผมต้องขอย้ำเตือนอีกครั้งว่า ความขัดแย้งนี้มิใช่ระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่นี่คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับสิ่งที่เรียกว่า ‘กลุ่มตะวันตก’ ในดินแดนยูเครน โดยระบอบการปกครองของเคียฟทำหน้าที่เป็นเพียงตัวแทน”
“ตามเป้าหมายของปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครนที่เริ่มต้นเมื่อสองปีที่แล้ว กองทัพรัสเซียจะยังคงปกป้องภูมิภาคดอนบัส (Donbass) โดยการปลดอาวุธยูเครนอย่างถอนรากถอนโคน เป็นการขจัดภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซียที่มาจากดินแดนของยูเครน”
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ยูเครนได้อาวุธจากภายนอก ยุติและสกัดการคุกคามของอำนาจตะวันตกในนามนาโตที่มีต่อความเป็นบูรณภาพของรัสเซีย
“นับเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะมีการกำหนดเป้าหมายไปยังหมู่บ้านและเมืองอันเงียบสงบในภูมิภาคดอนบัส (Donbass), ลูฮานสค์ (Luhansk), แคว้นซาปอริซเซีย (Zaporizhia) และเคอร์ซอน (Kherson) รวมถึงพื้นที่ที่ไม่ใช่สมรภูมิ แต่ถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่ลำกล้องขนาดใหญ่ ระยะยิงไกล และระเบิดลูกปราย จากการจัดหาโดยประเทศตะวันตก”
“ซึ่งทั้งหมดนี้ เราถือเป็นอาชญากรรมสงครามซึ่งกระทำโดยกองทัพยูเครน”
“การกระทำของ ‘กลุ่มชาติตะวันตก’ และระบอบการปกครองของเคียฟที่ภักดีต่อพวกเขา ยืนยันถึงลักษณะของการเผชิญหน้าระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน”
“เราไม่ได้ต่อสู้กับเคียฟ แต่กับกลุ่มอุตสาหกรรมทหารนาโต-ยูเครน ยูเครนเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่อยู่ในมือของสหรัฐ และชาติพันธมิตรนาโต โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือ ชัยชนะทางยุทธศาสตร์เหนือรัสเซียในสนามรบ”
“ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นั่นคือ การทำลายสถาปัตยกรรมความมั่นคงในพื้นที่ของรัฐหลังสหภาพโซเวียตและยูเรเซียโดยรวม”
“ในทันทีหลังเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหาร เคียฟขอให้มีการเจรจา ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2022 หลังจากนั้นก็ปฏิเสธที่จะเปิดการเจรจาอีกครั้ง ดังที่หัวหน้าคณะเจรจาของยูเครนเปิดเผยในเวลาต่อมา เมื่อใกล้จะได้ข้อสรุป เนื่องจากนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดินทางเยือนกรุงเคียฟ และเรียกร้องประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ไม่ให้ลงนามในข้อตกลงใดๆ และให้ต่อสู้กับรัสเซียต่อไป”
“นอกจากนี้ เคียฟยังปฏิเสธแนวคิดเรื่องการเจรจากับรัสเซียโดยสิ้นเชิง โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2022 ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ได้ลงนามในกฤษฎีกาซึ่งระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเจรจากับผู้นำรัสเซีย”
“ในขณะที่รัสเซียยังคงพร้อมที่จะมีการเจรจารอบใหม่เพื่อยุติวิกฤตยูเครน แต่เป็นเคียฟที่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมสำหรับการเจรจาดังกล่าว” เอกอัครราชทูตโทมิคิน กล่าว
“แทนที่จะเป็นเซเลนสกี และเจ้านายชาติตะวันตกของเขาจะส่งเสริมในสิ่งที่เรียกกันว่า ‘สูตรสันติภาพ’ แต่ในความเป็นจริง แนวคิดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับแนวทางไปสู่สันติภาพในยูเครน หากแต่เป็นคำขาดต่อรัสเซียที่อยู่เหนือตรรกะใดๆ อย่างไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงบน ‘ภาคพื้นดิน’ โดยพวกเขายังคงอยู่ในโลกแห่งภาพลวงตาต่อไป”
แต่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ระบุว่า ยูเครนจะไม่ยอมเข้าร่วมการเจรจา จนกว่ารัสเซียจะถอนกำลังพลทั้งหมดของตนออกจากพื้นที่ของยูเครนที่ยึดครองไว้อยู่ก่อน ส่วน รมว.ต่างประเทศยูเครนกล่าวว่า ยูเครนและรัสเซียนั่งหารือกันถึง 200 รอบ ระหว่างปี 2014 และ 2022 ที่นำมาซึ่งข้อตกลงหยุดยิง 20 ฉบับ แต่ก็ไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่ทำให้รัสเซียไม่ทำการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบได้เลย
สันติภาพจึงเลือนราง เพราะสงครามนี้ยังไม่มีวี่แววที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น และเมื่อประธานาธิบดีปูตินให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อสหรัฐชื่อดัง นายทักเกอร์ คาร์ลสัน ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ก็จะเห็นได้ว่าปูตินมีความสนใจใช้แนวทางการเจรจา แต่เงื่อนไขของรัสเซียอาจมากเกินไปจนยูเครนไม่ยอมรับการเจรจาดังกล่าว
ในขณะที่ยังมีความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ เช่น ในภูมิภาคตะวันออกกลาง, จีนและไต้หวัน, สงครามกลางเมืองในเมียนมา เป็นต้น
นับเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ไทยและรัสเซีย มีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ร่วมกันโดยไม่มีข้อผูกมัด และไม่มีข้อพิพาททางการเมืองใดๆ จากการเคารพในวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และเป้าหมายการพัฒนาของกันและกัน ในหลากหลายด้านที่จะช่วยพัฒนาปฏิสัมพันธ์กันต่อไป
ไทยและรัสเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 1897 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสรัสเซียอย่างเป็นทางการ
ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-รัสเซียปีนี้เวียนมาบรรจบครบรอบ 127 ปี เป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานที่สุดของรัสเซียกับประเทศในอาเซียน และคนรัสเซียเองก็คุ้นเคยกับไทยไม่น้อย
ในระหว่างดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2018 เอกอัครราชทูตโทมิคินเล่าว่าได้ดำเนินการเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกมิติ
“อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าการปฏิสัมพันธ์ในระดับสูงของเราบ่งชี้ถึงคุณภาพความสัมพันธ์รัสเซีย-ไทยที่มั่นคง ไว้วางใจ และให้ความเคารพ ซึ่งสามารถต้านทานความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ ซึ่งผมมีความยินดีที่ได้มาเล่าถึงความสัมพันธ์รัสเซีย-ไทยที่ประสบความสำเร็จหลายประการ”
“รัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก-2019 และการประชุมสุดยอดเอเปค-2022 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วในกรุงปักกิ่ง”
“ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้พบกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศของเรายังได้ร่วมประชุมกันเป็นประจำ”
“เราจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมรัสเซีย-ไทยว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ตลอดจนคณะอนุกรรมาธิการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ซึ่งการหารือประสบผลสำเร็จและส่งเสริมความสัมพันธ์ของเราในหลายด้าน”
“และไม่ต้องสงสัยเลยว่า เราได้จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรม กีฬา และการศึกษามากมายในทั้งสองประเทศ อีกทั้งมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย 1.5 ล้านคนมาเยือนประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว”
ความร่วมมือทวิภาคีที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคี
“ความสัมพันธ์ของเราประสบความสำเร็จอย่างมาก ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง ได้แก่ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ขอบเขตทางกฎหมาย ความร่วมมือทางทหาร เกษตรกรรม และอื่นๆ ที่สำคัญ คือการเจรจาทางการเมืองที่สร้างสรรค์ระหว่างประเทศของเรา”
“แน่นอนว่า ยังมีความร่วมมืออีกหลายด้านที่เต็มไปด้วยศักยภาพที่ต้องพัฒนาต่อไป เช่น การค้าและการลงทุน, พลังงาน, เทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ, การเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน, ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ, เทคโนโลยีการสื่อสาร, การสื่อสารมวลชน, เทคโนโลยีอวกาศ, วิทยาศาสตร์การเกษตร, ความคิดสร้างสรรค์, อุตสาหกรรมโลจิสติกส์, สิ่งแวดล้อม, สุขภาพและเวชศาสตร์นิวเคลียร์, ความร่วมมือทางอุตสาหกรรม, ปัญหาด้านความปลอดภัย ฯลฯ”
“แน่นอนว่า เรากำลังรอคอยความสำเร็จร่วมกันที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนของเรา” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022