ภัตตาคารชายทะเลจันทร์เพ็ญ

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพจาก : ภัตตาคารจันทร์เพ็ญ - Chandrphen Restaurant

ในขณะที่คนรุ่นเจนฝรั่ง ดูจะนิยมชมชอบไก่ทอดผู้พันอเมริกัน และไก่ทอดเกาหลี คนรุ่นก่อนเก่าก็ยังนิยมไก่ย่างเขาสวนกวาง และไก่ย่างวิเชียรบุรี

แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ คงมีคนถวิลหา ไก่ย่างของภัตตาคารชายทะเลจันทร์เพ็ญ ร้านอาหารเก่าแก่ อายุเจ็ดสิบแปดสิบปี

ไก่ย่างจันทร์เพ็ญ เริ่มมาจากเพิงย่างไก่ หน้าโรงงานน้ำส้มสายชู ริมถนนพระรามที่ 4 สมัยที่ยังมีคลองตรง เชฟชื่อ จันทร์ ผู้เป็นภริยาของผู้จัดการโรงงาน เห็นเป็นโอกาสจึงเริ่มธุรกิจ SMEs เมื่อปี พ.ศ.2491

จากเพิง กลายเป็นร้านอาหารเล็กๆ ที่มีลูกค้าประจำคือ คนทำงานในโรงงาน ยังมีชาวบ้านแถวนั้น และผู้ที่เดินทางผ่านแวะเวียนมา ด้วยรสชาติอาหารถูกปาก

หลายปีต่อมา เจ้าของโรงงานน้ำส้มสายชู เลิกกิจการ ผู้จัดการจึงสานต่อ ปรับเป็นร้านอาหาร คือ ภัตตาคารชายทะเลจันทร์เพ็ญ (2496)

โดยคำว่าชายทะเลนั้น มาจากยี่ห้อน้ำส้มสายชู แต่ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ชานเมืองทางไปปากน้ำ ทำให้เข้าใจว่าเป็นร้านขายอาหารชายทะเล ทั้งๆ ที่เมนูยอดนิยมคือไก่ย่าง

 

เมื่อพื้นที่ใกล้เคียงเปลี่ยนแปลงไป เริ่มจากการถมคลองตรง ขยายผิวจราจร เป็นถนนพระรามที่ 4 อย่างที่เห็นในปัจจุบัน การโยกย้ายโรงเรียนเตรียมทหาร (2504) จากโรงเรียนนายร้อย จปร.เดิมอยู่ที่ถนนราชดำเนิน มาอยู่ตรงข้าม ยังมีการเปิดสนามมวยลุมพินี (2499) ของกรมสวัสดิการทหารบก ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เคยจัดรายการมวยสากล ที่ โผน กิ่งเพชร ชนะเป็นแชมป์โลก จนเป็นสนามมวยคู่แฝดกับสนามมวยราชดำเนิน ที่ต้องสลับวันจัดรายการ

ส่งผลให้กิจการภัตตาคารคึกคักมากขึ้น จนได้รับตราครุฑพระราชทานในปี พ.ศ.2506 ต่อมาเมื่อย้ายโรงงานน้ำส้มสายชูออกไปที่รามอินทรา (ปัจจุบันคือ ภัตตาคารจันทร์เพ็ญสอง) มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หลายชั้น เพื่อรองรับผู้คน รวมทั้งงานเลี้ยง มาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าคลองตรงจะถูกถม โรงงานน้ำส้มสายชูจะหายไป โรงเรียนเตรียมทหารลุมพินี จะย้ายไปอยู่ที่นครนายก และสนามมวยจะย้ายไปอยู่รามอินทรา

แต่ภัตตาคารชายทะเลจันทร์เพ็ญยังคงอยู่ มีผู้คนแวะเวียนไปกินไก่ย่างและอาหารอร่อยรายการอื่น และจะอยู่ต่อไปท่ามกลางโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น วันแบงคอก โรงแรมเซนเตอร์ พอยต์ และอาคารสำนักงาน Q House รวมทั้งสถานีรถไฟใต้ดินลุมพินี

ภัตตาคาร (โรงงานน้ำส้มสายชู) ชายทะเล (จันทร์) เพ็ญ (ชลวิบูลย์) แม้จะเป็นสถาปัตยกรรมธรรมดา Ordinary Architecture แต่ก็เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของกรุงเทพมหานคร •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส