ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลไทยกับรัฐประหาร (3)

AFP PHOTO

การฟ้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ก่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ไม่ได้มีเพียงกรณีเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร เท่านั้น ยังมีการฟ้องอีกครั้งหนึ่งซึ่งศาลให้เหตุผลแตกต่างไปจากครั้งแรก

ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ นายอานนท์ นำภา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และพวกรวม 15 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นคณะ คสช. ประกอบด้วย พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็นจำเลยที่ 1-5

ในความผิดฐานเป็นกบฏล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรโดยใช้กำลังประทุษร้าย และกระทำการสะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และ 114

โจทก์ทั้ง 15 คนบรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2557 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้าย และล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช. หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และสื่อมวลชน

ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คน ได้รับความเสียหาย

ศาลชั้นต้นตัดสินในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยให้เหตุผลว่า แม้การเข้ายึดและการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของจำเลยทั้งห้ากับพวกในนาม คสช. ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 ฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 โดยบัญญัติการละเว้นความผิดและความรับผิดไว้ในมาตรา 48 ว่า บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น

การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง จึงพ้นจากความผิด และความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 ฉบับชั่วคราว มาตรา 48 คดีของโจทก์ทั้งสิบห้าจึงไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง

จะเห็นได้ว่า กรณีนี้ศาลให้เหตุผลแตกต่างจากกรณีเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ฟ้อง เนื่องจากว่า เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ฟ้องในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 และศาลได้ตัดสินในวันเดียวกัน ซึ่งในเวลานั้น ยังไม่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวและยังไม่มีการกำหนดบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหาร ศาลจึงต้องหยิบยกเหตุผลเทคนิคขึ้นมาใช้แทนว่าเรืออากาศตรีฉลาดไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องได้ ส่วนกรณีหลังนั้น มีบทบัญญัตินิรโทษกรรมคณะรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว

ต่อมา โจทก์ทั้ง 15 คนได้อุทธรณ์ โดยโต้แย้งว่า กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บัญญัติมาตรา 47 และ 48 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับการทำรัฐประหารและการกระทำในรูปแบบต่างๆ นั้น เป็นการผิดระบอบประชาธิปไตย และละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายจะต้องมีสภาพเป็นข้อความคิดที่เชื่อมโยงและใช้ความยุติธรรม หรือเกิดขึ้นโดยปราศจากความยุติธรรมทางจิตวิญญาณ ความปรารถนาของสังคม จึงไม่สามารถอ้างมาตรา 47 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเป็นเหตุยกเว้นความผิดได้

ศาลอุทธรณ์ตัดสินในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีความเห็นเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่า ส่วนปัญหาที่ว่ามาตรา 48 ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตยหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นคนละส่วนที่ต้องพิจารณาแยกกันออกจากเนื้อหาในคำร้องนี้

จึงเห็นสมควรให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

หากพิจารณาตามประวัติศาสตร์การรัฐประหารในประเทศไทยแล้ว มีบุคคลผู้กล้าหาญฟ้องคณะรัฐประหารในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 รวมสี่ครั้ง ได้แก่ รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 ครั้งหนึ่ง รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อีกครั้งหนึ่ง และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อีกสองครั้ง ซึ่งทั้งสี่ครั้งนี้ ศาลยกฟ้องทั้งหมด

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า ชุดเหตุผลของศาลที่ใช้อธิบายการไม่รับฟ้องกรณีความผิดฐานกบฏจากการรัฐประหารมีอยู่ 2 ประการ

ประการแรก
ในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี หากยังไม่มีการกำหนดบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารและการก่อรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ศาลก็จะไม่รับฟ้องโดยอาศัยเหตุผลทางเทคนิคว่า ผู้ฟ้องคดีหรือโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง

ดังเช่น กรณีการฟ้องคณะรัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514 และการฟ้องคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร

ประการที่สอง
ในกรณีที่มีบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารและการก่อรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว ศาลก็จะนำบทบัญญัตินิรโทษกรรมนั้นมาใช้สนับสนุนการยกฟ้องว่า การกระทำทั้งหลายในการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองนั้น ให้ถือว่าผู้กระทำการดังกล่าวพ้นจากความผิดและความรับผิดอย่างสิ้นเชิง

ดังเช่น กรณีการฟ้องคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการฟ้องคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ภายหลังจากมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่า “เนติบริกร” ของคณะรัฐประหารจะกำหนดบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่คณะรัฐประหารไว้หรือไม่ แต่ศาลก็สามารถหาช่องทางยกฟ้องโดยไม่ต้องพิจารณาลงไปในเนื้อหาของคดีว่า การรัฐประหารมีความผิดหรือไม่ และต้องได้รับโทษหรือไม่ เพียงใด

แนวทางการตัดสินของศาลไทยเช่นนี้ ส่งผลให้ความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ก็ดี

การกำหนดให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดก็ดี

การกำหนดให้บุคคลมีสิทธิในการต่อต้านรัฐประหารก็ดี เป็นเพียงตัวอักษรบนกระดาษที่ไม่มีโอกาสได้นำมาใช้ให้เกิดผลได้จริงเลย

ในตอนหน้า จะมาพิจารณาถึงคำพิพากษาในคดีที่มีประเด็นต้องพิจารณาถึงสถานะของการรัฐประหาร ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหาร