เส้นเขตแดนทะเลไทย-กัมพูชา : ปัญหาและความท้าทาย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ตราบเท่าที่ประเทศยังคงมีเส้นเขตแดนของตนเองอยู่ในโลกแล้ว ตราบนั้นลัทธิชาตินิยมจะดำรงอยู่เป็นคุณธรรมสูงสุด”

Abhaidev (นามปากกา)
The Influencer : Speed Must Have a Limit (2021)

 

หลังจากการก่อกระแสชาตินิยมของกลุ่มขวาจัดในการชุมนุมที่สะพานมัฆวานเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาในกรณีประสาทพระวิหารในปี 2551 และนำไปสู่ความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาในเวลาต่อมา

ความขัดแย้งทางทหารที่เกิดในครั้งนั้นกลายเป็นช่องทางอย่างดีให้ทางฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาเรียกร้องที่จะขอนำคำตัดสินเดิม “กรณีพระวิหาร” ในปี 2505 กลับเข้าสู่ศาลโลกอีกครั้ง เพื่อขอให้ศาลมีคำชี้แจงถึงแนวเส้นเขตแดนจากคำตัดสินในปี 2505… กลุ่มขวาจัดไทยจะเข้าใจหรือไม่ว่า การต้องกลับสู่ศาลโลกในภาวะเช่นนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของไทยทั้งในทางการเมืองและกฎหมาย

การต้องกลับเข้าสู่ศาลโลกในปี 2554 ต้องถือว่าเป็น “ความเสียหายทางการเมือง” ของไทย เพราะถ้าชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มขวาจัดในขณะนั้น อ่านคำตัดสินของศาลโลกในปี 2505 แล้ว จะเห็นได้ถึงข้อเสียเปรียบที่เกิดขึ้น และข้อเสียเปรียบดังกล่าวย่อมไม่เป็นผลดีต่อการต้องกลับไปขึ้นศาลที่กรุงเฮกอีกแต่อย่างใด คงต้องยอมรับว่าการชี้ของศาลโลกในครั้งนี้กระทบโดยตรงต่อไทย และผลกระทบเช่นนี้ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ต่อไทยแต่อย่างใด ซึ่งหนังสือที่เป็นคำตัดสินของศาลโลกปี 2505 มีเป็นฉบับแปลเป็นภาษาไทย ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และแกนนำที่สะพานมัฆวานจะบอกว่าไม่เคยเห็น ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ เว้นแต่ไม่ต้องการรับรู้ และเป็นการสร้างกระแส จนพาประเทศไปติด “กับดักกฎหมาย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องของกลุ่มขวาจัดที่สะพานมัฆวานเช่นนี้ ยังขยายไปสู่ข้อเรียกร้องที่สำคัญอีกประการคือ ให้รัฐบาลไทยประกาศยกเลิก “บันทึกช่วยจำ 2544” หรือ “MOU 2001” ซึ่งเป็นบันทึกช่วยจำว่าด้วย “พื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน”

 

ข้อสังเกตเบื้องต้น

ทุกครั้งที่ต้องกล่าวถึง “เส้นเขตแดนทางทะเล” ผมจะเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งเป็นพื้นฐานว่า เส้นเขตแดนทางบกยุ่งยากมากเท่าใด เส้นเขตแดนทางทะเลยุ่งยากมากกว่าหลายเท่า… เส้นเขตแดนทางบกซับซ้อนมากเท่าใด เส้นเขตแดนทางทะเลซับซ้อนมากกว่าหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความรู้เรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลนั้น อยู่ในแวดวงจำกัดอย่างมาก และอาจจะต้องยอมรับในอีกด้านว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำความเข้าใจเรื่องเช่นนี้กับสังคมในวงกว้างด้วย

ดังนั้น เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณจากกลุ่มปีกขวาจัดไทยออกมาเรียกร้องในทำนองให้ยกเลิก “บันทึกช่วยจำ 2544” ซึ่งเป็นความตกลงต่อการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลที่เป็นไหล่ทวีป… สังเกตไหมครับว่า เพียงแค่ตัวภาษาที่ใช้ในการกล่าวถึงพื้นที่เช่นนี้ ก็เป็นความซับซ้อนในตัวเองอย่างมาก และดังที่กล่าวแล้วว่า ไม่ง่ายเลยในการสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน

ความยุ่งยากและความซับซ้อนของปัญหาเช่นนี้ จึงอาจกลายเป็น “โอกาสทอง” อย่างดีที่ปีกขวาจัดไทยจะใช้ในการปลุกระดมก่อกระแสชาตินิยมอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาเคยทำสำเร็จมาแล้วในปัญหาของเส้นเขตแดนทางบกที่บริเวณประสาทพระวิหารในปี 2551 จนกลายเป็น “วิกฤตการณ์ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” ในช่วงเวลาดังกล่าว

แน่นอนว่าเราอาจต้องยอมรับ “ความจริงในด้านลบ” ของสังคมไทยในอีกด้านว่า ประเด็น “วาทกรรมเสียดินแดน” ในกระแสชาตินิยมไทยนั้น ขายได้ง่ายในสังคมที่ความรู้สึก “ไม่ชอบ” ประเทศเพื่อนบ้านถูกสร้างขึ้นให้เป็นทัศนคติแบบพื้นฐานมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาจัด ทั้งยังมีการประกอบสร้าง “ทัศนคติเชิงดูถูก” ต่อผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งก็ยิ่งทำให้กระแสชาตินิยมที่มีเพื่อนบ้านเป็น “เป้าหมายความเกลียดชัง” สามารถปลุกได้ง่ายขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ การปลุกระดมยังทำได้ง่ายมากขึ้น เมื่อสังคมปฏิเสธและไม่ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งในทางกฎหมายและประวัติศาสตร์ เช่น ไม่รับรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นจากคำตัดสินของ “ศาลโลก” ในปี 2505 ซึ่งการยอมรับคำตัดสินในครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องกำหนดเส้นเขตแดนขึ้นในบริเวณพื้นที่รอบตัว “ปราสาทพระวิหาร” หรือที่เรียกกันว่า “เส้นเขตแดนตามมติ ครม. ปี 2505”

การกำหนดเช่นนี้มีนัยที่ชัดเจนทั้งในทางการเมืองและทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า “คดีปราสาทพระวิหาร” ได้สิ้นสุดลงแล้ว จนอาจจะต้องยอมรับว่าเป็นการจบลงอย่างสมบูรณ์แล้วด้วย แม้รัฐบาลไทยในยุคนั้นจะขอสงวนสิทธิในการอุทธรณ์ แต่ไทยไม่เคยมีการใช้สิทธิเช่นนี้ และสิทธินี้มิได้อยู่ไปตลอดกาลอย่างไม่มีข้อกำหนดเรื่องเวลา แต่ชนชั้นนำ ผู้นำทหารบางส่วน และกลุ่มขวาจัดบางกลุ่ม อาจจะคงอยู่กับ “จินตนาการชาตินิยมเดิม” ที่เชื่อในแบบ “คิดเอาเอง” ว่าไทยจะได้กลับมาเป็นผู้ครอบครองพระวิหารอีกในอนาคต

ทั้งที่คดีการฟ้องร้องของประเทศทั้งสองได้จบลงไปหมดแล้ว และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปราสาทพระวิหารโดยคำตัดสินของศาลโลกเป็นของกัมพูชา ไม่มีทางเป็นอื่นแต่อย่างใด

 

กระแสชาตินิยมขวาจัด

อย่างไรก็ตาม การก่อ “กระแสชาตินิยมขวาจัด” ในปี 2551 และขยายตัวเป็นสถานการณ์การสู้รบในปี 2554 ได้กลายเป็นเงื่อนไขอย่างดีให้กัมพูชานำเรื่องนี้กลับเข้าสู่ศาลโลก ผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า บรรดาฝ่ายขวาจัดที่ออกมาปลุกระดม จนประเทศไทยต้องกลับเข้าไปในศาลโลกอีกครั้งนั้น ตระหนักหรือไม่ว่า การปลุกกระแสชาตินิยมขวาจัดเพื่อต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายแบบสุดโต่งในการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่อเส้นเขตแดน ไม่เป็นทางเลือกที่ดีในการแก้ปัญหาแต่อย่างใด และอาจกลายเป็นความเสียเปรียบในทางกฎหมาย เมื่อไทยต้องกลับเข้าสู่ศาลโลกจากการร้องขอของกัมพูชา

การก่อกระแสชาตินิยมที่ค่อยๆ เริ่มขึ้นในครั้งนี้ อาจเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามเดิมที่ต้องการยกเลิก “บันทึกช่วยจำ 2544” ให้ได้ แม้ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศยกเลิกไปแล้ว แต่ดังที่ทราบกันในทางกฎหมายระหว่างประเทศว่า การประกาศยกเลิกความตกลงแบบฝ่ายเดียวนั้น ไม่มีผลในทางปฏิบัติ จนกว่ารัฐคู่สัญญาจะกระทำการในลักษณะเดียวกัน

และต่อมาหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มิได้ประกาศยกเลิกบันทึกฉบับนี้แต่อย่างใด จึงต้องถือว่าบันทึกดังกล่าวยังมีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศผูกพันอยู่

อย่างไรก็ตาม กระแสในช่วงปัจจุบันถูกปลุกอีกครั้งด้วยการสร้าง “ทฤษฎีสมคบคิด” (conspiracy theory) ที่เชื่อว่า การเดินทางของอดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เพื่อมาเยี่ยมอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่กรุงเทพฯ นั้น มี “วาระซ่อนเร้น” ที่จะคุยเรื่องปัญหาเส้นเขตแดนทะเล ซึ่งโดยนัยย่อมมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “บันทึกช่วยจำ 2544” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเริ่มเห็นการก่อกระแสอีกครั้งเพื่อให้ยกเลิก “บันทึกช่วยจำ 2544” ซึ่งว่าที่จริงแล้วเป็นเพียง “กรอบการเจรจา” ไม่ต่างจาก “บันทึกช่วยจำ 2540” ที่เป็นเรื่องของเส้นเขตแดนทางบก ก็เป็นการกำหนดกรอบการแก้ปัญหาข้อพิพาท ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในทางการทูตที่จะต้องกำหนดกรอบในการเจรจา

การก่อกระแสเช่นนี้จึงเสมือนการเมืองไทยกำลังย้อนรอยกลับสู่การก่อกระแสขวาจัดในการชุมนุมที่สะพานมัฆวานเมื่อปี 2551 จนทำให้ประเทศเกิดความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวของพวกเขามาแล้ว

วันนี้ เส้นเขตแดนทางทะเลกำลังถูกหยิบขึ้นมาเป็น “เหยื่อ” สำหรับการเคลื่อนไหวสำหรับพวกเขาอีกครั้ง แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ตระหนักว่า ถึงจะยกเลิก “บันทึกช่วยจำ 2544” ได้จริง แต่เมื่อเกิดการเจรจาระหว่างประเทศทั้งสอง ก็จะต้องกำหนดกรอบการเจรจาขึ้นไม่ต่างจากเดิม…

เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการเจรจาโดยปราศจากกรอบ เพราะการเจรจาระหว่างประเทศไม่ใช่การนั่งคุยกันเล่นๆ ในร้านกาแฟ ที่คู่สนทนาอยากจะคุยอะไรก็คุยได้ตามใจปรารถนาโดยปราศจากกรอบที่ชัดเจน

 

ว่าที่จริงแล้วความสำเร็จในการแก้ปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนของปัญหาเส้นเขตแดนทะเลนั้น รัฐบาลไทยได้ดำเนินการแล้วใน 3 กรณี ได้แก่

– การจัดทำพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซียในปี 2522 หรือที่เรียกว่า “JDA ไทย-มาเลเซีย” โดยใช้เวลาการเจรจาทั้งหมดนาน 22 ปี

– ความตกลงในการกำหนดเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทย-เวียดนาม ซึ่งเริ่มดำเนินการเจรจาครั้งแรกในปี 2521 และเริ่มเจรจาอย่างจริงจังในปี 2535 จนสำเร็จได้ในปี 2540

– บันทึกช่วยจำว่าด้วยการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยเริ่มการเจรจาครั้งแรกในปี 2513 และเริ่มเจรจาอย่างจริงจังอีกครั้งในปี 2538 สำเร็จในปี 2544 โดยมีความตกลงที่จะมีพื้นที่พัฒนาร่วมกันในเรื่องของทรัพยากรพลังงานในทะเล

 

ความท้าทาย

ฉะนั้น หากพิจารณาในทางปฏิบัติแล้ว คงต้องยอมรับว่าบันทึกช่วยจำนี้ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ที่ทำให้รัฐบาลกัมพูชายอมรับถึงการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่ไทยโดยตรง ทั้งยังเป็นการยอมรับของฝ่ายกัมพูชาอย่างเป็นทางการอีกด้วยถึง ข้อเรียกร้องและสิทธิของไทยในเรื่องของเส้นเขตแดนทางทะเล ดังนั้น ไม่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะตกลงกันอย่างไรในอนาคต การตกลงนั้นย่อมไม่กระทบถึงสิทธิและข้อเรียกร้องของไทยที่มีมาแต่เดิม

นอกจากนี้ บันทึกช่วยจำ 2544 ยังกำหนดชัดเจนอีกด้วยว่า การจัดทำเส้นเขตแดนทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น จะต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเท่ากับเป็นการผูกมัดประเทศทั้งสองให้ต้องดำเนินการอยู่บนหลักกฎหมาย อันจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน

ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญในกรณีนี้คือ ทำอย่างไรที่กลุ่มขวาจัดไทยจะไม่หยิบเอาเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาใช้เป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว อาจส่งผลต่อผลประโยชน์ของไทยเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2551 จนไทยต้องกลับไปขึ้นศาลโลกอีกครั้ง!