พลวัตสงครามเมียนมาต่อไทย | ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา เป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากว่า “ไทยจะเอาอย่างไรกับปัญหาสงครามในเมียนมา?” … จนถึงวันนี้ เรายังไม่เห็นสิ่งที่เป็นข้อสรุปจากข้อถกแถลงในระดับนโยบาย ที่ใช้เป็นทิศทางบ่งบอกถึง “ท่าที-จุดยืน” ของประเทศไทยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในเมียนมาแต่อย่างใด

แม้ในช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายอาจจะตอบด้วยปรากฎการณ์ที่ชัดเจนว่า ไทยมีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างไม่ปิดบัง เพราะผู้นำไทยที่ยึดครองอำนาจมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงการเลือกตั้ง 2566 นั้น ถือเอา “สายสัมพันธ์ของนักรัฐประหาร” เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดนโยบาย ดังนั้น แม้อาเซียนจะออก “ข้อมติ 5 ประการ” เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรงในเมียนมา แต่ไทยกลับหันมาเล่นบท “เด็กเกเร” ในอาเซียนด้วยการสร้าง “พันธมิตรรัฐประหาร” ดังจะเห็นได้จากการจัดเวทีการประชุมที่พัทยา

การกระทำเช่นนี้ไม่อาจตีความเป็นอื่น นอกจากรัฐบาลที่มีอดีตผู้นำรัฐประหารเป็นผู้นำนั้น พยายามที่จะใช้เวทีไทยเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา แน่นอนว่า การดำเนินการเช่นนี้ ขัดกับทิศทางของอาเซียนโดยตรง และเท่ากับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนในทางการทูตว่า “ไทยอุ้มพม่า” ซึ่งภาวะเช่นนี้ทำให้ไทยถูกวิจารณ์อย่างมากจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นคำตอบที่ชัดเจนในเชิงนโยบายว่า “ผู้นำรัฐประหารไทยไม่ทิ้งผู้นำรัฐประหารเมียนมา” ไม่ว่าการโอบอุ้มทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของไทยอย่างไรก็ตาม

แต่การเปลี่ยนรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566 ทำให้หลายฝ่ายเกิดความคาดหวังว่า รัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ น่าจะมี “ทิศทางใหม่-นโยบายใหม่” ต่อปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา เพราะเกิด “พลวัตใหม่” ทั้งในมิติทางการเมืองและการทหาร ซึ่งอย่างน้อย พลวัตนี้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยต้องคิดใหม่ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1) สงครามต่อต้านรัฐบาลทหารหลัง “ปฏิบัติการ 1027 ที่เกิดในบริเวณภาคเหนือของรัฐฉานในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 นั้น มีทิศทางที่ขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับเห็นภาพความสำเร็จของกองทัพฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในการบุกเข้ายึดเมืองต่างๆ ซึ่งรัฐบาลไทยควรต้องพิจารณาถึง “พลวัตสงคราม” นี้มากขึ้น

2) ภาวะที่ถดถอยจากการสูญเสียเมืองต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาลนั้น อาจเปรียบเทียบเป็นดัง “โดมิโนล้ม” ที่มีนัยถึงการล้มตามกัน จนเกิดคำถามในทางยุทธศาสตร์ว่า การล้มลงต่อเนื่องเช่นนี้จะนำไปสู่จุดสุดท้ายดังเช่นการล้มของ “โดมิโนอินโดจีน 2518” และเป็นจุดจบของรัฐบาลทหารหรือไม่

3) ในบริบททางทหารอาจมีข้อโต้แย้งในอีกมุมว่า “โดมิโนเมียนมา” ยังไม่สามารถเดินไปสู่จุดเช่นนั้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะกองทัพของฝ่ายรัฐบาลที่แม้จะสูญเสียกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเครื่องกระสุนจำนวนมากนั้น ยังคงมีศักยภาพในการรบอยู่อีกพอสมควร แต่ก็ต้องไม่ลืมบทเรียนเก่าว่า ในปี 2518 นั้น หน่วยข่าวกรองอเมริกันก็เคยประมาณว่า กองทัพของรัฐบาลเวียดนามใต้น่าจะรบได้อีกสัก 2-3 ปี แต่ในที่สุด การแพ้อย่างต่อเนื่องก็นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลเวียดนามใต้ … การประเมินของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ จึงต้องคิด “เผื่อใจ” ว่า ความพ่ายแพ้ใหญ่ของกองทัพฝ่ายรัฐบาลเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอในพลวัตสงคราม

4) หากการพ่ายแพ้ใหญ่ยังไม่เกิดทันที แต่เมื่อการถดถอยของกองทัพรัฐบาลเกิดต่อเนื่อง ย่อมจะทำให้ฝ่ายต่อต้านเกิด “แรงผลัก” จากสนามรบ ให้ฝ่ายต่อต้านมีขวัญกำลังใจมากขึ้น รวมถึงอาจมีผู้สนับสนุนมากขึ้นด้วย สภาวะเช่นนี้ จะทำให้ “สงครามฤดูแล้ง” ของปีปัจจุบัน เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะต้องดูว่า “การรุกในฤดูแล้ง” ของกองกำลังทั้งในส่วนของฝ่ายประชาธิปไตยและของชนกลุ่มน้อย จะประสบความสำเร็จในทางทหารเพียงใด

ดังนั้น สงครามในฤดูแล้งของปีนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งบอกถึงอนาคตของทั้ง 2 ฝ่าย และสงครามนี้จะส่งผลกระทบต่อแนวชายแดนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของผู้หนีภัยสงคราม ซึ่งไทยในฐานะรัฐเพื่อนบ้านอาจต้องแบกรับภารกิจทางด้านมนุษยธรรม

5) สงครามครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงความต่างของสงครามครั้งก่อนๆ ในเมียนมา ที่ไม่ใช่ “สงครามปราบปรามชนกลุ่มน้อย” แต่เป็น “สงครามประชาธิปไตย” ที่ผู้เห็นต่างจากรัฐบาลทหารทุกฝ่ายได้ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ โดยเฉพาะหนุ่มสาวชาวเมียนมาเอง เรื่องนี้เป็นปัจจัยใหม่ที่รัฐบาลกรุงเทพต้องคำนึงถึง

6) การประกาศการเกณฑ์ทหารล่าสุดเป็นปัจจัยผลักให้คนในสังคมไปในทิศทางที่ต่อต้านรัฐบาลทหารมากขึ้น และส่งผลให้คนในสังคมเมียนมาอีกส่วนพยายามที่จะเดินทางมาหลบหนีเข้ามาในไทย ทั้งยังอาจทำให้เกิดปัญหา “การค้ามนุษย์” ด้วย หลายครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต้องการอพยพมาไทย ไม่มีใครอยากถูกเกณฑ์ไปรบ เพราะภาพของความพ่ายแพ้เกิดขึ้นต่อเนื่อง และเป็นข่าวที่ปิดบังไม่ได้ในโลกโซเชียล

7) ด้วยสถานการณ์สงคราม และผลสืบเนื่องจากการเกณฑ์ทหาร ทำให้ไทยกลายเป็น “เมืองหน้าด่าน” ของการรับผู้อพยพชาวเมียนมา ซึ่งอาจเปรียบเทียบกับบริบทยุโรปได้ว่า ไทยจะเป็น “โปแลนด์แห่งตะวันออก” เช่นที่ประเทศโปแลนด์เป็น “เมืองหน้าด่าน” สำหรับผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามยูเครน ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องระวังว่าไม่ใช่เป็นการแอบส่งของให้ฝ่ายรัฐบาลทหาร

8) ผู้นำกองทัพไทยยังยึดติดกับความคิด “การทหารนำการทูต” ที่เชื่อในความสัมพันธ์ “กองทัพต่อกองทัพ” เช่น การเดินทางเยือนพม่าของผู้บัญชาการทหารอากาศ การเยือนของเรือรบไทย และข่าวลือถึงการเดินทางเยือนพม่าของผู้บัญชาการทหารบก ถึงแม้พวกเขาจะมีข้ออ้างที่สวยหรูประการใดก็ตาม แต่การเยือนดังกล่าวจะถูกตีความว่า กองทัพไทยยึด “นโยบายแบบใกล้ชิด” กับผู้นำรัฐประหารเมียนมาไม่เปลี่ยนแปลง และการเดินทางเช่นนี้ มักตามมาด้วยข่าวลือ “ของฝากจากเมียนมา” ที่เป็นเรื่องขบขันในเวทีการทูตเสมอ

9) รัฐบาลควรดำเนิน “นโยบายการทูต 3 ขา” คือ เปิดการเชื่อมต่อกับกลุ่มอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายคือ รัฐบาลทหาร รัฐบาลประชาธิปไตย และกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย เพื่อให้เกิดสมดุลในนโยบายไทยในสถานการณ์สงคราม มิใช่การวางน้ำหนักเชิงนโยบายด้วยการฝากความเชื่อมั่นไว้กับผู้นำทหารเมียนมาเท่านั้น

10) รัฐบาลไทยต้องกล้าที่จะเดินหน้าเพื่อพลิกฟื้น “เกียรติภูมิการทูตไทย” ด้วยการผลักดัน “เวทีสันติภาพเมียนมา” เช่นที่ไทยเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในกรณี “สันติภาพเขมร 3 ฝ่าย” และเวทีการทูตเช่นนี้จะเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างดีในการนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศในเชิงบวก หลังจากที่ไทยอยู่ในภาวะ “ติดลบทางการทูต” ในหลายปีที่ผ่านมาด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของ “คู่แฝดรัฐประหาร”

ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องชวนผู้นำรัฐบาลปัจจุบันให้นำเอาคำขวัญเก่าของพรรคเพื่อไทยมาใช้ในเรื่องพม่าคือ “คิดใหม่-ทำใหม่” (คำชวนนี้ไม่มีนัยถึงกระทรวงกลาโหม เพราะเป็นกระทรวงที่ไม่คุณค่าในสถานการณ์ความมั่นคงปัจจุบัน!)