ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์เมื่อปี 2526 ของ ‘คุณาวุฒิ’ ‘ผมว่า ผมทำหนังเยิ่นเย้อ’

คนมองหนัง
ภาพจาก : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

ระหว่างเดินชมนิทรรศการ “คุณาวุฒิ ๑๐๑” ที่หอภาพยนตร์ ศาลายา เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมก็ไปสะดุดตากับเอกสารจัดแสดงแผ่นหนึ่ง

นั่นคือบทสัมภาษณ์ “วิจิตร คุณาวุฒิ” หัวข้อ “ผมว่า ผมทำหนังเยิ่นเย้อ” ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “เสียงในฟิล์ม” หน้าวัฒนธรรม-บันเทิง (หน้า 11) จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม 2526 เนื่องในวาระที่ “คุณาวุฒิ” ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อได้ยืนอ่านดู ก็พบว่าเนื้อหาในบทสัมภาษณ์นั้นมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยยุค 2520

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงกลับมาสืบค้นหาหนังสือพิมพ์มติชนฉบับดังกล่าวในห้องสมุดศูนย์ข้อมูลมติชน เพื่อนำเนื้อหา (บางส่วน) จากบทสัมภาษณ์ของ “คุณาวุฒิ” มาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้ง เมื่อกาลเวลาผันผ่านไปกว่า 4 ทศวรรษ

โดยมีการจัดย่อหน้า-วรรคตอนใหม่ แก้ไขคำผิดที่ปรากฏในต้นฉบับ และเพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนลงไปโดยมีเครื่องหมาย […] กำกับไว้ ดังนี้

 

: อยากให้วิจารณ์หนังของตัวเองที่ผ่านมาทั้งหมดอย่างสรุป

ผมว่าผมนี่ทำหนังเยิ่นเย้อ คือให้ลักษณะเป็นหนังไทยมากไป ไม่ให้ลักษณะเป็นหนังสากล

ฉากบางฉากควรจะทำกะทัดรัดกว่านี้ ควรมีเพียง 2 คัตเท่านั้น ก็ทำไปเสียถึง 6-7 คัต เพื่อให้คนดูที่เป็นคนไทยเข้าใจมากขึ้น หรือขยี้ให้เกิดความประทับใจมากยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงควรจะทำสั้นๆ กว่านี้ หรือควรจะตัดรายละเอียดบางอันโยนทิ้งไปได้ เราก็ยังกลับทำเข้าไว้

ผมยังไม่อยู่ในลักษณะสากลเต็มที่ เป็นความบกพร่อง

แล้วก็ความสมจริงสมจัง บางฉากยังไม่พอ สมมุติว่าฉากงานเลี้ยงใหญ่ๆ เราไม่มีผู้ช่วยผู้กำกับฯ ที่จัดให้ดีพอ บางทีไม่มีตัวประกอบที่ดีพอ ทำให้หนังเด่นเฉพาะตัวพระเอก-นางเอก หรือความเคลื่อนไหวของตัวประกอบไม่ดีพอ

เรื่องบทยังเยิ่นเย้อ ในส่วนตัดต่อค่อยยังชั่ว ผมว่ามีอะไรให้หั่นมาก ถ้าเป็นทำคนเดียวมันเรียงไว้ได้ [“คุณาวุฒิ” จะลงมือตัดต่อหนัง/ลำดับภาพด้วยตัวเอง]

ที่ชอบอย่าง “เมียหลวง” นี่ตัดต่อผมชอบ เพราะผมสามารถเตรียมงานตั้งแต่บทภาพยนตร์ เมื่อเวลาไปตัดต่อก็สะดวก ตัดต่อก็สวย ร่นเวลาความยืดยาดของหนังลงได้มาก

เรื่องกำกับฯ นี่มันบอกไม่ถูก มันแล้วแต่รูป [แนว] ของหนัง อย่าง “เมียหลวง” นี่ต้องใช้ความโอเวอร์บ้าง ผมก็ปล่อยให้โอเวอร์บ้าง แต่มา “ลูกอีสาน” ก็ต้องให้เป็นธรรมชาติ มันก็สนุกทั้ง 2 เรื่อง ก็พอใจ

บทภาพยนตร์ที่ชอบ ยังชอบ “เมียหลวง” ที่ไม่ชอบเลยก็มีอย่าง “น้องรัก”, “ไทรโศก”, “เกิดเป็นหงส์” พวกนี้หนัง 16 [ม.ม.] หนัง 35 [ม.ม.] ก็มีอย่าง “หัวใจป่า” ที่ไม่ชอบคือฝืน พยายามทำตลาด [หนังที่น่าจะเป็นที่นิยมของตลาด] อย่างมาก อย่างแรง แล้วฝืนความรู้สึกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำอะไรก็ฝืนไปหมด

 

: อยากให้วิจารณ์ถึงผู้กำกับฯ รุ่นใหม่ๆ

พูดยากนะ ผมศึกษางานคนรุ่นใหม่ๆ ไม่พอ ได้ดูงานน้อยมาก

เปี๊ยก (โปสเตอร์) ผมชอบเรื่อง “ชู้” มาก ผมชอบรูปแบบ-โครงสร้าง ตัวเล่นที่เอามาค่อนเรื่องแรก แต่ตอนจบไม่ดีเท่านั้น แต่เป็นงานที่ดีมากในสายตาผม

มุ้ย (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) นี่ผมชอบ “เขาชื่อกานต์” ก็ดี นี่ว่า “มือปืน” ก็ดี มีคนว่า แต่ผมยังไม่ได้ดู

เพิ่มพล [เชยอรุณ] ผมไม่ได้ดูงาน ได้ดู “ระย้า” ยังไม่ค่อยดีนัก เห็นว่า “หลวงตา ภาค 1” ดีนะ

ยุทธนา (มุกดาสนิท) ในเรื่อง “เทพธิดาบาร์ 21” นี่ก็ไม่เลว ถ้ายุทธนาไม่ทำอย่างเป็นละครเพลง เพราะตัวแสดงไทยนี่ยังไม่ถึง เนื้อแท้ของตัวหนังชีวิตดีมาก ยุทธนามีฝีมือ แต่ยังหยิบอะไรไม่ถูก

แล้วโชคอะไรของแกก็ไม่รู้ ไอ้ที่น่าจะทำก็ไม่ทำ ก็รู้ว่าบริษัทหนังเขาถือเรื่องเงินเป็นใหญ่กว่าคุณภาพหนัง แกก้าวเข้ามาสู่วงการหนังครั้งแรก ก็ควรจะทำสตางค์ให้บริษัทเชื่อถือ เพราะว่าเสียงทั่วๆ ไป เราคงไม่ปฏิเสธว่า เอะอะก็ว่าหนังล้าน หนังได้เงิน อีกคนคว่ำ

เมื่อมาดูอย่าง “เทพธิดาโรงงาน” โดยโครงสร้างหนังเรื่องนี้ควรจะได้สตางค์ แกจะทำตลาดก็ไม่ตลาด ตอนหลังแกไปหักมุมทางข้อคิด มันก็เลยประดักประเดิด เพราะ 2 อย่างนี่มันมารวมด้วยกันไม่ได้

คือหนังเรานี่ทำตลาดกำลังสนุกสนานอยู่ แต่ไปหักด้วยสัจธรรมเข้า 2 อย่างนี่เลยไปด้วยกันไม่ได้ จะเอาอะไรก็น่าเอาสักอย่างเดียว คือไม่มีใครเขาว่าหรอกถ้าจะทำหนังเอาสตางค์ ทำไมไม่ทำรูป [แนว] นั้นเสียก่อน แล้วค่อยหาโอกาสทำงานใหม่

แต่ผมก็ชอบนะ บาร์ 21 นี่ถือว่าผมชอบมาก

[“ยุทธนา มุกดาสนิท” ถ่ายทอดประสบการณ์ในวงสนทนาเปิดนิทรรศการ “คุณาวุฒิ ๑๐๑” ว่า ในช่วงทศวรรษ 2520 เขาเคยนำร่างบทภาพยนตร์ของตนเองไปให้คนทำหนังรุ่นอาวุโสสองคนอ่านและวิพากษ์วิจารณ์ คนหนึ่งคือ “เปี๊ยก โปสเตอร์” ซึ่งวิจารณ์งานในเชิงรายละเอียด ว่าควรแก้จุดนั้นปรับจุดนี้ อีกคนคือ “ครูวิจิตร” ซึ่งวิจารณ์งานในภาพรวม และตั้งคำถามกลับมาว่า จริงๆ แล้ว ยุทธนาต้องการนำเสนออะไรในหนังเรื่องนั้นๆ กันแน่?]

ภาพ: กองถ่ายภาพยนตร์ คนภูเขา (2522)

: จุดเด่นของคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ อยู่ตรงไหน ข้อด้อยอยู่ตรงไหน

เขายังไม่เคยทำงานอย่างใจแท้เขาออกมา เราก็เลยยังดูไม่ค่อยออก

อย่างสุชาติ (วุฒิชัย) ที่ทำ “น้ำค้างหยดเดียว” ผมว่าไม่เลวทีเดียว เพียงแต่ว่าประสบการณ์ยังน้อย แกไปชินกับหนังโฆษณา วางมุม [กล้อง] แคบไป ภาพบางภาพควรจะเปิดกว้างเพื่อให้เห็นบรรยากาศก็ทิ้งให้แคบ

อย่างในฉากไนต์คลับก็ไปเปิดในมุมเล็กเพื่อจะบีบ แต่หนังโรงมันต้องการภาพที่เป็นบรรยากาศ [มุมกว้าง] แล้วถึงจะเข้าไปถึงสิ่งที่อยู่ในบรรยากาศ

ความจริงพวกนี้มีอะไรดีๆ อยู่หลายอย่าง แม้แต่เพิ่มพลก็เถอะ แต่จะให้แนะนำกันคงไปแนะนำกันไม่ได้ ถึงแม้เราเองก็ยังทำผิดพลาด แต่ละครั้งเหมือนเริ่มต้นใหม่ เราไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ใช่เหมือนเรียนจบปริญญา แล้วจะเที่ยวไปสอนใครก็ได้เสมอต้นเสมอปลายตลอดชีวิต

ไอ้การทำงาน งานศิลปะแต่ละอันนี่มันเหมือนงานเริ่มต้นใหม่ ทำใหม่ ไม่มีใครรู้ว่าจะออกหัวออกก้อย เมื่องานสำเร็จแล้วต่างหากจึงสามารถวิจารณ์กันได้

 

: รางวัลต่างๆ ที่ได้รับ มีความภูมิใจมากน้อยเพียงไร

ก็ไม่ทั้งหมด ผมรู้ว่างานที่ได้ [รางวัล] มาแต่ละงาน มันไม่ใช่งานวิเศษอะไร ของผม ที่ได้มาแต่ละปีที่เข้าประกวด มันเผอิญไม่มีงานดี คนไปสร้างหนังตลกเฮฮา หนังบู๊ล้างผลาญอะไรกันหมด มีแต่หนังผมสร้างจริงจังอยู่เรื่อง มันก็ได้

ปีที่ผมทำ “เมียหลวง” ผมก็ทำ “คนภูเขา” ถ้าไม่มี “คนภูเขา” เรื่อง “เมียหลวง” ก็ไม่ติดรางวัลอะไรหรอก ก็ต้องแพ้หนังของเพิ่มพล ของใครต่อใครหมด แต่เผอิญผมมี “คนภูเขา” เข้าไปด้วยเท่านั้น มันไม่ใช่หนังวิเศษ ไม่ใช่หนังน่าภูมิใจอะไรนักหนา

แต่ที่ผมภูมิใจก็มี “ลูกอีสาน” ที่ภูมิใจมาก เพราะว่าเรื่องนี้ได้อ่านแล้ว นักสร้างหนังก็สั่นหัวเพราะมันไม่เป็นเรื่อง เป็นหนังสือกึ่งสารคดี มันก็เลยท้าทายเหลือเกิน แล้วเราก็นำมาพันเรื่องให้ เพื่อให้คนดูสนุกเหมือนกับมีเรื่องราว

นี่เป็นวิธีที่ผมทดลอง เป็นการทดลองตัวเอง เพราะไม่แน่ใจว่าตัวเองจะทำได้สำเร็จ ถ้าพูดถึงความพอใจในตุ๊กตาทองทั้งหมด ผมก็มีพอใจอยู่แต่ “ลูกอีสาน” •

 

| คนมองหนัง