‘ครูอุ้ม’ ประกาศลุย ‘โอเน็ตพลัส’

กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง หลัง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวคิดที่จะ “รื้อฟื้น” การนำผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ภายหลังนายณัฏพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ลงนามในประกาศ ศธ.เมื่อช่วงปี 2563-2564 ให้ “ยกเลิก” การทดสอบโอเน็ต ชั้น ป.6 และชั้น ม.3

โดยให้การทดสอบโอเน็ตของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ถือเป็นสิทธิส่วนตัวของนักเรียน ที่จะเข้ารับการทดสอบตามความสมัครใจ แต่เพื่อให้การใช้ผลการทดสอบโอเน็ตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นายณัฐพลยังได้ยกเลิกประกาศ ศธ.เรื่องสัดส่วนการใช้ผลการทดสอบโอเน็ต เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้ที่จบระดับประถม และมัธยมต้น ยกเว้นระดับมัธยมปลาย ยังคงใช้สัดส่วน 70 ต่อ 30 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563

เป็นผลให้การสอบคัดเลือกนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเข้าเรียนในชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ไม่ต้องใช้คะแนนโอเน็ต!!

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ถกเรื่องการยกเลิกคะแนนโอเน็ต ที่ใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส เนื่องจาก ศธ.มีนโยบายยกเลิกการนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในชั้น ม.1 และชั้น ม.4

รวมถึงให้ใช้วิธีสุ่มสอบนักเรียนชั้น ป.6, ม.3 และ ม.6 โดยไม่ต้องสอบโอเน็ตทุกคนเหมือนในอดีต…

ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 บางคน ไม่มีผลคะแนนโอเน็ต ที่จะใช้ยื่นเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยระบบทีแคส

ประกอบกับการคัดเลือกในระบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2565 ที่ ทปอ.มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกในรอบที่ 4 รับตรงร่วมกัน จากที่มี 5 รอบ ให้เหลือเพียง 4 รอบ คือ รอบที่ 1 พอร์ตโฟลิโอ รอบที่ 2 โควต้า รอบที่ 3 แอดมิชชั่น และรอบที่ 4 รับตรงอิสระ ซึ่งทั้ง 4 รอบที่เหลือ ไม่ได้ใช้คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกอยู่แล้ว

บวกกับ สพฐ.อยู่ระหว่างปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานไปเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เน้นเพิ่มทักษะการมีงานทำ ดังนั้น การคัดเลือกนิสิตนักศึกษาด้วยระบบทีแคส ทปอ.จึงปรับเพิ่มข้อสอบ TGAT หรือ Thai General Aptitude Test ซึ่งเป็นข้อสอบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ไม่เน้นความรู้ทางวิชาการเชิงลึก แต่เน้นทักษะ การคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และอย่างมีเหตุผล มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือก

เท่ากับ ทปอ.ยกเลิกการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้เป็นองค์ประกอบในระบบทีแคส…โดยปริยาย!!

 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการนำผลการทดสอบโอเน็ตกลับมาใช้ประโยชน์ของ “ครูอุ้ม” ในครั้งนี้ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ได้หารือเรื่องการขับเคลื่อนการจัดสอบโอเน็ต โดยครูอุ้มมองว่าการจัดสอบโอเน็ตที่ผ่านมานั้น ไม่มีการนำผลสอบไปใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

จึงเสนอให้นำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้ประกอบการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือเกณฑ์ PA (ว 9/2564) และรองรับนโยบาย Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง รวมถึงเตรียมจัดให้มีระบบ “สอบเทียบ”

ดังนั้น จึงต้องมีการวัดผลที่ได้มาตรฐาน…

แต่หากจะนำผลคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการสอบเทียบ ก็ต้องปรับให้เป็น “โอเน็ต+” หรือโอเน็ตพลัส โดยจัดสอบเพิ่มอีก 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศิลปะ สุขศึกษาและพลศึกษา และการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เพื่อให้ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ จากเดิมที่จัดสอบโอเน็ตอยู่แล้วใน 4 กลุ่มสาระฯ หลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ

เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และได้คะแนนครบ 8 กลุ่มสาระฯ

สำหรับ “เนื้อหา” ของ “ข้อสอบ” จะปรับโดยเน้นทักษะการคิด และวิเคราะห์ ให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2567

อย่างไรก็ตาม ครูอุ้มยืนยันว่าการจัดสอบโอเน็ตครั้งนี้ จะไม่บังคับ แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจ เพียงแต่ต้องการส่งเสริมให้นำผลคะแนนโอเน็ตไปใช้ประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้น แต่ทำให้นักเรียนรู้ตัวเอง รู้จุดอ่อน จุดแข็ง ซึ่งไม่ใช่การเพิ่มภาระให้นักเรียน หรือโรงเรียนได้ประโยชน์!!

 

หลังครูอุ้มป่าวประกาศว่าจะนำผลสอบโอเน็ตมาใช้ประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้นนั้น นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ และนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้ออกมา “สนับสนุน” และส่งเสียงเชียร์ทันที เพราะมองว่าปัจจุบันนี้ เด็กไม่เห็นความสำคัญของการสอบโอเน็ต

โดยยกตัวอย่างการสอบครั้งล่าสุด ที่พบบางโรงเรียนมีนักเรียนสมัครสอบโอเน็ต 600 คน แต่พอถึงเวลาสอบจริง มาสอบแค่ 120 คน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยสูญเปล่า

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น นายก ส.บ.ม.ท.บอกว่า เพราะ ศธ.ให้การสอบโอเน็ตเป็นไปด้วยความสมัครใจ ทำให้เด็กไม่ตั้งใจสอบ โดยบางโรงเรียนต้องแก้ปัญหาโดยใช้วิธีบังคับให้ต้องมาสอบ

ฉะนั้น ถ้าต้องการให้โอเน็ตสะท้อนผลการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง จะต้องนำผลสอบไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของการเลื่อนชั้น ม.1 และ ม.4 โดยใช้เป็นองค์ประกอบ ในสัดส่วน 10-30% เพื่อให้เด็กมีกำลังใจ หรือต้องมีผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะทำให้เด็กตั้งใจสอบโอเน็ตมากยิ่งขึ้น

เพราะรู้ว่าผลสอบถูกนำไปใช้จริง และส่งผลต่อการเรียนในอนาคต

ขณะที่ครูก็จะได้รู้ข้อดี ข้อเสีย และข้อบกพร่องของตัวเอง เพื่อใช้ในการวางแนวทางพัฒนาการเรียนการสอนได้

รวมทั้งจะส่งผลดีต่อคะแนนประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ให้สูงขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นายก ส.บ.ม.ท.ได้ “คัดค้าน” แนวคิดของครูอุ้ม ในประเด็นที่อยากให้ผลการสอบโอเน็ต มีผลต่อการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะครูตามหลักเกณฑ์ PA (ว9/2564) เพราะอาจเพิ่มภาระให้ครูมากเกินไป

พร้อมทั้งส่งสารตรงไปยังเจ้ากระทรวง และผู้บริหาร ศธ.ว่าถ้า ศธ.ยังจัดสอบโอเน็ต แต่ไม่เกิดประโยชน์กับนักเรียน ครู และโรงเรียน ก็ควร “ยกเลิก” การสอบโอเน็ตไปเลย เพราะเสียเวลา และสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล

ทั้งนี้ คงต้องรอดูว่าแนวทางที่ “ครูอุ้ม” จะผลักดันให้ “ผลสอบ” โอเน็ต และโอเน็ตพลัส ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งกับตัวนักเรียน ครู และโรงเรียน จะมีหน้าตาอย่างไร!! •

 

| การศึกษา