วิธีการเลือก ส.ว. ต้องผ่าน 6 ด่าน ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จำนวน 200 คน มาจากไหน?

มุกดา สุวรรณชาติ

ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 50 ล้านคน และก็ไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจกลุ่มใดทั้งสิ้น

แต่ให้ผู้สนใจอยากเป็น ส.ว. ลงสมัครและคัดเลือกกันเองตามกฎกติกาที่วางไว้

การสมัครจะต้องสมัครตามกลุ่มอาชีพซึ่ง พ.ร.ป.ส.ว. 2561 กำหนดไว้ 20 กลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม สุดท้ายจะเลือกได้กลุ่มละ 10 คน

การคัดเลือก ส.ว.จากผู้สมัครทั่วประเทศที่สมัครผ่านกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

1. ระดับอำเภอ คัดเลือก 2 รอบได้ตัวแทนอำเภอกลุ่มละ 3 คน ไม่ว่าผู้สมัครแต่ละกลุ่มจะมีมากน้อยต่างกันเท่าใดก็ตาม ถ้ามีผู้สมัครไม่ถึง 3 คน ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น

2. ระดับจังหวัด คัดเลือกอีก 2 รอบ จากตัวแทนทุกกลุ่มของทุกอำเภอ ให้ได้ตัวแทนกลุ่มละ 2 คน ทุกจังหวัดเท่ากันหมดไม่ว่าจังหวัดใหญ่หรือเล็ก

3. ระดับประเทศ จะมีการคัดเลือกอีก 2 รอบ จากตัวแทนของทุกกลุ่มใน 77 จังหวัดเข้าไปรวมคัดเลือก ขั้นสุดท้ายจึงจะได้ ส.ว. กลุ่มอาชีพละ 10 คน 20 กลุ่ม รวม 200 คน

ถ้ามองภาพรวมจะพบว่าผู้ที่สมัครจะต้องเริ่มต้นที่อำเภอเท่านั้นไม่ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศก็ตาม ดังนั้น คนที่ได้เป็น ส.ว.จะต้องผ่านการคัดเลือกถึง 6 รอบในการเลือก 3 ระดับ

วิธีการคัดเลือก ส.ว.ซับซ้อน

แต่เข้าใจไม่ยาก

1.เริ่มจากระดับอำเภอ

กำหนดการเปิดและปิดรับสมัครพร้อมกันทั่วประเทศ

ผู้สมัคร 1 คนเลือกสมัครได้ตามสายอาชีพที่ตัวเองเกี่ยวข้องเพียง 1 กลุ่ม และสามารถสมัครตามอำเภอที่ตัวเองมีทะเบียนบ้านอยู่ เคยทำงาน หรือเคยเรียนเพียงอำเภอเดียว และต้องจ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท

1.1 รอบแรกเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน แต่ละกลุ่มอาชีพ

ไม่ว่าจะมีผู้สมัครกี่คนก็ตามจะต้องเลือกกันเองเพื่อหาคนที่ผ่านเข้ารอบแรกให้ได้ 5 คนในกลุ่มอาชีพนั้นๆ (บางอำเภออาจมีกลุ่มอาชีพที่มีคนสมัครไม่ถึง 5 คนก็ไม่ต้องคัดในรอบแรก ถือว่าผ่านหมด)

วิธีเลือกคือให้ผู้สมัครลงคะแนนเลือกได้ 2 คน จะเลือกตัวเองและเลือกคนอื่นอีก 1 คนก็ได้ หรือจะเลือกคนอื่นทั้งหมดก็ได้ แต่ลงคะแนนให้ได้คนละ 1 คะแนนเท่านั้น แล้วคัดผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกให้ผ่านรอบแรกเข้าไป ที่เหลือต้องออกจากสถานที่เลือกตั้ง

1.2 รอบสอง ให้กลุ่มอาชีพอื่นเป็นผู้คัดเลือกเพื่อผ่านเข้าเป็นตัวแทนของกลุ่มระดับอำเภอ โดยการแบ่งทั้ง 20 กลุ่มออกเป็น 4 สายจะได้ประมาณสายละ 5 กลุ่ม โดยวิธีการจับสลาก ใครจับสลากได้สายเดียวกันก็ไปอยู่ด้วยกัน ตามตัวอย่าง เช่น

สาย ก. อาจจะมีกลุ่ม 1, 5, 8, 12, 15

สาย ข. อาจจะมีกลุ่ม 3, 6, 11, 13, 17

สาย ค. อาจจะมีกลุ่ม 2, 9, 14,18, 20

สาย ง. อาจจะมีกลุ่ม 4, 7, 10, 16, 19

ในรอบสองนี้การเลือกมีลักษณะป้องกันการสมยอมกันในกลุ่มอาชีพ จึงให้เป็นการเลือกไขว้ โดยกำหนดว่าผู้ที่ผ่านเข้ารอบ 5 คนในกลุ่มอาชีพใด ห้ามเลือกตนเองและคนในกลุ่มนั้น แต่ให้เลือกคนที่ผ่านเข้ารอบในกลุ่มอื่นๆ อีก 4 กลุ่มที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยเลือกได้เพียงกลุ่มละ 1 คน

เช่น นายสมมุติ ที่ได้รับเลือกไปเป็นหนึ่งใน 5 คนของสาย ก. จะต้องเลือกคนที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดกลุ่มละคน จากกลุ่ม 5 กลุ่ม 8 กลุ่ม 12 และกลุ่ม 15

การคิดคะแนน ให้มาเรียงลำดับในแต่ละกลุ่ม กลุ่มที่ 1 ก็มาเรียงว่าใครได้คะแนนสูงสุด กลุ่มที่ 8 ก็มาเรียงแบบเดียวกัน จากนั้นคัดเอา 3 คนแรกของแต่ละกลุ่มที่ได้คะแนนสูงเป็นตัวแทนเข้าไปสู่ระดับจังหวัด

กลุ่มอาชีพใดซึ่งอยู่ในอำเภอที่มีคนสมัครน้อยอาจจะผ่านรอบแรก โดยไม่ต้องคัดเลือกกันเอง แต่ในรอบ 2 แม้มีผู้สมัครเพียง 3 คนก็ยังต้องไปเลือกคนกลุ่มอาชีพอื่น

 

2.การเลือกตัวแทนระดับจังหวัด

เนื่องจากจำนวนอำเภอในแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ดังนั้น ตัวแทนจากอำเภอที่เข้าไปสู่ระดับจังหวัดจึงมีไม่เท่ากัน เช่น เชียงใหม่อาจจะมีถึง 70 คนในแต่ละกลุ่มเพราะมี 25 อำเภอ แต่ลำพูนซึ่งอยู่ติดกันมี 8 อำเภอก็จะมีตัวแทนประมาณ 24 คนเท่านั้น วิธีการเลือกตัวแทนระดับจังหวัดยังใช้การเลือก 2 รอบเหมือนเดิม

2.1 รอบแรกทุกกลุ่มอาชีพจะเลือกตั้งภายในกลุ่มตัวเอง เช่น สายการศึกษาถ้ามี 75 คน ก็จะเลือกกันเองแบบเดิมคือเลือกตัวเองและเลือกคนอื่นอีก 1 คน หรือจะเลือกคนอื่น 2 คนก็ได้ จากนั้นจะคัดเลือกผู้ที่คะแนนสูง 5 คนแรกไว้ให้ผ่านรอบแรก อีก 70 คนถือว่าไม่ผ่านจะต้องออกจากสถานที่เลือกตั้งในทันที

2.2 รอบที่สอง ผู้ที่ถูกคัดเลือก 5 คนของแต่ละกลุ่มจะส่งตัวแทนมาจับฉลากอีกครั้งเพื่อแบ่งสายอีกครั้ง ได้สายละ ประมาณ 5 กลุ่ม กติกาการเลือกก็เหมือนเดิมคือไม่ให้เลือกตัวเองและกลุ่มตัวเอง แต่ให้เลือกกลุ่มอื่นๆ อีก 4 กลุ่ม กลุ่มละ 1 คน

จากนั้นนับคะแนน โดยแยกแต่ละกลุ่มว่า ใครมีคะแนนสูงสุดในกลุ่มอาชีพ และ 2 คนแรกคือตัวแทนของกลุ่มอาชีพนั้นในระดับจังหวัดเข้าไปร่วมคัดเลือก ส.ว.ระดับประเทศ

ดังนั้น ไม่ว่าจะจังหวัดใหญ่หรือเล็กจะมีตัวแทน ส.ว.กลุ่มอาชีพละ 2 คน 20 กลุ่มเท่ากับ 40 คนทุกจังหวัด

 

3.การคัดเลือกระดับประเทศ

3.1 ในรอบแรกก็ยังคงเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ถ้ารวมตัวแทนกลุ่มอาชีพจาก 77 จังหวัด แต่ละกลุ่มจะมีประมาณ 150- 154 คน

แต่วิธีการเลือก มีความแตกต่างออกไปก็คือ…

…สามารถเลือกตนเองและเลือกคนอื่นได้อีก 9 คนหรือจะเลือกคนอื่นหมด 10 คนก็ได้…

จากนั้นนับคะแนนผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 40 คนแรกถือว่าผ่านรอบแรก อีก 114 คน ต้องออกจากสถานที่ คัดเลือก

3.2 เลือกรอบสอง ทุกกลุ่มอาชีพให้ส่งตัวแทนมาจับฉลากแบ่งสาย 4 สาย ได้สายละ 5 กลุ่ม จากนั้นจึงจะแยกห้องออกไปตามสายซึ่งแต่ละสายน่าจะมีคนประมาณ 200 คนไปเลือกแบบไขว้

กติกายังเหมือนเดิมคือ… จะเลือกตัวเองและกลุ่มของตัวเองอีก 39 คนไม่ได้…แต่จะให้เลือกกลุ่มอื่นอีก 4 กลุ่ม

…และการเลือกครั้งนี้สามารถเลือกแต่ละกลุ่มได้ถึง 5 คน จาก40คน… ดังนั้นผู้สมัคร 1คนสามารถเลือกได้ 20คน จากนั้นแต่ละสายก็นับคะแนนแยกตามกลุ่มอาชีพ ว่ากลุ่มใดใครมีคะแนนสูงสุด เพื่อจัดอันดับ

อันดับที่ 1 ถึงที่ 10 ได้เป็นส.ว จากกลุ่มอาชีพนั้น อันดับที่ 11-15 เป็นตัวสำรอง

ในเมื่อการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ประชาชนไม่ได้เลือกโดยตรง คนอายุต่ำกว่า 40 ปี ก็ไม่สามารถเข้าร่วมเลือก หรือสมัครเป็นตัวแทนได้ ดังนั้น การเลือกครั้งนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ของคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่มีความรู้ และประสบการณ์ ที่จะต้องช่วยกันเข้าไปสมัครและเป็นตัวแทนไปเลือกให้มากที่สุด

ส่วนคนที่ไม่สามารถเข้าไปร่วมได้ ยังจะต้องช่วยสนับสนุนผลักดันให้มีตัวแทนในกลุ่มอาชีพของตนเข้าไปร่วม อย่างน้อยก็เป็นผู้ที่มีสิทธิ์เลือกคนที่ดีและเหมาะสมเป็น ส.ว.