สวม ‘ส.ป.ก.’ รุกป่าเขาใหญ่

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ขออนุญาตใช้สัญชาตญาณนักข่าวควานหาความจริงกับข่าวการออกเอกสารสิทธิ์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกร หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “ส.ป.ก.4-01” ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ในที่สุดได้เห็นปมมากมายจนอาจสรุปได้ว่าการออก “ส.ป.ก.” ในพื้นที่ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อฮุบผืนป่าธรรมชาติ

ปมข้อสงสัยของผมเริ่มจากภาพถ่ายทางอากาศที่สื่อมวลชนนำมาเผยแพร่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพื้นที่ที่ได้รับเอกสารสิทธิ์ “ส.ป.ก.4-01” เป็นรอยแหว่งหย่อมๆ ในป่าเขียวชอุ่มของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นที่ดินที่ไม่เคยมีผู้คนเข้าไปทำประโยชน์มาก่อน ลักษณะยังคงความเป็นผืนป่าธรรมชาติ มีร่องรอยการใช้ประโยช์ของสัตว์ป่า อาทิ เก้ง ช้าง กระทิง

ในระหว่างเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไปตรวจสอบพื้นที่ “ส.ป.ก.” ที่มีรอยปักหมุดใหม่ๆ หมาดๆ ในจุดเกิดเหตุ คณะเจ้าหน้าที่เห็นช้างป่าเดินป้วนเปี้ยน

 

ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นที่ดินของรัฐถือครองโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐพิจารณาให้เกษตรกรเข้าไปทำประโยชน์ทั้งอยู่อาศัยและทำเกษตร

อย่างที่รู้กันว่า การออก “ส.ป.ก.4-01” ไม่ใช่เอาปากกาจิ้มขีดเส้นแบ่งแล้วเอาไปแจกกันง่ายๆ เพราะมีขั้นตอนสารพัด ทั้งวิธีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ตรงไหนควรนำมาแบ่งเป็นเขต ส.ป.ก. แล้วเข้าตรวจสอบสภาพป่า ถ้าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจะต้องให้กรมป่าไม้ออกกฎกระทรวงเพิกถอนความเป็นป่าสงวนฯ

อีกทั้งต้องสำรวจว่าพื้นที่นั้นๆ มีเกษตรกรมีรายได้ต่อเดือนต่อปีเท่าไหร่ อยู่ใต้เส้นความยากจนกี่คน เป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือต้องเช่าที่ดินคนอื่นมาทำกิน

เมื่อกำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว ส.ป.ก.ต้องออกพระราชกฤษฎีกา วิธีการออกพระราชกฤษฎีกามีหลายขั้นตอน ต้องมีแผนที่แนบท้ายเพราะต้องมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ดูขั้นตอนการออก ส.ป.ก.4-01 แล้วนำมาเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่หมู่ 10 หมู่บ้านเหวปลากั้ง แสดงว่าการออก ส.ป.ก.ให้กับผู้ที่อ้างตัวเป็นเกษตรกรทั้ง 5 คน จึงไม่ใช่เป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง

ที่น่าแปลกใจ เกษตรกรทั้ง 5 รายที่ได้รับแจก “ส.ป.ก.” ต่างมีฐานะดี มีเงินจ้างรถแบ๊กโฮ รถไถเข้าปรับพื้นที่ ค่าจ้างรถแบ๊กโฮเวลานี้เฉลี่ยวันละ 3 พัน-5 พันบาท

 

จากคำให้สัมภาษณ์ของคุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ระบุว่า ในเว็บไซต์ของสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน กำหนดพื้นที่สำหรับการปฏิรูปที่ดินเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 2,933 ไร่ และกำหนดรูปแปลงเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ 42 แปลง เนื้อที่ประมาณ 972 ไร่

เมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน กลับพบไม่มีใครเป็นเกษตรกรมาก่อน

ผู้สื่อข่าวสอบถามคุณกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี ทราบว่า ส.ป.ก.นครราชสีมาออกประกาศรายชื่อการคัดเลือกเกษตรได้ ส.ป.ก.4-01 จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 จำนวน 3 แปลงเนื้อที่ 73 ไร่ และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 อีก 5 แปลงเนื้อที่ 72 ไร่ ครั้งที่สองนั้น คุณกิติศักดิ์ไม่ได้รับหนังสือจาก ส.ป.ก.นครราชสีมา และในประกาศไม่ระบุที่ตั้งของแปลงที่ดิน

คำถามมีว่า พื้นที่ที่ออก ส.ป.ก.ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่มีมากถึง 972 ไร่ครั้งนี้ ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการประกาศในพระราชกฤษฏีกาแล้วหรือไม่?

ถ้ามีพระราชกฤษฎีกา ส.ป.ก.นครราชสีมา ได้รับอนุมัติจากใครให้ได้รับสิทธิในการใช้อำนาจออก ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่ดังกล่าว

เนื่องจากในขั้นตอนปกติ การอนุมัติให้ออก ส.ป.ก.4-01 ได้ ต้องเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินส่วนกลาง ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานเพื่อพิจารณาอนุมัติ

ตามหลักฐาน การออก ส.ป.ก.4-01 มีขึ้นในเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 ผู้เซ็นอนุมัติเป็น ส.ป.ก.นครราชสีมา

จึงเกิดคำถามตามมา เหตุใด ส.ป.ก.นครราชสีมาจึงเซ็นอนุมัติออก ส.ป.ก.4-01 หรือเพราะพิจารณาแล้วเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย?

 

ไปไล่ดูประเด็นนี้ พบว่า มีการออกคำสั่งให้อำนาจปฏิรูปที่ดินจังหวัด อนุมัติจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ได้ เป็นการโอนอำนาจของเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดตามระเบียบปฏิรูปที่ดิน

เหตุผลที่ ลขาธิการ ส.ป.ก.โอนอำนาจการอนุมัติจัดสรรให้กับปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นเพราะคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินส่วนกลาง จัดประชุมปีละไม่กี่ครั้ง ถ้ารอพิจารณาอนุมัติ การจัดสรรที่ดินและการออก ส.ป.ก.4-01 จะเป็นไปด้วยความล่าช้า

ข้ออ้างนี้เท่ากับว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินส่วนกลาง ไม่รับผิดชอบในหน้าที่และปัดความรับผิดชอบโดยไม่รู้ไม่เห็นกับการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ที่เป็นประเด็นปัญหา

เช่นเดียวกัน เลขาธิการ ส.ป.ก.โบ้ยความผิดออกจากตัวได้ด้วยการอ้างว่าได้ให้อำนาจ ส.ป.ก.นครราชสีมาไปแล้ว เพราะฉะนั้น การมอบสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่บ้านเหวปลากั้งจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินส่วนกลางไปทำไม ยุบเสียเลยซะดีกว่ามั้ง ไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินงบประมาณ

 

มีคำถามต่อว่า ทำไม ส.ป.ก.นครราชสีมาอนุมัติออก ส.ป.ก.4-01 เฉพาะเจาะจงกลางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ใช้หลักเกณฑ์อะไร เพราะเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบพบหลักฐานการปักหมุด ส.ป.ก.และป้ายประกาศแสดงการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน

ตามข่าวแจ้งอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งย้าย ส.ป.ก.นครราชสีมาและเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา รวม 6 คนไปประจำการที่สำนักงานส่วนกลาง

ตามสัญชาตญาณนักข่าว ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า คำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.มีข้อบ่งชี้พิรุธการออก ส.ป.ก.4-01 ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนข้อกฎหมาย เพราะหลังจากนั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งสำนักงาน ส.ป.ก.ให้ยกเลิกเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดทุกแปลงที่เป็นปัญหา

เอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ คุณชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร บอกว่ามีอยู่ราวๆ 205,000 ไร่ ทับซ้อนพื้นที่อุทยานฯ 142 แห่ง เฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี มีประมาณ 7 หมื่นไร่

ประเด็นที่ต้องตามต่อว่า หลังจากนี้ รัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน จะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติแค่ไหน เพราะมีโจทย์ที่จะต้องแก้โผล่ออกมาแล้ว

 

ถ้าให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ นายกฯ เศรษฐาต้องเรียกทั้ง รมว.เกษตรฯ รมว.ทรัพยากรฯ มาร่วมกันตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กว่า 900 ไร่แล้ว และพื้นที่ ส.ป.ก.ทับซ้อนกับเขตอุทยานฯ อีก 2 แสนไร่

ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องกำหนดเวลาในการตรวจสอบให้ชัดและต้องมีคำตอบต่อประชาชนว่าจะยึดคืนเป็นที่ดินของรัฐและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่ความสมบูรณ์เมื่อใด

ส่วนการลุยปราบแก๊งสวมสิทธิ “ส.ป.ก.” ที่ยึดป่าของชาติมาเป็นสมบัติส่วนตัวต้องทำให้เห็น-อย่าให้คนผิดลอยนวล •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]