มติมหาชน สะท้อนภูมิศาสตร์การเมืองใหม่

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

มติมหาชน

สะท้อนภูมิศาสตร์การเมืองใหม่

 

ในเมียนมา

หลายฝ่ายเฝ้ามองสงครามกลางเมืองในเมียนมาด้วยความห่วงใหญ่ 3 ปีของการรัฐประหารนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมที่เด็ก ผู้หญิง คนแก่ไม่ว่าคนเบอมา (Bamar)1 หรือชาติพันธุ์อื่นๆ ล้มตาย พิการ อดอยาก ล้มป่วย หนีภัยสงครามที่เกิดจากการใช้อาวุธ ปืนใหญ่ ทิ้งระเบิดโดยเครื่องบิน เผาทำลายบ้านเรือน ทำร้าย กวาดต้อนไปที่ต่างๆ อย่างไร้เป้าหมายและอนาคต

แน่นอนประวัติศาสตร์ของเมียนมานับเป็นประวัติศาสตร์แห่งสงครามระหว่างคนเบอมาที่เป็นรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธ์มายาวนาน แม้มีการพูดคุยทางการเมือง การเจรจายุติสงครามเพื่อให้เกิดสันติภาพหลายครั้งแต่ไม่คงทน ในที่สุดล้มเหลว

อย่างไรก็ตาม สงครามกลางเมืองครั้งล่าสุดนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ดูแล้วเป็นสงครามกลางเมืองรุนแรง โหดร้าย การยุติสงครามเพื่อสันติภาพจึงแทบเป็นไปไม่ได้

แน่นอนมีงานประพันธ์เป็นภาษาต่างประเทศและภาษาไทยมากมายที่กล่าวถึง ที่มาและสาเหตุของสงครามกลางเมือง

อีกทั้งยังมีงานประพันธ์ว่าด้วยบทบาทของชาติมหาอำนาจอันสร้างความซับซ้อนให้กับสงครามกลางเมืองครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยมีใครเรียนรู้และพยายามทำความเข้าใจความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้คนในเมียนมามากนัก รวมทั้งมติมหาชน (public opinion) ของผู้คนฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา

ความจริงการศึกษามติมหาชนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ในสังคมเปิดทั่วไปการศึกษาด้านมติมหาชนก็มีข้อจำกัด แล้วท่ามกลางสงครามกลางเมืองความยากในการค้นคว้าและแสวงหามติมหาชนก็ยิ่งยุ่งยาก

อย่างไรก็ตาม สถาบัน US International of Peace เพิ่งเผยแพร่รายงาน2 มีข้อมูล3 และข้อชี้แนะน่าสนใจสำหรับผมเองอย่างมาก ขอสรุปและให้ความคิดเห็นของผมเองลงไปด้วยดังนี้

 

มติมหาชนในเมียนมา

รายงานสรุป 5 ประเด็นหลักดังนี้

1. มีการสนับสนุนเข้มแข็งและกว้างขวางต่อรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government-NUG) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านและเป็นรัฐบาลเงา เกือบ 92% ของผู้ตอบคำถาม (รวม 93% ของคนเบอมา และ 91% ของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์) รู้สึกชอบมาก ต่อ NUG เปรียบเทียบการสนับสนุนมากจากภายในเมียนมาและคนย้ายถิ่น

การสนับสนุนแปลงเป็นการกระทำต่อ NUG คือ 26% บริจาคเงินเพื่อต่อต้านและความพยายามด้านมนุษยธรรม มีข้อมูลคนที่ไม่ชอบ NUG อยู่ 8%

สรุป ความชอบมาก สะท้อนการคัดค้านของประชาชนต่อรัฐบาลทหาร

2. ความชอบ NUG ยังมีมากด้วยในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นองค์กรติดอาวุธที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับ NUG บางองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ได้ร่วมต่อสู้กับ NUG แต่จำนวนมากก็ไม่ได้ร่วม

ผมมีความสนใจเป็นพิเศษเมื่อรู้ว่า กลุ่มสนับสนุน NUG เป็นกลุ่มใหญ่มากที่ตอบคำถามการสำรวจมาจากชุมชนชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ซึ่งอยู่ตรงกลางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเมียนมา กองทหารอาระกัน สาบานสร้างอธิปไตยชาติอาระกัน

ผู้ตอบคำถามการสำรวจในรัฐยะไข่เหมือนคนอื่นๆ ในรัฐฉิน (Chin) คะฉิ่น (Kachin) และคะเรนนี่ (Karenni) คือยังให้เงินสนับสนุนกับ NUG ด้วย

3. อัตลักษณ์ (identity) ชาติพันธุ์ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก

น่าสนใจมากข้อสรุปนี้ สะท้อนบทบาทอันทรงพลังในประวัติศาสตร์ของอัตลักษณ์ชาตินิยมที่จัดรูป (shaping) การเมืองเมียนมา

ปรากฏว่า 83% ของผู้ตอบคำถามให้ความสำคัญมากต่ออัตลักษณ์ของพวกเขา

ในบางกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ฉิน คะฉิ่นและกะเหรี่ยงมีจำนวน 90% ยืนยันเช่นนี้

เรื่องนี้สำคัญมาก งานประพันธ์เรื่อง ชาตินิยม ทั้งหลายมักคาดว่า ชาติพันธุ์และความเป็นชาติรวมกันอย่างสมบูรณ์กับอีกอันชาติพันธุ์หนึ่ง

มีจำนวน 77.3% ของผู้ตอบคำถามอธิบายความสำคัญของอัตลักษณ์เบอมาของพวกเขา เป็นเท่ากับหรือใหญ่กว่าอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของพวกเขา

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยผูกติดอย่างแข็งแรงต่อชุมชนชาติพันธุ์ของพวกเขาและผูกติดชาติพันธุ์เบอมาด้วย

คำตอบนี้ชี้แนะว่า อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในการเมืองเมียนมาไม่จำเป็นแบ่งแยก

4. พลเมือง (citizen) ของชนกลุ่มน้อยทั้งหมด ปฏิเสธการแตกแยก ภูมิทัศน์การเมืองแตกแยกทางชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากชื่นชอบ NUG มากกว่าองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ของตัวเอง

ไม่ต้องประหลาดใจ บรรดาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ติดอาวุธ รวมทั้งคนจีนและคนอินเดียคิดเหมือนกัน มีเพียง 12 % ของผู้ตอบคำถามชอบองค์กรติดอาวุธมากกว่า

NUG นี่เองคือ การประกาศอย่างกว้างขวางของพลเรือนชนกลุ่มน้อยทั้งหมดเพื่อ รวมกัน มากกว่าภูมิทัศน์การเมืองแตกแยกทางชาติพันธุ์

5. ความเสี่ยงทางการเมือง คนเบอมาเห็นว่า NUG เป็นองค์กรที่ครอบงำโดยคนเบอมา ในกลุ่มคนเบอมาความสำคัญของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของพวกเขาเพิ่มขึ้นและการสนับสนุน NUG ก็เพิ่มขึ้นด้วย

 

ผลของมติมหาชนต่ออนาคตของเมียนมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อ NUG ทั่วทุกส่วนของสังคมเมียนมา ชี้แนะถึงศักยภาพของ NUG และผู้ประสบความสำเร็จคนไหนๆ ก็ทำกระบวนการสร้างใหม่ให้เมียนมาเป็น รัฐชาติพหุชาติพันธุ์ (Multiethnic nation-state)

อย่างไรก็ตาม เสียงดังก้อง นี้ไม่สามารถเปลี่ยนเมียนมาเป็นประชาธิปไตยสหพันธรัฐ (federal democracy)

ด้วยเหตุนี้เอง จะเรียกร้องให้ NUG และองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ผูกพันกับการพูดคุยทางการเมือง และผูกพันกับความร่วมมือกัน

ขณะนี้ความร่วมมือทางทหารชัดเจนระหว่าง NUG กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ แต่มีความร่วมมือทางการเมืองมีน้อยมาก มีความร่วมมือทางการเมืองแค่ 4 กลุ่มคือ Chin Nation Front, Kachin Independence Organization, Karen National Union และ Karenni Progressive Party เท่านั้น

การพูดคุยทางการเมืองระหว่างกลุ่มหลักมีความสำคัญ ตอนนี้พวกเขาสร้างความได้เปรียบทางทหารได้ทั่วประเทศเมียนมา แล้วกำลังทำให้รัฐบาลทหารล่มสลายมากกว่าแต่ก่อน ความตกลงจัดการทางการเมืองหลังสงครามระหว่าง NUG กับกลุ่มต่อต้านกลุ่มต่างๆ จำเป็นเพื่อให้แน่ใจต่อเสถียรภาพของอนาคตประเทศเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ชนกลุ่มน้อยยังคงมีความกังวลอยู่คือ รัฐบาลที่ถูกยึดครองโดยคนเบอมา และเหตุการณ์นี้ NUG ก็ถูกมองจากหลายฝ่ายว่าคนเบอมายึดครอง NUG หมายความว่า NUG ควรประเมินอย่างเร่งด่วน แล้วสร้าง ความไว้วางใจ ขึ้นอย่างไรกับชุมชนเหล่านี้และบรรลุผลประโยชน์ของพวกเขาด้วย

 

สรุป

3 ปีหลังรัฐประหาร พาราไดม์ทางการเมืองใหม่ในเมียนมา ไม่ได้ เป็น ความฝันยากที่จะหาได้ อีกต่อไปแล้ว

การกระทำแน่วแน่จาก NUG และองค์กรติดอาวุธกลุ่มต่างๆ สามารถนำพาประเทศเมียนมาเข้าใกล้เสถียรภาพและมีเส้นทางชัดเจนสู่สันติภาพที่ทนทานแล้ว

แนวรบตะวันตกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

1นี่คือชื่อเรียกคนดั้งเดิมชาวพม่าในภาษาอังกฤษและในทางการ

2เรื่อง “Myanmar : New Data Show Wide Support for Unity Government” 29 February 2024 ซึ่งเตรียมการก่อนครบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา

3ระเบียบวิธีวิจัยนี้ใช้ ตัวอย่างทางออนไลน์ (online sample) แบบหน่วยวิจัย Pew Research Center