40 ปี มรณกรรมของสุวรรณี สุคนธา และการอ่านเรื่องสั้น ‘ไม่มีวันพรุ่งนี้ได้ไหม’

บทความพิเศษ | ชาคริต แก้วทันคำ

 

40 ปี มรณกรรมของสุวรรณี สุคนธา

และการอ่านเรื่องสั้น ‘ไม่มีวันพรุ่งนี้ได้ไหม’

 

3 กุมภาพันธ์ 2527 สุวรรณี สุคนธา ถูกฆาตกรรม เป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ สร้างความตกใจและเสียใจแก่นักอ่าน เพราะสุวรรณี สุคนธา นามปากกาของสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง เป็นนักเขียนสตรีผู้มีผลงานเรื่องสั้นและนวนิยาย เช่น เขาชื่อกานต์ พระจันทร์สีน้ำเงิน คนเริงเมือง ทองประกายแสด เก้าอี้ขาวในห้องแดง ทะเลฤๅอิ่ม พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ ความรักครั้งสุดท้าย คืนนี้ไม่มีพระจันทร์ ซึ่งบางเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์

“จดหมายถึงปุก” เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ลงพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร (2508) ต่อด้วยนวนิยายเรื่องแรก “เขาชื่อกานต์” (2512) ซึ่งทั้งสองเรื่องมีเนื้อหาสะท้อนชีวิตของผู้หญิงกับเรื่องศิลปะ

บทความนี้เขียนเพื่อรำลึกถึงนักเขียนผู้ล่วงลับ ด้วยการศึกษาเรื่องสั้น “ไม่มีพรุ่งนี้ได้ไหม” ของเธอ พิมพ์ในรวมเรื่องสั้น “ดอกรักบานสาย” โดยสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม

เรื่องสั้น “ไม่มีพรุ่งนี้ได้ไหม” ให้ “ออน” หรือสรรพนามบุรุษที่สามเป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งมีความซื่อใสไร้เดียงสาต่อความคิดเรื่องรองเท้า ซึ่งกลายเป็นปัญหาต่อการเรียน

เธอเป็นลูกชาวนาและไปเรียนในเมือง แต่ไม่มีรองเท้าใส่ ทั้งๆ ที่สมัยนั้นออนจะไม่ใส่รองเท้ามาโรงเรียนก็ได้ แต่ครูบอกว่า “ไม่ใส่รองเท้าไม่มีวัฒนธรรม” เธอจึงสงสัยและเกิดคำถาม

แล้วพ่อก็พาออนเข้าเมืองไปซื้อเชื่อรองเท้ากับกระเป๋านักเรียน เมื่อได้รองเท้ามาสวม เธอรู้สึกทรมานจนต้องถอดและเดินเท้าเปล่าไป ค่อยใส่ตรงหน้าโรงเรียนตอนเช้า และถอดหน้าโรงเรียนตอนเย็น

เมื่อครูบอก

“ไม่ใส่รองเท้าไม่มีวัฒนธรรม”

และ ทำไมคริส แม็คแคนด์เลส

“ถอดถุงเท้าออกทันทีหลังเลิกงาน”

“แล้วอะไรก็ดูแพงไปเสียหมด ค่าสมุด ดินสอ ค่าเสื้อผ้า รองเท้า ที่จริงออนจะไม่ใส่รองเท้ามาเรียนก็ได้ แต่ครูเขาว่า… เขาบอกว่าไม่ใส่รองเท้าไม่มีวัฒนธรรม ไอ้คำว่าวัฒนธรรมนี้มันคืออะไรแน่นะ ถ้าไปเล่าให้คนท้องนาเขาฟัง เขาคงหัวเราะกันแน่…” (น.47)

ครูหรือโรงเรียนไม่มีกฎหรือข้อบังคับ “ออนจะไม่ใส่รองเท้ามาเรียนก็ได้” เมื่อดูบริบทสังคมสมัยนั้น สุวรรณีเขียนเรื่องสั้นนี้และตีพิมพ์ในนิตยสารบีอาร์ ปี 2515 แต่ครูบอกว่า “ไม่ใส่รองเท้าไม่มีวัฒนธรรม” จึงกลายเป็นค่านิยมที่ครูยกเป็นข้ออ้าง ปราศจากคำอธิบาย ทำให้ออนซึ่งเป็นเด็กชนบทคนเดียวในหมู่บ้านท้องนาที่มาเรียนในเมือง เมื่อเข้าสังคมเมืองก็ควรใส่รองเท้า เพราะ “มันฟังดูโก้” ซึ่งอาจเป็นสมัยนิยม และบ่งบอกถึงแฟชั่น หรือคนมีการศึกษาที่เข้ามาเรียนในเมืองต้องใส่รองเท้าเดิน

แต่ออนกลับรู้สึกว่าฝ่าตีนเธอหนาพอ เหยียบอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นกอหนาม ดินแตกระแหง หรือโคลน เพราะเธอเป็นคนชนบท เป็นลูกชาวนาที่มีวิถีการเดินด้วยเท้าเปล่า

เท้าของออนจึงเท่ากับมีเสรีภาพที่จะเดินย่ำ ก้าวย่างอย่างอิสระ ไม่ต้องถูกถุงเท้า รองเท้ามาสวมครอบ กักขังหรือปิดกั้นการกระดิกนิ้วเท้าหรืออากาศหายใจ

เมื่อพ่อซื้อเชื่อรองเท้าจากร้านค้าในเมืองให้ออน มันทำให้เธอเสียใจที่ใส่รองเท้าแล้วทรมานด้วยความไม่คุ้นเคย

สงสารพ่อที่ต้องซื้อเชื่อ และโกรธครูที่ทำให้เธอต้องแบกรับคำว่า “ไม่มีวัฒนธรรม” และ “เพื่อให้เหมือนกับเพื่อนๆ”

แสดงว่าออนอยู่ท่ามกลางความแตกต่างในสังคม อีกอย่างคำว่า “ไม่ใส่รองเท้าไม่มีวัฒนธรรม” ยังอาจตีความได้จากสายตาของครูหรือคนเมืองที่มองออนหรือคนชนบทในเชิงหมิ่นแคลน

แต่พอเธอใส่มันไปโรงเรียน กลับไม่มีใครมองว่าออนมีรองเท้าใส่กับเขาแล้วด้วยซ้ำ มันจึงแสดงให้เห็นว่าเธอเป็น “พวกเดียวกัน” หรือ “เหมือนกับเพื่อนๆ” แล้ว กลายเป็นคนมีวัฒนธรรมในสังคมที่ยอมรับการใส่รองเท้า

 

ดังนั้น ชนบทกับเมืองที่ถูกคั่นด้วยท้องนากับถนน จึงสะท้อนภาพเปรียบของมิติสถานที่ให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างทางเดินของคนชนบท กับถนน ตึกและรถยนต์ที่แทนความสะดวกสบายหรือความเจริญของเมือง อีกทั้งเรื่องการแต่งกายที่แม้ไม่มีกฎหรือข้อบังคับ แต่มันเป็นค่านิยมที่ออนต้อง “เข้าเมืองตาหลิ่ว” จะได้ไม่แปลกแยกหรือถูกมองเป็นคนบ้านนอก ซึ่งเป็นการแบ่งชนชั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงการใส่รองเท้าจะขัดกับความรู้สึกของออน เพราะปกติไม่เคยใส่ ถนัดเดินเท้าเปล่า เธอจึงถอดและหิ้วมันไป ก่อนจะใส่หน้าโรงเรียนในตอนเช้า เท่ากับออนเปลี่ยนสถานะจากคนบ้านนอกเป็นคนเมืองผู้มีวัฒนธรรม และถอดหน้าโรงเรียนในตอนเย็น เพื่อเดินเท้าเปล่ากลับไปสู่สถานะคนชนบท ซึ่งสุวรรณีเขียนเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพ เป็นการเสียดสีแนวคิดของคำว่าวัฒนธรรม ความเจริญ มีการศึกษา ระหว่างครู-นักเรียน คนชนบท-คนเมือง

โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่ออนมองว่าจำกัดเสรีภาพในการเดินระหว่างเปลี่ยนคาบเรียนด้วย เพราะ “ต้องทรมาน หิ้วมันทั้งเช้าเย็น ไม่รู้ว่าวันหนึ่งเพื่อนจะมาเห็นและคงหัวเราะ”

สุวรรณีถ่ายทอดอารมณ์ขันขื่น จากมุมมองการใส่รองเท้าของนักเรียนคนหนึ่ง ที่มีก็ดี แต่ไม่มีน่าจะดีกว่า เพราะ “ออนนึกอยากจะถอดรองเท้าขว้างทิ้งเสียเดี๋ยวนี้… ถ้า… ถ้าออนมีพ่อที่รวย” (น.49)

 

ประเด็นเรื่องการใส่รองเท้าที่สุวรรณี สุคนธานำเสนอ ทำให้นึกถึงฉากหนึ่งในนวนิยายเรื่อง Into the wild หรือ “เข้าป่าหาชีวิต” ของจอน คราคาวเออร์ ที่คริส แม็คแคนด์เลส ตัวละครเอกของเรื่องออกเดินทางแสวงหาตัวตนหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย

และช่วงหนึ่งได้เข้าไปทำงานที่ร้านแมคโดนัลด์ แต่เขา “ไม่ชอบใส่ถุงเท้า” เพราะ “แมคโดนัลด์มีกฎว่าพนักงานต้องสวมใส่เครื่องแต่งกายสำหรับเท้าอย่างเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา นั่นคือต้องสวมทั้งรองเท้า และ ถุงเท้า” (น.55)

คริสทำตามกฎ แต่ทุกครั้งหลังเลิกงาน “สิ่งที่เขาทำเป็นอย่างแรกคือการถอดถุงเท้าออก”

ซึ่งเพื่อนร่วมงานตั้งข้อสงสัยว่า “เหมือนเป็นการประกาศให้รู้ว่าเราไม่ใช่เจ้าของเขา” (น.56)

ทั้งนี้ ไม่ว่ารองเท้าหรือถุงเท้า ล้วนสวมครอบนิ้วเท้าและเท้า นอกจากจะสร้างความอึดอัดแล้ว มันยังจำกัดเสรีภาพในเชิงเปรียบเทียบที่ทำให้เท้าหรือนิ้วเท้าไม่ได้หายใจ อยู่ในพื้นที่คับแคบและบีบรัด เพราะเท้าเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ใช้รองรับน้ำหนักในการยืน เดิน วิ่ง

ดังนั้น สิ่งที่ออนกับคริสรู้สึกร่วมล้วนเกิดจากเครื่องแบบ คือรองเท้าและถุงเท้าได้สร้างความทุกข์และความเจ็บปวดทั้งในการเรียนและทำงานให้กับพวกเขานั่นเอง

 

“ไม่มีพรุ่งนี้ได้ไหม”

ในวันเปิดเทอม

ในเรื่องสั้น “ไม่มีพรุ่งนี้ได้ไหม” ของสุวรรณี สุคนธา การถอดรองเท้าเข้าออกโรงเรียนของออน มันแสดงความเปิ่นที่เป็นภาพแทนความซื่อบริสุทธิ์ของคนชนบท แม้ระหว่างทางไปโรงเรียนเธอจะไม่ใส่รองเท้า เพราะ “เริ่มเจ็บมากตรงส้น ข้อนิ้ว จวนเจียนจะเดินต่อไปไม่ไหว” (น.49)

การเดินเท้าเปล่าอย่างอิสระ ซึ่งคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทาง แต่ปัญหาใหญ่ของออนอยู่ที่การต้องใส่รองเท้าเดินตอนเปลี่ยนคาบเรียน มันส่งผลต่อการเรียน เมื่อ “เวลานี้รู้สึกว่ารองเท้ามันใหญ่กว่าหัวของออนด้วยซ้ำไป ใหญ่กว่าตัวออนอีกด้วย” (น.51)

เมื่อสมาธิของออนไม่ได้จดจ่อที่การเรียน อุปสรรคเรื่องเท้าจึงทำให้เธอเริ่มเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง เป็นการเปรียบเทียบเท้าที่ถูกห่อหุ้มด้วยรองเท้า กับการถูกจำกัดอิสระทางความคิดจากคำว่า “วัฒนธรรม”

อาจเพราะคนชนบทสมัยนั้นมักเดินด้วยเท้าเปล่า เคยอิสรเสรี เมื่อเข้าสังคมเมืองแล้วต้องมีวัฒนธรรม ทำให้ออนยากที่จะปรับตัว อยู่ผิดที่ผิดทาง ไม่อยากถูกควบคุมให้อยู่ในกรอบเหมือนคนอื่นโดยทันที

เช่นเดียวกับคริสที่ทนอยู่กับระบบการศึกษาจนจบมหาวิทยาลัย และความเข้มงวดของพ่อ สิ่งนี้ทำให้เขาอยากหลีกหนีจากกรอบที่ครอบครัวหรือสังคมวางไว้ แต่เมื่อไปทำงานที่แมคโดนัลด์ เขาก็ต้องยอมรับกับกฎระเบียบ ซึ่งมันกดดันเขา และการยุ่งวุ่นวายเรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับกลิ่นตัวและการอาบน้ำ

สุดท้ายคริสจึงต้องออกจากงานและกลายเป็นคนเร่ร่อนอีกครั้ง

 

เรื่องสั้น “ไม่มีพรุ่งนี้ได้ไหม” ของสุวรรณี สุคนธา นอกจากจะบอกเล่าความรู้สึกเบื้องลึกของออนแล้ว เธอไม่ควรถูกคำว่า “วัฒนธรรม” กดทับจนเกิดความลำบากในชีวิตการเรียน เพราะว่า วัฒนธรรม “เป็นคำที่ยาก พูดยาก พูดออกมาแล้วฟังไม่รู้เรื่อง”

สุวรรณีต้องการเสียดสีการรับเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตก เพื่อนำชาติ (นิยม) ไปสู่ความเจริญ ทั้งๆ ที่การใส่หรือไม่ใส่รองเท้าในสมัยนั้นไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน เพราะใครต่างก็ไม่รู้ว่า “ไอ้คำว่าวัฒนธรรมนี้มันคืออะไรกันแน่”

ตกลงการเรียนหนังสือในเมืองเน้นที่ผู้เรียนหรือเครื่องแบบเป็นสำคัญ จึงเห็นถึงความย้อนแย้งแบบ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” นอกจากจะมีแต่ข้อเสียตามมุมมองของออน อีกทั้งพ่อต้องเป็นหนี้ค่ารองเท้าแล้ว พอมีรองเท้าเหมือนกับเพื่อนๆ ออนกลับไม่อยากใส่มัน จน “ออนไม่อยากให้ถึงวันพรุ่งนี้อีกเลย ไม่อยากให้มีอีกต่อไป แต่มันก็จะต้องมาถึงจนได้” (น.52)

กลายเป็นความอึดอัดของออน นักเรียนชนบทในสมัยนั้น ซึ่งต้องการแสดงออกถึงปัญหาสุขภาพเท้า ที่อาจไม่มีใครรู้หรือรับฟัง เมื่อมันทำให้เธอ “ตีนเหมือนโตเท่ากระบุง เมื่อนึกว่าประเดี๋ยวก็จะต้องเดินอีกแล้ว” (น.51-52) และยังแฝงนัยถึงสิทธิเสรีภาพที่ถูก “วัฒนธรรม” หรือ “เพราะมันฟังโก้ดี” ริบไปด้วย

เช่นเดียวกับคริส แม็คแคนด์เลส ที่พอ “หมดกะปุ๊บ ปัง – อย่างแรกที่เขาทำคือถอดถุงเท้า” (น.56)

บรรณานุกรม

จอน คราคาวเออร์. (2567). เข้าป่าหาชีวิต [Into the wild]. ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ (ผู้แปล). กรุงเทพฯ : Z-Book, 55-56.

สุวรรณี สุคนธา (นามแฝง). (2555). “ไม่มีพรุ่งนี้ได้ไหม”. ใน ดอกรักบานสาย. กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 45-52.