ตัวเลือกหลักของ ‘ฝ่ายขวา’

ตัวเลือกหลักของ ‘ฝ่ายขวา’

ในบรรยากาศที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าอยู่ในช่วงนับถอยหลัง “ยุบพรรคก้าวไกล” รวมถึงอาจจะมีการตัดสิทธิ์นักการเมืองของพรรคก้าวไกลอีกชุดใหญ่

ในบรรยากาศที่การบริหารจัดการอำนาจของฝั่ง “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน-เพื่อไทย” แลดูลักลั่น กำกวม อีหลักอีเหลื่อ ไม่ลงตัว เพราะมีหลายศูนย์อำนาจฉายแสงประชันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” ย้ายไปพักอาศัยอยู่ที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า”

ถ้าหากใครติดตามการต่อสู้ทางการเมืองในพื้นที่ทางการอย่าง “สภาผู้แทนราษฎร” โดยละเอียด จะพบว่าบทบาทของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” กำลังเปล่งประกายโดดเด่นขึ้นมา

เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติที่พ่ายแพ้อย่างยับเยิน และส่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีไม่สำเร็จ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 นั่นแหละ

 

การแสดงบทบาทอะไรบ้าง? ที่ทำให้รวมไทยสร้างชาติกลายเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่น่าจับตา ณ ปัจจุบัน

เริ่มต้นจากการพิจารณาญัตติด่วน กรณีการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ เมื่อราวสองสัปดาห์ก่อน ที่ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกับ “อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นหนึ่งในผู้เสนอญัตติ

ส.ส.รุ่นใหม่จากรวมไทยสร้างชาติอภิปรายโดยเน้นน้ำหนักในเรื่องการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ไม่ได้พยายาม “ปั่น” ให้กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่กี่วันกลายเป็นเชื้อมูลของความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองรอบใหม่ หรือมิได้จงใจผลักดันให้เนื้อหาการอภิปรายกลืนกลายไปกับ “กระแสสีเสื้อ” ที่มีผู้คนบางกลุ่มพยายามปลุกฟื้นขึ้นมา ณ ห้วงเวลานั้น

ราวกับว่าพรรครวมไทยสร้างชาติกำลังจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองเป็น “พรรคการเมืองขวาใหม่” แล้วปล่อยให้เพื่อน ส.ส. จาก “พรรคภูมิใจไทย” รวมถึง “พรรคเพื่อไทย” บางส่วนที่ลุกขึ้นอภิปราย เล่นบท “ขวาเก่า” หรือ “ขวาจัด” กันไป

“อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ

ประเด็นร้อนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับญัตติขบวนเสด็จฯ คือความขัดแย้งระหว่าง “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รมช.มหาดไทย และ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กับ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง และ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย

เพราะชาดาไม่พอใจที่รองประธานสภาจากพรรคร่วมรัฐบาล ปล่อยให้ “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.ก้าวไกล นำรูปภาพที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งถ่ายคู่กับตนเอง ไปใช้ประกอบการอภิปรายในญัตติดังกล่าว

เรื่องที่คอการเมืองแปลกใจ ก็คือ ทำไม ส.ส.เพื่อไทย ที่มีอยู่เป็นร้อยคนในสภา ถึงยอมปล่อยให้รองประธานสภาในโควต้าพรรคตัวเอง โดนรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลรุกไล่จนเสียกระบวนขนาดนั้น โดยไม่มีใครยกมือขึ้นประท้วงเพื่อปราม “เพื่อนร่วมฝั่ง” หรือผ่อนคลายบรรเทาสถานการณ์ให้ร้อนระอุน้อยลง

นักการเมืองฝั่งรัฐบาลรายแรกที่ออกมาให้ข่าว “แก้ไขสถานการณ์-ช่วยเหลือรองพิเชษฐ์” ได้อย่างน่าสนใจและมีกึ๋น กลับกลายเป็นอัครเดช (คนเดิม) จากรวมไทยสร้างชาติ ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า คนที่ต้องรับผิดชอบต่อกรณีนี้จริงๆ คือ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” รองประธานสภาคนที่หนึ่งจากพรรคเป็นธรรม ซึ่งเคยสังกัดพรรคก้าวไกล ที่วินิจฉัยให้ ส.ส.สามารถอภิปรายญัตติขบวนเสด็จฯ นอกเหนือจากประเด็นการถวายความปลอดภัยได้

(นำมาสู่การปะทะคารมระหว่างหมออ๋อง-ปดิพัทธ์ กับอัครเดช ในการประชุมสภาสัปดาห์ถัดมา ซึ่งทำให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงทั้ง “ความนิ่ง” ของรองประธานสภา จากพิษณุโลก และ “ความเขี้ยวลากดิน” ของ ส.ส.ราชบุรี ที่ต่างเป็น ส.ส.หนุ่มสองสมัยเหมือนกัน)

 

ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองรวมทั้งสิ้นห้าฉบับ

แม้ในเชิงคะแนนเสียง ส.ส.ส่วนใหญ่จะลงมติรับหลักการของร่างกฎหมายทั้งหมดในวาระแรก แต่ที่ชวนสะดุดใจ คือ จุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งแสดงออกผ่าน “มวยหลักในสภา” อย่างอัครเดช ที่ลุกขึ้นคัดค้านร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลแบบตรงไปตรงมา

ด้วยการให้เหตุผลว่าเพราะร่างกฎหมายของภาคประชาชนและก้าวไกล มีการกล่าวถึง “ชนเผ่าพื้นเมือง” (รวมทั้งมีข้อเสนอเรื่อง “สภาชนเผ่า”) ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นว่า แม้สังคมไทยจะประกอบด้วยผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ทั้งหมดล้วนรวมกันเป็นเผ่าพันธุ์เดียวคือ “เผ่าพันธุ์ไทย”

ดังนั้น แนวคิดเรื่อง “ชนเผ่าพื้นเมือง” จึงอาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

นี่เป็นข้อที่ช่วยยืนยันว่า รวมไทยสร้างชาตินั้นเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบ “ฝ่ายขวา-อนุรักษนิยม” จริงๆ อย่างเป็นระบบระเบียบ

 

ในบริบททางการเมืองร่วมสมัย ที่แม้พรรคก้าวไกลจะถูกยุบ แต่คะแนนนิยมและแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคคงถูกส่งมอบไปยัง “พรรคการเมืองใหม่-รุ่นที่สาม” อย่างไม่น่ามีปัญหา

พรรคเพื่อไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านใหญ่ ที่ยังจัดกระบวนทัพไม่ลงตัวเสียที แถม “จุดขาย-คุณลักษณะดั้งเดิม” คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็จางหายไป

พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคการเมืองเล็กๆ ต่างดำรงตนเป็นนักเลือกตั้งที่มุ่งทำงานในพื้นที่เฉพาะ และตั้งเป้าเป็น “ตัวแปร” มากกว่า “ผู้นำทางการเมือง”

ดูเหมือนพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคล้ายจะหมดพิษสงไปแล้วหลัง “ลุงตู่” วางมือทางการเมือง กลับเล่นเกมทางอุดมการณ์ได้อย่างน่าจับตา และเป็นทางเลือกอันแจ่มชัด ไม่ไขว้เขว ไม่ไหวติง สำหรับพลเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมผู้กระตือรือร้นในประเทศนี้ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน