กำลัง แสวงหา หงุดหงิด และ สับสน สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

กำลัง แสวงหา

หงุดหงิด และ สับสน

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ณ เบื้องหน้า สุจิตต์ วงษ์เทศ มิได้อยู่ที่ “รัฐประหาร” อันเป็น “ปรากฏการณ์” ที่กลายเป็นเหมือน “ขนบ” อย่างหนึ่งของการเมืองไทย

ภายใต้ “ข้ออ้าง” เพื่อหนทางเฉพาะหน้าในการหา “ทางออก”

นั่นก็คือ ออกจากปัญหา ออกจากความขัดแย้ง หากแต่ที่สำคัญวิธีวิทยาว่าด้วย “รัฐประหาร” ก็เป็นภาพสะท้อนที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องและยาวนานในสังคมไทย

ก็เหมือนอย่างที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุ

เขามีประสบการณ์ในเรื่องรัฐประหาร 1 เมื่อเดือนกันยายน 2500 ภายหลังสถานการณ์การเลือกตั้งสกปรก

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม

ต่อมาก็เป็นรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 เหมือนกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะโค่น พล.อ.ถนอม กิตติขจร

แต่แท้จริง คือ การสมรู้ร่วมคิดด้วยความเต็มใจของ พล.อ.ถนอม กิตติขจร

กระนั้น จากรัฐประหารเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ก็เป็นโอกาสอันเหมาะสมที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ นำไปสู่การขบคิดถึงสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในแวดวงการเมืองไทย

ด้วยการตั้ง “คำถาม” และพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะหา “คำตอบ”

 

บรรยากาศ วิพากษ์

ควันความ วิจารณ์

คําตอบเริ่มจากความสงสัยในฐานะนักหนังสือพิมพ์ เริ่มมาจากการมองเข้าไปในความสัมพันธ์ระหว่างนักหนังสือพิมพ์กับนักการเมือง

“บางครั้งหนังสือพิมพ์ก็ไม่มีหลักเกณฑ์ในการวิพากษ์วิจารณ์” คือบทสรุป

“สิ่งที่ข้องใจที่สุดก็คือทำไมจะต้องเอาลักษณะของร่างกายมาพูดจาเสียดสีเยาะเย้ยกันมากจนเกินไป เพราะการที่รัฐมนตรีคนหนึ่งจะพุงโตก็ไม่ได้หมายความว่าเขาทำงานไม่ได้

หนังสือพิมพ์จะไม่ค่อยเน้นในเรื่องหลักเกณฑ์การทำงานอย่างแท้จริง

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะเป็นอย่างนี้ และไม่ได้หมายความว่าทุกเรื่องเขาจะวิจารณ์อย่างนี้ เพียงจะชี้ให้เห็นว่าความจริงของหนังสือพิมพ์เป็นอย่างนี้ด้วย แต่อย่าเหมาว่านี่คือเสียงของนักหนังสือพิมพ์

เป็นความรู้สึกส่วนตนที่ออกจะไม่ใคร่พอใจในสภาพการทำงานอย่างนี้และมีความเห็นใจคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์”

และเมื่อประสบเข้ากับคำถาม “แล้วนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ๆ จะเป็นอย่างไร”

คำตอบจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็คือ “ก็ไม่เลวหรอก แต่ก็ไม่ได้เป็นที่น่าพอใจนัก” อันนำไปสู่คำถามที่คาดคั้นมากยิ่งขึ้น “คุณหมายความว่าอย่างไร ผมไม่เข้าใจ” ความคิดที่กดดันอยู่ภายในของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ปะทุออกมา

สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องอ่าน

 

แมลงวัน ตอม แมลงวัน

แหกขนบ หนังสือพิมพ์

จะหมายความว่าอย่างไรเสียอีกเล่าก็หมายความว่า ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความยึดมั่นถือมั่น ทั้งในอุดมคติของการทำงานและอุดมคติของความเป็น “ตัวกูของกู”

ผมไม่มีสิทธิที่จะคิดเป็นอื่นในเรื่องการทำงานด้วยความสุจริตยุติธรรม แต่ถ้าหากเป็นความเห็นในใจของผม

ผมก็เห็นว่าไม่น่าพอใจ

เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในหนังสือพิมพ์ การที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นตามใจผมคิดอาจจะเป็นเพราะว่านักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่ยังไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

หรือไม่ก็อาวุโสไม่ถึง หรือไม่ก็ฝีมือไม่เข้าขั้น และท้ายที่สุดก็อาจเป็นไปได้ว่าเพราะไปหลงในรอยทางเดิมที่ผมเห็นว่ามันไม่ดี

แต่คุณจะเอาผมเป็นมาตรการไปตำหนิคนอื่นไม่ได้ เพราะผมกำลังจะออกจากความเป็นนักหนังสือพิมพ์ แม้จะรักและชอบอาชีพนี้อยู่มากก็ตาม

แต่ผมทนคติที่ว่า “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน” ไม่ได้

 

ใน ความว่างเปล่า

ของ การมี “ชีวิต”

คําตอบของกูเองก็สามารถทำให้กูเองเสียใจได้เหมือนกัน ความรู้สึกส่วนลึกเตือนตัวเองมาหลายครั้งหลายหนว่าจะต้องเจียมคำพูดและความคิด แต่ก็ไอ้ความรู้สึกส่วนลึกนั่นแหละที่ย้ำออกมาอีกว่า

จะโกหกตัวเองไปทำไม ชีวิตหนึ่งเกิดมาไม่มีอะไร ท่ามกลางความวุ่นวายรอบกายด้วยความลำบากยากแค้น

แต่เติบโตมาจนป่านนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะได้มาเปล่า

ทุกสิ่งทุกอย่างได้มาจากความพยายามและการต่อสู้ ทั้งที่ต่อสู้กับตัวเองและต่อสู้กับผู้อื่น ความทุกข์ยากลำบากก็ผ่านมานักหนา ความสบายก็เคยมีอยู่บ้างเป็นกระสายชีวิต แต่ความสุขที่แท้จริงยังไม่จีรัง

ที่พอจะหาความสุขได้บ้างก็คือการพูดความจริง การเขียนความจริง

แม้บางครั้งจะหลงใหลได้ปลื้ม แต่ก็ยินดีที่ไม่เคยเท็จ เถอะน่า แม้จะหลงเท็จไปบ้างก็ยังรู้ว่านั่นมิได้เป็นสิ่งที่เราปรารถนา ถ้าหากว่ามีโอกาสก็จะแก้เสียว่านั่นเป็นเท็จ หาจริงไม่

มนุษย์ก็มีข้อแก้ตัวให้กับตัวเองมาทุกยุคทุกสมัยโดยเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ชั้นไหน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกวาดถนน ชนชั้นเจ้าของกิจการธุรกิจ

หรือชนชั้นปกครองประเทศก็ตาม

 

อุดมคติ ในตำรา

ความเป็นจริง สังคม

น้อยใจตัวเองอยู่บ้างเหมือนกันที่มิได้เรียนเป็นนักปกครองมา คิดว่าถ้าหากเล่าเรียนมาทางการบ้านการเมืองการปกครอง ชีวิตก็อาจจะเข้าไปมีบทบาทด้านนี้บ้าง

หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะได้มีความรู้ลึกซึ้งพอสมควร

เพราะเหตุที่ไม่มีความรู้พื้นฐานทางด้านนี้เลยการจะมองปัญหาต่างๆ ของโลกของบ้านของเมืองมันจึงตื้นเขินเหมือนคลองหลอดที่โสโครกทับถมทวีคูณเป็นน้ำเน่า

ครั้นเมื่อย้อนคิดไปถึงพวกที่เล่าเรียนทางการเหล่านี้ก็ปลงอนิจจัง

อะไรเป็นสาเหตุทำให้เขาเป็นอย่างนั้น อะไรทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วถึงปานนั้น

ชีวิตนิสิตนักศึกษาตอนที่เขาอยู่กันตามมหาวิทยาลัย เขามีอุดมคติ เขาเรียกร้องอุดมคติ เขาเรียกร้องความบริสุทธิ์ยุติธรรมสำหรับประชาชน แต่ครั้นเขาพากันออกไปเป็นปลัดอำเภอ เป็นนายอำเภอ เป็นนายตำรวจ เป็นนายทหาร และเป็นอะไรต่อมิอะไรที่เขาควรจะเป็นและควรจะมีอำนาจในการบริหาร

เขาก็พากันกลับกลายเป็นไอ้ตัวอะไรตัวหนึ่งที่กดขี่ข่มเหงราษฎร

เขามีรถยนต์ส่วนตัวซึ่งได้มาจากภาษีร้านค้าที่หลบซ่อน สายสร้อยที่แขวนพระเครื่องเส้นนั้นได้มาจากน้ำตาพลเมือง บ้านไม้สักหลังนั้นคือเหงื่อของชาวบ้านที่ไปตัดมันมา ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาด่า ต่อสู้ ประณาม เมื่อตอนเขาเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ครั้นเมื่อเขาจบออกไปเป็นอย่างที่กล่าวมานั้นเขาก็คือคนที่เขาเคยด่ามานั่นเอง

เหมือนถูกสาปจากแม่มดกาลี

 

สงสัย ใน มนุษย์

คำถาม การปฏิวัติ

ไพร่ฟ้าหน้าใสก็หน้าปกอกไหม้ไส้ขมไปตามๆ กัน อุดมคติของอภิสิทธิ์ชนอย่างนิสิตนักศึกษาคิดออกมาในรูปของความจัณฑาล

และถ้าหากกูเรียนมาอย่างนั้นกูแน่ใจหรือว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น

เป็นความผิดพลาดของวิชา หรือความเลวของแต่ละบุคคล ถ้าหากไม่ใช่ความผิดพลาดของวิชาแล้วทำไมมันจึงเป็นกันมาก มนุษย์จะเลวหมดทุกคนหรือ มันจะเป็นไปได้หรือว่ามนุษย์ที่เล่าเรียนกันมาสูงๆ พากันลงเหวแห่งความเลวกันไปเรื่อยๆ

วิชาที่เรียนในมหาวิทยาลัยก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย ถ้าหากวิชาที่เรียนในมหาวิทยาลัยช่วยอะไรไม่ได้แล้วมีวิชาทำไม

ใช่ ที่ว่าอย่างนี้ไม่ใช่ทางแก้ หนทางที่จะแก้ได้ไม่ใช่เลิกการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่จะแก้ไขกันอย่างไร ถ้าหากมนุษย์ยังไม่ซื่อตรงต่อกัน มนุษย์ไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง มนุษย์ไม่ซื่อตรงต่อหลักวิชา และมนุษย์ไม่ซื่อตรงต่อมนุษย์

อย่างที่เรียนปรัชญาของประชาธิปไตยแล้วก็เอาวิชาออกไปกดกบาลชาวบ้าน เพราะฉะนั้น บ้านเมืองจึงจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ด้วยการปฏิวัติ

กูไม่เกลียดการปฏิวัติ กูชักชอบการปฏิวัติ เพราะการปฏิวัติมาจากมนุษย์ เป็นนฤมิตกรรมของมนุษย์อย่างหนึ่ง

ถ้าหากไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีการปฏิวัติ

ถ้าหากมีแต่การปฏิวัติ ไม่มีมนุษย์อื่นในโลกก็คงไม่มีการปฏิวัติ