เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น (ใหญ่) หัดไหว้เจ้า : ส่งเจ้าก่อนตรุษจีน ส่งใคร?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมได้เคยเล่าไว้แล้วว่า คนจีนถือว่าเทพเจ้ามีอยู่สามประเภทใหญ่ๆ

อย่างแรกคือ “เทียนสีน” หรือเทพฟ้า ซึ่งก็คือบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายที่เรากราบไหว้กันครับ ส่วนมากท่านก็สถิตบนฟ้าหรือสวรรค์ ไม่ก็วิมานของแต่ละท่านนั่นแหละ รวมไปถึงดวงดาวและเทหวัตถุต่างๆ บนฝากฟ้าซึ่งถือเป็นเทพเจ้าด้วย

ประเภทที่สองคือ “ฉู่สีน” หรือเทพในบ้าน ซึ่งมักหมายถึงเหล่าบรรพชนหรือวีรชนในอดีต ตามระบบความเชื่อจีนแล้ว พอคนเราตายไปสักพักมีลูกหลานกราบไหว้ทำพิธี ก็จะเลื่อนสถานะเป็นเทพเจ้าหรือที่เรียกว่า “เทพบิดร” ครับ อันนี้ถือว่าเป็นเทพเจ้าประจำบ้านอย่างแท้จริง บ้านใครประดิษฐานกราบไหว้บรรพชนแล้วก็ไม่จำเป็นต้องประดิษฐานเทพเจ้าอื่นๆ ไว้กราบไหว้อีก ถือว่าสมบูรณ์ดีแล้ว

ประเภทสุดท้ายถือ “เต่สีน” หรือเทพดิน หมายถึงบรรดาเจ้าที่เจ้าทางและพลังที่สิงสถิตในพื้นที่ต่างๆ อันมีหลายระดับ เช่นมังกรธรณี ผีบ้านผีเรือน (ตี่จู้เอี๊ยหรือเต่กี้จู้) ไปจนถึงพระภูมิเทวดาองค์ใหญ่อย่าง “ฮกเต็กเจ่งสีน” หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า แปะก๊อง/แปะกงนั่นเองครับ บางท่านก็จัดเอาเทพสายปรโลกหรือสายนรกเช่นตั่วแปะหยี่แปะ หรือบรรดานายนิรยบาลและเทวทูตต่างๆ มาไว้ในหมวดนี้ด้วย

ระบบการเคารพเทพสามประเภทนี้ ที่จริงสะท้อนปรัชญาเรื่อง “ซำจ๋วน” หรือ “ตรีอานุภาพ” ในปรัชญาจีน คืออานุภาพแห่ง “ฟ้า ดิน คน” สามสิ่งนี้เป็นสิ่งเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ฉะนั้น จึงมีทั้งเทพฟ้า เทพดินและเทพคนนั่นเอง

 

ที่ต้องนำเรื่องเทพสามประเภทมากล่าวถึงใหม่ ก็เพื่อจะโยงไปสู่คำถามที่ว่า ตกลงแล้ว เวลาเขาบอกว่า “ส่งเจ้า” ก่อนจะเข้าตรุษจีนนั้น เขาส่งเทพอะไร เจ้าเตาไฟ? ตี่จู้เอี๊ย? หรือเจ้าทุกองค์?

พอจะพูดถึงเรื่องนี้ ผมก็มีความลำบากใจนิดหน่อยครับ เนื่องจากสิ่งที่เขียนอาจขัดกับความเชื่อที่ปฏิบัติกันทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่นับถือ “ตี่จู้เอี๊ย” ซึ่งมีมากต่อมาก ปัจจุบันนี้ผู้คนที่เริ่มสนใจอยากไหว้เจ้าแบบจีนก็มักจะเริ่มจากตี่จู้เอี๊ยก่อน ซึ่งก็มีความเปลี่ยนแปลงทางขนบและความหมายไปมาก

กระนั้น ผมถือว่าตัวเรียนมาแบบนี้ ก็ต้องซื่อสัตย์กับตนเอง บอกอะไรไปตามที่ศึกษามาโดยมิได้มีความมุ่งหมายจะทำให้เกิดวามขัดแย้งหรือความไม่สบายใจใดๆ แก่ใครทั้งนั้น หากท่านมีข้อมูลหรือความรู้ที่ต่างไปก็ขอความกรุณาบอกกล่าวแก่ผมได้ นับเป็นประโยชน์ต่อสติปัญญาของผมเองด้วย

ส่วนการที่ท่านจะเชื่ออย่างไรนั้น ย่อมเป็นสิทธิของท่านเสมอ

 

ตามที่ผมเรียนรู้มา เทพเจ้าที่ขึ้นสวรรค์ไปรายงานความดีชั่วของคนในบ้านในวัน 24 ค่ำ เดือน 12 จีนนั้น คือ “เจ้าเตาไฟ” หรือซูเบ่งเจ้ากุนครับ ในปกรณ์ต่างๆ ของเต๋าแบบชาวบ้านก็กล่าวไว้แบบนี้ และเป็นความเชื่อที่สืบกันมานาน

ธรรมเนียมการส่งและรับเจ้าแต่โบราณมาคือจะเซ่นไหว้ที่เตาไฟของบ้าน หรือหากมีรูปเคารพเจ้าเตาไฟที่ตั๋วหรือแท่นบูชาก็จะเซ่นไหว้ที่นั่นด้วย

อีกอย่างต้องเข้าใจก่อนว่า เจ้าเตาไฟนั้นที่จริงท่านเป็น “เทียนสีน” หรือเทพฟ้า แม้จะอยู่ใกล้ชิดมนุษย์แต่ก็มีศักดิ์สูง ถ้าผมจำไม่ผิด พระนามเต็มของท่านนั้นขึ้นด้วยคำว่า “กิ๊วเที้ยน” ซึ่งหมายถึงสวรรค์เก้าชั้น พระนามนี้บ่งถึงยศศักดิ์เพราะมีเทพไม่กี่องค์ที่ขึ้นด้วยคำนี้ และมีความหมายว่า ท่านสามารถที่จะขึ้นไปสู่สวรรค์ได้ทุกชั้นนั่นเอง

ข้อพิจารณาอีกอย่าง เทวลักษณะของเทวรูป (กิ๊มสีน) เจ้าเตา จะเห็นว่าท่านจะต้องถือไม้ป้านหรือแผ่นไม้สำหรับเข้าเฝ้าไว้ในมือเสมอ แผ่นป้ายไม้นี้มีไว้สำหรับขุนนางใช้ถือเข้าเฝ้าจักรพรรดิโดยเฉพาะ ซึ่งแสดงให้เห็นฐานะและบทบาทของท่านว่ามีหน้าที่เฝ้าโดยตรง

ทว่า เราจะไม่เห็นรูปพระภูมิเทวดาหรือแปะกงถือแผ่นไม้ป้านนี้ แต่จะถือไม้เท้า ก้อนทอง ไม่ก็คทายู่อี่หรือคทาสมปรารถนาเป็นอย่างมาก

แม้เจ้าเตาจะพัฒนาจากการนับถือ “เตาไฟ” ซึ่งเป็นอะไรง่ายๆ ในบ้านคนมาแต่ยุคบรรพกาล แต่เราต้องไม่ลืมว่า การมีเตาไฟในบ้านนั้น คือการแสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ ที่สามารถนำเอา “ไฟ” อันเป็นพลังธรรมชาติมาใช้ในครัวเรือนได้ อาจถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์เลยทีเดียว ในแทบทุกๆ วัฒนธรรมจึงมีเทพเจ้าของไฟในบ้านหรือเตาไฟ อย่างพระอัคนี และเทพีเฮสเทียของกรีกซึ่งยังเชื่อมต่อกับเทพที่สูงขึ้นไปเสมอ

ดังนั้น เจ้าเตาจะมีสถานภาพสูงในวัฒนธรรมจีนก็ไม่แปลก ผิดกับเต่สีนหรือเทพที่เกี่ยวข้องดิน ซึ่งมีลักษณะที่ “ดิบ” กว่ามากๆ เพราะเป็นยังสัมพันธ์กับธรรมชาติดิบๆ โดยตรง

 

เราต้องไม่ลืมอีกอย่างว่า วัฒนธรรมจีนนั้นเอาระบบราชการหรือระบบฐานันดรมาใช้กับเทพเจ้า ฉะนั้นไม่ใช่เทพเจ้าทุกพระองค์จะสามารถขึ้นเฝ้า “ฟ้า” ได้หากฐานันดรไม่ถึงหรือไม่มีหน้าที่ ยิ่งเทพที่เป็นประเภทเต่สีนหรือเทพดิน อันมีลักษณะ “สิงสถิต” ในพื้นที่ก็ยากที่จะขึ้นเฝ้า แม้แต่เทพระดับสูงในประเภทนี้อย่างฮกเต็กเจ้งสีนเองก็ด้วย

ประเด็นอีกอย่าง เต่กี้จู้หรือตี่จู้เอี๊ยมักมีผู้สับสนกับเทพฮกเต็กเจ้งสีนหรือแปะกง/ปุนเถ่าก๊อง เพราะในเมืองไทยผู้ผลิตศาลเอารูปฮกเต็กท่านไปใส่เอาไว้ และทำศาลเสียยังกะวังจนคนสับสนว่าเป็นองค์เดียวกัน แต่เดิมนั้นเต่กี้จู้เขามีเพียงป้ายเขียนชื่อเอาไว้ จะทำศาลก็ทำง่ายๆ ไม่หรูหรา เพราะ “ศักดิ์” ไม่ถึง

ผู้รู้ธรรมเนียมจะทราบว่าเป็นคนละองค์และคนละระดับกัน ดังบ้านเก่าๆ ของคนแต้จิ๋วหลายบ้านตั้งศาลปุนเถ่ากงไว้ด้านบน เขียนว่า สีน (ซิ้งในสำเนียงแต้จิ๋ว) ส่วนตี่จู้เอี๊ยก็อยู่ที่พื้น แยกกันชัดเจน คนฮกเกี้ยนซึ่งนิยมตั้งแท่นบูชาในบ้าน ก็จะวางเทวรูปพระฮกเต็กไว้บนแท่นบูชา ไม่เอาไปไว้ข้างล่างในศาลเต่กี้จู้ เพราะถือว่าคนละระดับเช่นเดียวกัน

 

เรื่องเต่กี้จู้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ไว้ผมจะขอเอาไว้เล่าสักตอนนึงเต็มๆ แต่ที่ศึกษามาท่านว่าเต่กี้จู้นั้นมีศักดิ์เทียบเท่า “ผีเรือน” หรือเจ้าที่เจ้าทางเท่านั้นเอง ต่ำกว่าองค์ฮกเต็กอยู่พอสมควร

ฉะนั้น หากฮกเต็กเจ้งสีนหรือพระภูมิเทวดาที่มีศักดิ์สูงกว่ายังขึ้นเฝ้าได้ยาก ไฉนเต่กี้จู้หรือผีเรือนจะสามารถขึ้นเฝ้าฟ้าได้ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางความเชื่อหรือในทางทฤษฎีเอาเลย

ส่วนเทพเจ้าองค์อื่นๆ จะขึ้นเฝ้าหรือไม่นั้น บางท่านก็ว่า หลายศาลมีธรรมเนียมเก่าๆ ที่จะส่งเทพเจ้าทุกองค์ในศาลไปเข้าเฝ้าองค์จักรพรรดิหยกแห่งสรวงสวรรค์ในช่วงเดียวกัน ทว่า อย่าลืมนะครับว่า เทพส่วนใหญ่ที่ไหว้กันในศาล เป็น “เทียนสีน” หรือเทพสวรรค์อยู่แล้ว

ดังนั้น แม้จะมีศาลมีเทวรูปให้สถิต แต่ตามความเชื่อแล้ว เทพท่านก็ไปๆ มาๆ นะครับ พอเราขึ้นธูปกราบไหว้กล่าวอัญเชิญ ในบทจิ่วหรือบทสวดสรรเสริญมักใช้คำว่า “เสด็จลงมา” ท่านก็ลงมาครั้งหนึ่ง พวกเรียนทางไสยเวทจีนหรือทางฮวดนั้น จึงต้องมีการเสี่ยงทายทุกครั้งเวลาทำพิธีกรรม ว่าเทพที่อัญเชิญได้มายังมณฑลพิธีแล้วหรือไม่โดยการโยนไม้เสี่ยงทายหรือไม้โป้ย

มีเรื่องเล่าตลกๆ ของคุณทวดผมซึ่งเป็นผู้ดูแลศาลเจ้าไต่เต่เอี๋ยในจังหวัดระนอง ว่ากันว่าในบั้นปลายชีวิตท่านติดฝิ่นตามประสาคนจีนยุคนั้น บางครั้งท่านก็ไปนอนสูบฝิ่นในศาลเจ้า ครั้นมีคนมีจะมาขอให้ทำพิธีกรรมให้ ท่านกำลังเพลินๆ ก็เลยกวนเขาไปว่า “ตอนนี้ไต่เต่เอี๋ย (เทพประธาน) ไม่อยู่ ไปธุระที่หงาว (อีกตำบลหนึ่ง)” ผู้ฟังก็ไม่รู้ว่าจะว่าอย่างไร เพราะรู้ว่าเทพท่านไปๆ มาๆ ได้ จึงออกจากศาลไปทั้งงงๆ แบบนั้น

 

ฉะนั้น เทพองค์อื่นๆ ที่เป็นเทียนสีนท่านก็อยู่บนสวรรค์อยู่แล้วครับ ไม่ต้องส่งท่านก็ได้ เพราะท่านก็ไปๆ มาๆ อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ผมคิดว่ามันมีเรื่องจรรยามารยาทของความเป็นคนจีนอยู่ด้วย

กล่าวคือ เวลาที่มีพิธีกรรมใดๆ ก็ตาม การเซ่นไหว้จะต้องมีลักษณะของ “ความเผื่อแผ่” อยู่เสมอ เช่น ไหว้เทพ ก็ต้องมีการตั้งไหว้บรรพชนด้วยโดยอาจมีของไหว้เล็กๆ น้อยๆ ในวันไหว้บรรพชนก็ต้องไหว้เทพ วันแซยิดหรือเทวสมภพของเทพองค์ใด ก็ต้องตั้งไหว้องค์อื่นๆ ด้วยเสมอ

ในเทศกาลต่างๆ เราจึงเห็นคนไหว้ทั้งหิ้งพระพุทธอย่างไทยๆ บรรพชน เทพเจ้า แม่ย่านางรถ เรือ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดที่มีในบ้าน อันนี้เป็นจรรยามารยาทอย่างจีนนั่นเอง

จึงไม่แปลกที่หากมีการไหว้ส่งเจ้าเตาจะตั้งไหว้เทพเจ้าองค์อื่นๆ ทั้งหมดในศาลเจ้าไปด้วย หรือหากมีการไหว้ส่งเจ้าเตาในบ้าน บ้านไหนตั้งเต่กี้จู้ก็จะตั้งไหว้ ครั้นต่อมาธรรมเนียมไหว้เจ้าเตาเลือนหาย เต่กี้จู้กลายเป็นสิริรวมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดในบ้าน คนจึงตั้งไหว้เต่กี้จู้โดยเข้าใจไปว่าเป็นการไหว้ส่งเจ้าที่แทน

โดยสรุปแล้ว แม้ใครจะไม่ได้ส่งเจ้าเตาก็ไม่ใช่ข้อบกพร่องอะไร เพราะถึงไม่ไหว้ส่ง ท่านก็ต้องไปทำงานตามหน้าที่อยู่ดีส่วนใครไหว้ส่งที่ตี่จู้เอี๊ยหรือเทพองค์อื่นๆ ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะแม้ท่านจะไม่ไปไหน แต่เราก็ได้แสดงน้ำใจอารีในวันที่พึงเซ่นไหว้

ย่อมดีทั้งนั้นแล •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง