Slowdive วงลำนำฝัน ที่จะพาแฟนๆ เข้าสู่ภวังค์อีกครั้ง กับโชว์เดี่ยวครั้งแรกในไทย

Slowdive เป็นตัวอย่างชั้นดีสำหรับวงดนตรีที่ไม่หวั่นต่อคำวิจารณ์

Just for a Day อัลบั้มชุดแรกของวงที่วางจำหน่ายในปี 1991 ได้รับดาวแค่ 2 เต็ม 5 จากทางนิตยสาร Rolling Stone

ด้าน แดน ไมเออร์ แห่งนิตยสารดนตรีดังในอดีตแห่งเกาะอังกฤษอย่าง Select พูดถึงงานเพลงชุดนี้ว่า “พวกเขาก็แค่ร้องเพลงช้าๆ, ทำซาวด์ให้ฟุ้งๆ ก่อนที่จะจบแต่ละเพลงให้เหมือนกับดนตรีแนว Ethereal Wave (ล่องลอยสวยงามราวอยู่บนสรวงสวรรค์)” เหมือนกับงานเพลงของวง Cocteau Twins ที่ถือเป็นวงดนตรีในแนวดรีมป๊อประดับตำนาน

เมื่อเวลาผ่านไป Just for a Day กลับได้รับคำชมมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของความวิจิตรบรรจงในการสร้างซาวด์ดนตรีที่เนิบช้าและเรียบง่าย

แต่ท่ามกลางความอ้อยอิ่งนั้นกลับเต็มไปด้วยสรรพเสียงสุดละเมียดละไมเพื่อเนรมิตแนวทางดนตรีใหม่ๆ ที่ในปัจจุบันส่งผ่านอิทธิพลไปยังศิลปินป๊อป, ร็อก หรือแม้กระทั่งดนตรีแนวเฮฟวี เมทัล

โดยในปี 2016 ทางสื่อดนตรีออนไลน์สุดอินดี้อย่าง Pitchfork ยกย่องให้ Just for a Day ติดอยู่ในอันดับที่ 7 อัลบั้มแนว Shoegaze ที่ดีที่สุดตลอดกาล

 

ด้วยยุคสมัยทางดนตรี Shoegaze รุ่นบุกเบิกโดยวง Slowdive อยู่ร่วมรุ่นกับวงดนตรีแนวบริตป๊อป และกรันจ์ ก่อนที่จะรุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงกลางยุค 90

และถึงแม้ว่าทางวงจะเคยร่วมทัวร์คอนเสิร์ตกับวง Blur ในปี 1991 และทัวร์ยุโรปในปี 1992 ก็ไม่ได้ทำให้ทางวงมีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากดนตรีบริตป๊อปในช่วงเวลานั้นมีจังหวะที่คึกคักเร้าใจเด่นด้วยซาวด์กีตาร์ Jangle Pop ที่ได้รับอิทธิพลมาจากวงอย่าง The Smiths

ในขณะที่เนื้อหาของดนตรีกรันจ์ฝั่งอเมริกาโฟกัสไปในเรื่องสภาวะในจิตใจที่เจ็บปวดของวัยรุ่นที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจหรือระบบทุนที่เติบโตแบบก้าวกระโดด สืบเนื่องมาจากระบอบสังคมนิยมที่เสื่อมอำนาจลงจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

เรื่องการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมยุคใหม่ไม่มีผลต่อวิธีคิดในการทำงานเพลงของวง Slowdive เนื้อหาที่ซ่อนอยู่ในซาวด์ดนตรีที่ฟุ้งฝันของทางวงเป็นเรื่อง Inside Out มากกว่า Outside In

ส่งผลให้งานเพลงของทางวงเน้นเรื่องความคิด, ทัศนคติและอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในเป็นสำคัญ

 

Shoegaze เป็นแนวเพลงที่ให้ความสำคัญกับเสียงกีตาร์เป็นหลัก โดยเป็นการทดลองผสมเสียงกีตาร์ที่เล่นผ่านเอฟเฟ็กต์อย่าง Fuzz (เสียงแตกหนาๆ รกๆ) และ Reverb (เสียงสะท้อนก้อง) เข้าไว้ด้วยกัน จนทำให้เกิด ‘กำแพงเสียง’ ของกีตาร์ที่ทั้งหนาและแตกพร่า

เวลาแสดงสดบนเวทีสมาชิกแต่ละคนที่ประกอบไปด้วย นีล ฮัลสเตด (ร้องนำ-กีตาร์-คีย์บอร์ด), เรเชล กอสเวลล์ (ร้องนำ-กีตาร์-คีย์บอร์ด-แทมโบรีน), นิก แชปลิน (เบส), คริสเตียน ซาวิลล์ (กีตาร์) และ ไซมอน สก็อตต์ (กลอง) ต่างก็จดจ่อไปยังเครื่องดนตรีและเอฟเฟ็กต์บนพื้นเวทีของแต่ละคน (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Shoegaze ที่แปลว่า “จ้องรองเท้า”) จนดูไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้ชม

ริชชี เอ็ดเวิร์ดส์ มือกีตาร์ผู้สาบสูญแห่งวง Manic Street Preachers ที่ถึงขั้นออกมาบอกว่า “พวกเราเกลียด Slowdive ยิ่งกว่าฮิตเลอร์เสียอีก”

คำก่นด่าที่รุนแรงนี้เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะมันทำให้คนที่ไม่เคยรู้จัก Slowdive มาก่อนหันมาฟังวงดนตรีวงนี้ เพราะมันดูไร้เหตุผลไปหน่อยถ้าจะเกลียดวงดนตรีวงหนึ่งโดยที่ไม่เคยฟังเพลงของวงวงนั้นเลย

 

ระยะเวลาหลายสิบปีพิสูจน์ให้เห็นว่า Slowdive ถูกด่าฟรีจริงๆ ในช่วงเริ่มตั้งวง เพราะนับตั้งแต่อีพีชุดแรกที่วางจำหน่ายก่อนเดบิวต์อัลบั้ม 1 ปี รวมถึงสตูดิโออัลบั้มอีกหลายชุดที่ตามมาอย่าง Souvlaki (1993), Pygmalion (1995) รวมถึง Slowdive (2017) ที่วางจำหน่ายหลังจากที่ยุบวงไปนานถึง 22 ปีก่อนที่จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งต่างก็กลายเป็นอัลบั้มในแนวชูเกซ (Shoegaze) และดรีมป๊อป ชั้นยอดทุกชุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัลบั้ม Pygmalion ที่มีการนำดนตรีแอมเบียนต์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากไบรอัน อีโน (ผู้บุกเบิกดนตรีแนวแอมเบียนต์และอิเล็กทรอนิกส์) และโพสต์ ร็อก เข้ามาผสมผสานด้วย

แต่ถึงจะอย่างนั้น แม้ว่างานเพลงจะออกมาดีขนาดไหนก็ตามแต่ในเมื่อมันขายไม่ได้ตามเป้าที่ อลัน แม็กกี ผู้ก่อตั้ง Creation Records ค่ายเพลงต้นสังกัดของวงในเวลานั้นได้วางเอาไว้ Slowdive จึงตัดสินใจยุบวง

และแฟนๆ ต้องรอนานถึง 22 ปีกว่าที่ราชันแห่งวงการเพลงชูเกซวงนี้จะกลับมาทวงบัลลังก์อีกครั้ง

 

เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว Everything Is Alive สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 ของวงออกวางจำหน่าย นี่คืองานเพลงที่ได้รับคำชมตั้งแต่อาร์ตเวิร์กหน้าปกที่ดูคล้ายเขาวงกตที่มีความสมมาตร เฉกเช่นเดียวกันกับความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างซาวด์ดนตรีใหม่ๆ

Shanty เป็นเพลงที่เริ่มต้นด้วยซาวด์อิเล็กทรอนิกส์และแอมเบียนต์ที่ได้รับอิทธิพลจากไบรอัน อีโน มาเต็มๆ ก่อนที่จะซัดเข้าสู่เสียงกีตาร์ที่แตกพร่าด้วยเอฟเฟ็กต์จาก Fuzz และ Reverb เสียงคีย์บอร์ดที่ให้เสียงคล้ายขิมนำผู้ฟังไปสู่โลกของดนตรีนิวเอจเล็กน้อย

นอกจากเอฟเฟ็กต์ Distortion, Fuzz และ Reverb ที่ซ้อนทับกันหลายชั้นแล้ว การใช้ Delay ในจังหวะที่เหมาะสมก็ยังทำให้งานเพลงชุดนี้มีความงดงามและมีมิติมากขึ้น

หลายเพลงมอบบรรยากาศคล้ายกับดนตรีประกอบภาพยนตร์ อย่างเช่น เพลง Player Remembered ที่เหมือนได้คอมโพสเซอร์ระดับตำนานอย่าง Vangelis ฟื้นคืนชีพมาเรียบเรียงดนตรีให้ ทางวงลดทอนความสำคัญของเสียงร้องลงบ้างแต่ไม่ถึงกับมากนัก ที่น่าสนใจก็คือมีการปรับโทนเสียงร้องให้เหมือนกับเครื่องดนตรีอีกชิ้นหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กึ่งกลางระหว่างเศร้าโศกและความสุข Alife เป็นเพลงที่มอบนิยามหวานอมขมกลืนดังกล่าวได้อย่างยอดเยี่ยมทุกโน้ต

Chained to a Cloud ขึ้นต้นด้วยซาวด์อิเล็กทรอนิกส์เวียนวน (Loop) ที่สร้างโครงสร้างดนตรีที่เรียบง่ายแต่ทว่าซับซ้อนด้านความรู้สึกคล้ายๆ กับการฟังบทสวดที่รายล้อมไปด้วยดนตรีซินธ์ป๊อปและโพสต์พังก์คล้ายๆ กับงานเพลงของวง New Order ยุคแรกๆ ที่คาบเกี่ยวกับวง Joy Division

ด้าน The Slab เพลงสุดท้ายของอัลบั้มถือเป็นเพลงนิวเอจ, แอมเบียนต์และดรีมป๊อปที่ปิดฉากอัลบั้มชุดนี้ได้อย่างลุ่มลึก

 

นีล ฮัลสเตด ได้ให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสาร Uncut เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่า ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา เขานำเครื่องดนตรีสังเคราะห์ไฟฟ้ามาใช้ลองทำงานเพลงส่วนตัวดูเยอะมาก

พอเพื่อนร่วมวงวางแผนจะทำอัลบั้มใหม่เขาจึงนำงานเพลงที่ทำเก็บไว้มาลองปรับเปลี่ยนให้มีความมินิมอลมากขึ้น

โดยซาวด์จะยึดความสวยงามและเศร้าโศกเอาไว้เพื่อสื่อถึงการเกิดใหม่และการลาจาก เนื่องจากทางวงต้องการอุทิศอัลบั้มชุดนี้ให้กับคุณแม่ของเรเชล กอสเวลล์ และคุณพ่อของไซมอน สกอตต์ ที่ต่างก็เสียชีวิตลงในปี 2020

ในขณะที่ชื่ออัลบั้ม Everything is Alive ก็เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตด้วยการมองโลกในแง่ดี

งานเพลงชุดใหม่ล่าสุดของ Slowdive ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีแอมเบียนต์, สกอร์ประกอบภาพยนตร์ (แบบวงโพสต์ร็อกอย่าง Explosions in the Sky) และดนตรีกอธิก ในแบบวง The Cure, Bauhaus, Joy Division, The Durutti Column และอีกหลายวง วงดนตรีเหล่านี้คือสายธารทางดนตรีที่แยกมาจากดนตรีโพสต์พังก์จากสหราชอาณาจักรในช่วงปลายยุค 70 อีกทีหนึ่ง

ซึ่ง Slowdive ได้แยกสายธารดนตรีสายนี้ให้เป็นลำธารที่ทอดยาวอีกสายหนึ่งและในไม่ช้ามันก็จะไปรวมอยู่กับแม่น้ำสายใหญ่ของซีนดนตรีดรีมป๊อปในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย

 

โปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ตสายอินดี้ที่ไว้ใจได้อย่าง Have You Heard? จะนำ Slowdive กลับมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไทยอีกครั้ง

หลังจากที่เคยมาขึ้นโชว์ในเทศกาลดนตรี Maho Rasop Festival เมื่อปี 2018 มาแล้ว

โดยวง Slowdive จะมาแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกที่ Voice Space ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ในราคาบัตร 2,300 บาททุกใบ

ใครอยากจะลอยฟุ้งในความฝันโดยที่ไม่ต้องนอนหลับบนเตียงแล้วล่ะก็ บอกได้คำเดียวว่าห้ามพลาด