วิจัยตอบโจทย์ ‘ชุมชน’

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

งานวิจัยในบ้านเราที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าวิจัยเสร็จก็เอาแฟ้มขึ้นไปวางบนหิ้ง คนวิจัยได้เลื่อนตำแหน่ง แต่เนื้องานไม่ได้นำมาต่อยอดพัฒนาไปสู่ภาคการค้าการผลิต และเป็นงานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์เสียส่วนใหญ่

แต่ปัจจุบันสถาบันการศึกษาหลายแห่งปรับเปลี่ยนพลิกโฉมการวิจัยพัฒนาก้าวหน้ากว่าเก่ามาก

เมื่อเร็วๆ นี้ร่วมเดินทางกับคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีคุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นประธานฯ ไปเยี่ยมชมรับฟังการบรรยายของคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้รับรู้ว่าทั้งสองสถาบันมุ่งสู่ความเป็นเลิศในงานวิจัยทั้งตอบโจทย์ประเทศและชุมชนท้องถิ่น

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงผิวพรรณ มาลีวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า สถานะของมหาวิทยาลัยขอนแก่นขณะนี้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก มีนักศึกษาราว 4 หมื่นคน บัณฑิตของ มข.มีงานทำ 75 เปอร์เซ็นต์ และผู้ว่าจ้างพึงพอใจบัณฑิต 86% เป็นมหาวิทยาลัยที่การศึกษามีคุณภาพติดอันดับ 33 ของโลก

หลักสูตรของ มข.ที่ตอบโจทย์ของประเทศ มีอยู่หลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อรองรับการพัฒนาด้านการขนส่งคมนาคม ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทงของจีน ออกแบบหลักสูตรปริญญา 2 ใบ นักศึกษาจะเรียนที่ มข. 3 ปีครึ่ง แล้วไปเรียนต่อที่จีนอีก 1 ปี หลักสูตรนี้เพิ่งเปิดรับนักศึกษาเมื่อปี 2566

อีกหลักสูตรเป็นวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จบมาแล้วได้รับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนี้เปิดสอนมา 3 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรวิทยาศาสตร์แบตเตอรี่และพลังงานใหม่ อยู่ในสาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่สร้างบัณฑิตให้เข้าไปมีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยเฉพาะด้านแหล่งกักเก็บพลังงานไฟฟ้า

 

ในด้านการวิจัย คุณหมอผิวพรรณบรรยายว่า มข.มีงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองโจทย์ของประเทศอยู่ 4 ด้าน

ด้านพลังงานชีวภาพ ทีมวิจัยของ มข.ศึกษาเรื่องแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟใหม่ขั้นสูง (advanced rechargeable batteries) งานวิจัยด้านไบโอไฮเทน (bio-hythane) เป็นการวิจัยนำก๊าซผสมระหว่างไฮโดรเจนกับมีเทนที่ได้จากกระบวนการทางชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานสะอาด

ก๊าซไฮโดรเจนและมีเทนได้มาจากน้ำทิ้งของโรงงานน้ำตาลหรือน้ำมันปาล์ม เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ นำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพไบโอมีเทน

งานนวัตกรรมพลังงานของ “มข.” ที่ถือว่าเจ๋งสุดยอด คือการผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน เพราะเป็นครั้งแรกของไทยและอาเซียนที่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้

แบตเตอรี่โซเดียมไอออน ถ้าหากนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและแบตเตอรี่ของไทย เนื่องจากไทยมีแหล่งแร่เกลือหินในปริมาณสำรองมากถึง 18 ล้านล้านตัน และแบตเตอรี่โซเดียมไอออนมีราคาถูกกว่าแบบลิเธียมไอออนที่ใช้ในรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรืออีวี (electric vehicle) แถมยังปลอดภัย ชาร์จไฟได้เร็วกว่า

ส่วนงานนวัตกรรมด้านโปรตีนจากแมลงที่มีชื่อว่า “Black Soldier Fly for BCG-economy” หรือการแปรรูปขยะอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคุณหมอผิวพรรณอธิบายรายละเอียดได้รับความสนใจจากบรรดา กมธ.อย่างมาก

งานนวัตกรรมดังกล่าวใช้ตัวหนอนของแมลงมากินเศษขยะของเหลือกินในครัวเรือนร้านค้าจนย่อยสลายในถังระบบปิด จากนั้นนำไปผลิตเป็นปุ๋ยและอาหารสัตว์ กระบวนการนี้ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ลดกลิ่นเหม็น และป้องกันการแพร่เชื้อโรค

เกษตรกรในขอนแก่นนำนวัตกรรมนี้ไปประยุกต์เป็นอาหารเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ และจิ้งหรีด บางคนไปรับขยะจากซูเปอร์มาร์เก็ต เศษผลไม้ เศษผักมาเป็นอาหารให้กับหนอนแมลง

“ละออง ติยะไพรัช” กมธ.อว. บอกว่า อยากให้ทีมวิจัยของ มข.นำความรู้นี้ไปเผยแพร่ในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นฐานเสียงของคุณละออง

ส.ส.เชียงรายยังเล่าอีกว่า การคัดแยกขยะในบ้านเราเป็นปัญหามาก ทุกครั้งที่มาประชุมสภาจะมาพักคอนโดมิเนียม ซึ่งการแยกขยะเป็นเรื่องยากเพราะทุกห้องจะเอาขยะใส่ถุงแล้วหย่อนลงในช่องขยะของคอนโดฯ ขยะทุกชนิดก็มากองรวมกัน

“ทุกครั้งที่มาพักคอนโดฯ จะต้องแยกเศษอาหารออกจากขยะชนิดอื่นๆ เอาใส่ถุงพลาสติกประเภทซิปล็อกเก็บเอาไว้ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น วันไหนเดินทางกลับเชียงรายก็หิ้วถุงนี้กลับขึ้นเครื่องไปด้วยเป็นอาหารปลาอย่างดี” คุณละอองเล่าวิธีแยกขยะของตัวเอง

ทีมงานมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์โชว์ชุดแฟชั่นผ้าไหมแพรวาที่นำมาประยุกต์และเป็น 1 ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้ชุมชน

คณะ กมธ.อว.เดินทางต่อไปยังมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการส่งเสริมความรู้และงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เป็นการควบรวมระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น เมื่อปี 2565 จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้วยการพัฒนาระดับพื้นที่ ด้านการแก้ปัญหาความยากจนในโครงการกาฬสินธุ์ แฮปปี้เนส โมเดล (Kalasin Happiness Model)

โมเดลนี้ได้จัดทำข้อมูลคนยากจนในกาฬสินธุ์ พบว่าในบางอำเภอ เช่น ยางตลาด มีคนจนรายได้เฉลี่ยวันละ 93 บาทเท่านั้น ถ้ารวมคนจนไม่ได้เข้าถึงระบบสวัสดิการจากภาครัฐทั้ง จ.กาฬสินธุ์มีราว 5 หมื่นคน

เป้าหมายของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ไม่ได้เน้นแค่งานวิจัยแต่ทำงานแก้จนในทุกมิติ มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และสร้างความยั่งยืนให้ได้ เพราะฉะนั้นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จึงออกพื้นที่ทำงานกับชุมชน การเรียนการสอนเปลี่ยนไปสู่ชุมชนท้องถิ่น

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์นำโดยอาจารย์โกศล เรืองแสน คิดค้นเตาเผาถ่านไร้ควัน ใช้วัสดุเหลือใช้จากพืชผลการเกษตร เช่น เหง้ามันสำปะหลัง กิ่งก้านไม้มาเผาเป็นถ่าน ได้ทั้งถ่าน น้ำส้มควันไม้ และช่วยลดควันพิษที่เกิดจากระบบเผาถ่านเดิมๆ ที่ชาวบ้านใช้กันอยู่

เตาเผาถ่านไร้ควันช่วยเสริมรายได้ให้กับเกษตรกรและเป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวล ถ่านทั้งหมดนี้บริษัท ไทยวา รับซื้อไปใช้ในกระบวนการผลิต

เช่นเดียวกับโมเดลการเพาะเห็ดฟาง ที่ อ.สหัสขันธุ์ รองศาสตราจารย์จิระพันธุ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ บอกว่า เป็นการแก้จนผ่านแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เน้นเศรษฐกิจชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน นำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างโรงเรือน การใช้กากมันสำปะหลังมาช่วยลดต้นทุนการเพาะเห็ดฟางและปลูกผักปลอดสารเคมี จากนั้นนำไปพัฒนาอาชีพให้กลุ่มครัวเรือนยากจน ได้ผลผลิตแล้วก็ช่วยติดต่อพ่อค้าคนกลาง และนำส่งตลาด ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ความต้องการสินค้ามีมากต้องเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น

อีกผลงานที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในการผลักดันผ้าแพรวาซึ่งเป็นผ้าทอพื้นเมืองมาเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอน มีตั้งแต่เรียนรู้กระบวนการนำวัสดุธรรมชาติมาทำสีผ้า ย้อมถักทอเส้นไหม ประยุกต์การออกแบบให้สอดคล้องกับยุคสมัยนำไปโชว์ในเวทีที่ฮ่องกง ในบางกลุ่มคนยากจนที่ได้เข้าร่วมในโมเดลความสุขที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ผลักดัน มีรายได้ดีขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่ใต้เส้นความยากจน วันนี้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 500 บาท คุณภาพชีวิตก็เปลี่ยนเป็นดีขึ้น

ไปดูไปสัมผัสงานวิจัยพัฒนาทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์แล้วก็เริ่มมองเห็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]