หลังเลนส์ในดงลึก/”เวลา และ ลำห้วยสายเดิม”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“เวลา และ ลำห้วยสายเดิม”

เดือนธันวาคม พ.ศ.2560

ผมยืนอยู่บนอาคารเปิดโล่ง หลังคาสูง หันหน้าไปทางทิศเหนือ

ลำห้วยสายหนึ่งปรากฏอยู่ในสายตา ระดับน้ำไม่มากนัก แต่หาดทรายสองฝั่งที่ขยายกว้างทำให้รู้ว่า ในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา สายน้ำเอ่อล้นรุนแรงเพียงใด เงยหน้าขึ้น ผมเห็นทิวเขาทอดยาวสลับซับซ้อน

ลดสายตาลง บริเวณที่หาดทรายตรงกลางลำห้วย สะท้อนแสงแดดตอนสายเป็นประกาย ด้านขวามือมีลำห้วยอีกสายหนึ่งไหลมาสมทบ มีหาดทรายกว้างอีกแห่ง มีพื้นที่กว้างราว 4 ตารางเมตร หาดทรายสองแห่งอยู่ใกล้กัน มีเพียงลำห้วยกั้นขวาง

ทั้งสองแห่งมีนกยูงเดินวนเวียนไป-มา แห่งละตัว

ทั้งคู่เป็นนกยูงตัวผู้ พวกมันมาจับจองพื้นที่ไว้ตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว ก่อนหางจะงอกยาวเสียด้วยซ้ำ

เป็นหน้าที่ของนกยูงตัวผู้ ซึ่งจะต้องหาพื้นที่เพื่ออวดความสวยงามแข็งแรงให้ตัวเมียเลือก ในช่วงฤดูแห่งความรัก ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนและไปสิ้นสุดฤดูกาลในเดือนกุมภาพันธ์

หน้าที่ของตัวเมีย คือเฟ้นหาตัวผู้แข็งแรง

เพื่อความสมบูรณ์ของลูกที่เกิดมา

พวกมันทำเช่นนี้มาเนิ่นนานทุกๆ ปี ทำเช่นเดิม

ผมมองนกยูงขณะนึกถึงสุภาพสตรีคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า เจน กูดดอลล์ เธอเป็นชาวอังกฤษ ที่ศึกษาเรื่องชิมแปนซีในแอฟริกาและกลายเป็นผู้ปฏิวัติวงการไพรเมตวิทยา

เธอไม่มีพื้นฐานการทำงานวิจัยอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงคนที่หลงใหลและรักสัตว์ แต่สามารถทำให้งานเป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

นกยูงทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่เธอพูด ก่อนเริ่มต้นบรรยาย

“ดิฉันต้องขอโทษด้วย ถ้าใครเคยได้ยินเรื่องนี้มาแล้ว แต่บางครั้ง เรื่องบางเรื่องได้ยินซ้ำก็เข้าท่านะคะ”

ในป่า คล้ายจะไม่มีเรื่องราวใหม่ๆ

กว่า 20 ปีแล้ว ที่ผมเห็นนกยูงในวิถีเดิมๆ ของพวกมัน

เรื่องราว รวมทั้งรูปภาพนกยูง ไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือเป็นภาพอันน่าตื่นตาดังเช่นครั้งก่อน

ทุกครั้งที่มายืนตรงนี้ มองไปที่ลำห้วย นกยูงจะปรากฏให้เห็น

แต่ในวันที่ผมมีโอกาสเห็นนกยูงครั้งแรก

พวกมันอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์

และไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลยที่จะได้พบ

ลุงสังวาลย์ เดินเข้ามาปลุกผมที่บ้านพักตั้งแต่ตีสาม พาเดินเลาะไปตามลำห้วย ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าร่วม 3 ชั่วโมง ถึงบริเวณที่มีหาดทรายค่อนข้างกว้าง ใต้ร่มเงาต้นมะเดื่อ ซึ่งขึ้นอยู่ติดกัน 3 ต้น มีด่านใหญ่ รอยช้างย่ำไว้เป็นทาง

“นี่รอยตีนนกยูง” พิทักษ์ป่าอาวุโส นั่งลงชี้ที่พื้น มีรอยตีนย่ำไว้ ในลักษณะเป็นวงกลม

“มันใช้ตรงนี้รำแพนหางอวดตัวเมีย ตอนรำแพนมันจะหมุนตัวไปรอบๆ รอยตีนที่เห็น เลยเป็นวงแบบนี้”

ถัดจากต้นมะเดื่อ เป็นตลิ่งสูงจากลำห้วยราวเมตรครึ่ง

“ทำซุ้มตรงนั้น เหมาะดี” เขากำหนดตำแหน่ง

หลายสัปดาห์จากนั้น ทุกเช้ามืด ผมเดินมาเข้าซุ้มบังไพร

“ต้องไปถึงก่อนสว่างนะ เพราะเช้ามืดนกยูงตัวผู้จะเตรียมตัวจัดแจงแต่งขนอยู่บนกิ่งไม้สูงๆ ที่มันขึ้นไปนอน แล้วจะส่งเสียงร้อง สักพักจะร่อนลงมาตรงที่จองไว้ และอยู่แถวๆ นั้นตลอด เราต้องเข้าไปอยู่ในซุ้มก่อนมันจะมา”

ผมฟังและปฏิบัติตามอย่างตั้งใจ

ที่ซุ้มบังไพรนั่น ผมได้เห็นนกยูง

เห็นนกยูงโดยต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อไม่ให้นกยูงเห็น

ในช่วงเวลานั้น นกยูงมีสถานภาพน่าเป็นห่วง เพราะจำนวนประชากรเหลือน้อยมาก ในผืนป่าแห่งอื่นๆ ที่เคยมีนกยูงอาศัยอยู่ก็ไม่มีรายงานการพบเห็น

จนกระทั่งเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี

ผลจากการเอาจริงของคนทำงานในป่า นกยูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ป่าหลายแห่งพบว่ามีนกยูงอยู่

ถึงวันนี้ ในป่าห้วยขาแข้ง สัตว์ป่าที่คนพบเห็นได้ง่ายที่สุดคือ นกยูง

ในป่า ทุกเช้ามืด เราจะได้ยินเสียงนกยูงร้องก้องกังวาน

“นกยูงตัวโต แต่ใจเสาะ” พิทักษ์ป่าอาวุโส เคยนินทานกยูงให้ฟัง

“เคยเห็นเหยี่ยวรุ้งจิกตาย ไม่ยอมสู้เขา”

เขาเห็นการทำงานของเหยี่ยวรุ้ง ซึ่งลงมาล่าเหยื่อที่ตัวโตกว่าได้

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน สายลมหนาวเดินทางมาถึง

ใบไม้ลดการใช้น้ำ เปลี่ยนสีใบ ป่าทั้งป่าถูกห่มคลุมด้วยสีเหลือง สีแดง

นกยูงตัวผู้เริ่มต้นฤดูแห่งความรักเช่นกัน

นอกจากต้องหาทำเลริมๆ ห้วยไว้ตอนนี้ ขนหางจะเริ่มงอกยาว นี่คือเครื่องมือสำคัญ

นกยูงตัวผู้ได้รับสิทธิพิเศษในการจับคู่แบบ Polygamous หรือสามารถมีตัวเมียได้หลายตัว

งานการขยายพันธุ์ ดูคล้ายจะหนักและเหนื่อย

ขณะเดียวกัน ตัวเมียก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกเฉพาะตัวผู้ที่เธอเห็นว่าแข็งแรงเหมาะสมเช่นกัน

ตัวผู้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

ตั้งแต่เช้ามืด หลังจัดแต่งขน ส่งเสียงร้อง มันจะร่อนมายืนริมลำห้วย ถ้าสัมผัสได้ว่ามีตัวเมียใกล้ๆ การรำแพนจะเริ่มต้น

เริ่มจากคลี่หางยาวๆ ออกเป็นวงกลม หุบเข้า-ออก ส่งเสียงพ่นลมหายใจ หมุนตัวไปรอบๆ ขนหางสั่นเป็นเสียง

การรำแพน มีเป็นระยะ สลับการนั่งพักโดยใช้หางยาวนั้นยันพื้นไว้

อาณาเขตที่จับจองไว้ คือเขตหวงห้าม เจ้าของถิ่นจะส่งเสียงขับไล่ทันทีหากมีตัวผู้ตัวอื่นเฉียดเข้ามาใกล้

ถ้าอีกตัวเมินเฉย การประชันรำแพนจะเกิดขึ้น ถึงตอนนี้ จะมีตัวหนึ่งถอยไป เพราะรู้ว่าอีกฝ่ายแข็งแรงกว่า

นกยูงตัวผู้ใช้เวลาเกือบทั้งหมดรำแพน ราวกับไม่เหน็ดเหนื่อย

ท่ามกลางอากาศมืดสลัวตอนเช้าและเย็น

จากซุ้มบังไพร ผมมองนกยูงรำแพนหางยาวสลวย

ไม่มีตัวเมียเข้ามาใกล้ๆ

นกยูงตัวผู้รำแพนอยู่เพียงลำพัง นี่เป็นภาพอันคุ้นตา

ผมมองนกยูงด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่ง

คล้ายจะไม่ใช่สิ่งง่ายดายสักเท่าไหร่เลย

ในการที่จะทำให้ผู้อื่นมองเห็น

เวลาผ่านไป ต้นมะเดื่อ 3 ต้นนั้นล้มเพราะถูกกระแสน้ำที่เปลี่ยนทางไหลซัด

หาดทรายโล่งๆ รกทึบ

ลุงสังวาลย์ พิทักษ์ป่าอาวุโส เกษียณออกไปเลี้ยงหลานที่บ้าน

ผมไปอยู่หลายผืนป่า แต่กลับมาเฝ้าดูนกยูงอยู่เสมอ

ภาพอันคุ้นตา ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

นกยูงตัวผู้หางยาว ยืนรำแพนอยู่ลำพัง

ผมยังมองนกยูงด้วยความรู้สึกเช่นเดิม

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในการที่จะทำให้ผู้อื่นมองเห็น

สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ “เห็น” ในสิ่งที่เราเป็น…