แมลงวันในไร่ส้ม / เศรษฐกิจ-การเมือง ปัจจัย “เปลี่ยนผ่าน” บทบาทสื่อปี 2561

แมลงวันในไร่ส้ม

เศรษฐกิจ-การเมือง ปัจจัย “เปลี่ยนผ่าน” บทบาทสื่อปี 2561

ปี2560 เป็นอีกปีที่รายชื่อของนิตยสารที่ยุติบทบาทไป ยังคงยาวเหยียด

คู่สร้างคู่สมของ ดำรง พุฒตาล ที่ยืนหยัดมายาวนาน เคยมียอดพิมพ์กว่า 1 ล้านฉบับ ลดลงมาหลักหมื่น ร้านจำหน่ายหนังสือหดหาย กิจการต่างๆ เคยรอคิวลงโฆษณา ก็หายหน้าไป คงไม่ใช่ฉบับสุดท้ายแน่นอนที่ต้องเลิกราไป

ดำรงระบุว่า ปัญหาหนึ่ง คือการที่สื่อออนไลน์มาลอกคอลัมน์ดวง อันเป็นจุดขายของคู่สร้างคู่สมไปลงออนไลน์ ทำให้ผู้อ่านบางส่วนหันไปติดตามอ่านฟรีในสื่อออนไลน์

ชี้ถึงผลกระทบอันมาจากสื่อใหม่อย่างชัดเจน

หนังสือพิมพ์ที่เคยมีบทบาทเป็นสื่อหลัก อยู่ในภาวะวังเวง ยังต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วง ลดต้นทุน ลดจำนวนคนทำงาน เพื่อจะรักษาสถานะเอาไว้ให้ได้

ตัวเลขเงินโฆษณาที่เคยหล่อเลี้ยงสื่อหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ลดลงเรื่อยๆ และไปเติบโตที่ “นิวมีเดีย” ที่ด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เดือนต่อเดือน

ปี 2561 ที่ก้าวมาถึง จะกลืนกินสื่อฉบับไหน จะทำให้นิตยสารฉบับใด หรือทีวีดิจิตอลช่องใดต้องล้มหายตายจากอีก เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายเฝ้ารอดู

เส้นทางใหม่ ช่องทางใหม่ที่สื่อต่างๆ มุ่งหน้าไปก็คือ การจัดทำเว็บไซต์ข่าว หรือใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก เป็นช่องทางนำเสนอข่าว

ช่องทางนี้ มีระบบในการหารายได้ที่แตกต่างไปจากสื่อหนังสือพิมพ์

ทำให้ต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่

สื่อหลักๆ เดิมอย่างไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน / ข่าวสด ผู้จัดการ และอื่นๆ ต่างหันมาเปิดเว็บไซต์ข่าว และสร้างฐานผู้อ่าน จนเป็นกลุ่มสื่อออนไลน์ที่มีผู้อ่านเป็นกลุ่มใหญ่

ในกลุ่มของเว็บไซต์ข่าว มี “ข่าวสด” เป็นผู้นำ ด้วยยอดผู้อ่านระหว่าง 9 แสนถึง 1 ล้านยูนิกไอพีต่อวัน ตามมาด้วย “ไทยรัฐ” จากนั้น เป็นการแข่งขันที่พลิกไปมา ระหว่าง “ผู้จัดการ-มติชน-เดลินิวส์” ถัดจากนี้ไป เป็นกลุ่มของสื่อในด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ “ประชาชาติ-เครือเนชั่น-โพสต์ทูเดย์”

ปัญหาของสื่อออนไลน์ก็คือ การก๊อบปี้ หรือการลอกข่าว ลอกเนื้อหาและคอนเทนต์ รวมถึงรูปและคลิป

บางสำนักขึ้นชื่อในเรื่องการลอกข่าว จนกระทั่งเกิดการปะทะทางออนไลน์กับสำนักที่ถูกลอก

และถึงกับต้องออกแถลงการณ์ขอโทษที่ลอกข่าวก็ยังเกิดขึ้นมาแล้ว

ถึงที่สุดก็คือ ปัญหาการลงทุนในการผลิตคอนเทนต์ ซึ่งจะต้องมีผู้สื่อข่าว มีคนทำงาน มีเครือข่าย ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนที่บางสำนักยังไม่มีความพร้อม เพราะไม่แน่ใจว่าผลตอบแทนจะคุ้มต้นทุนหรือไม่

น่าสังเกตว่า สถานการณ์ของสื่อต่างๆ ทรุดหนัก หลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557

ก่อนรัฐประหาร เกิดการชุมนุมประท้วงของ “มวลมหาประชาชน” สื่อหลายสำนัก ร่วมสนับสนุนการชุมนุม และบทบาทของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ อย่างออกหน้าออกตา

สื่อที่มีน้ำเสียงแตกต่าง จะกลายเป็นสื่อที่ถูกทักษิณซื้อไปแล้ว หรือเป็นเสื้อแดง

เป็นสภาพและบรรยากาศแห่งการใส่ร้ายป้ายสีที่รุนแรงที่สุดอีกครั้งในประวัติศาสตร์ของวงการ

หลายคนไปปรากฏตัวบนเวที สื่ออาวุโสหลายคนไปมีส่วนร่วมในแผนการเคลื่อนไหว

การชุมนุมของ กปปส. และกลุ่มสนับสนุน จะมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทสื่ออยู่ตลอดเวลา แกนนำบางคนประกาศจะไป “เยี่ยม” สื่อสำนักนั้น สำนักนี้

ก่อนจะบุกไปจริงๆ ที่ช่อง 3 โดยมี สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา เป็นเป้าหมาย และอีกครั้งบุกไปที่ไทยพีบีเอส ทั้งที่สำนักหลังก็ไม่ได้มีท่าทีรุนแรงแต่อย่างใด

องค์กรสื่อเองก็ไม่ได้มีการยืนยันบทบาทหน้าที่อันควรจะเป็นของสื่อ บทบาทของสื่อและองค์กรสื่อในห้วงเวลาดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธาให้กับประชาชน

เมื่อเกิดรัฐประหาร สื่อเองต้องถูกเซ็นเซอร์ ถูกจำกัดการเสนอเนื้อหา การวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอข่าวข้อเท็จจริงจากมุมตรงกันข้ามไม่สามารถทำได้

ก็เท่ากับไม่สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทสื่อได้

ที่เห็นผลกระทบทันที ได้แก่ ทีวีดิจิตอลที่ประมูลกันได้ใหม่ๆ และเตรียมเปิดตัวในห้วงเวลานั้น หลายช่องจัดทำเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองเอาไว้ กะว่าเป็นเอ็กซ์คลูซีฟ เป็นทีเด็ด ต้องยัดใส่ลิ้นชักเก็บไว้กันหมด

แผนการหารายได้จากโฆษณาก็ต้องระงับไป

ด้วยเนื้อหาที่ถูกจำกัดตามสภาพการเมือง จนกลายเป็นทีวีที่เสนอเนื้อหาคล้ายๆ กันไปหมด

เพียงไม่กี่เดือนหลังจากเริ่มเปิดตัวบางแห่งก็เกิดอาการ ก่อนจะยอม “จอดำ” ยุติการดำเนินการไป

วอยซ์ทีวี ซึ่งถือว่าเป็นช่องข่าวที่มีเอกลักษณ์ แต่เนื่องจากมีสายสัมพันธ์กับชินวัตร สุดท้ายก็ต้องปรับผังรายการ เลิกจ้างพนักงานไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา

การจัดเรตติ้งและผลประกอบการระบุว่า มีเพียง 5 ถึง 6 ช่อง จาก 20 กว่าช่องที่อยู่ในโซนปลอดภัย

ได้แก่ ช่อง 7, ช่อง 3, โมโน, เวิร์คพอยท์ และช่อง 8 ของอาร์เอส

นอกนั้น ยังต้องทำศึกหนัก เพื่อช่วงชิงผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณา

และปี 2561 นี้ น่าจะได้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มสื่อดิจิตอลอีกครั้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพเศรษฐกิจ และการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ เป็นเงื่อนไข หรือลมหายใจสำคัญในการทำงานสื่อ

โอกาสในการฟื้นตัวหรือขยายตัวของสื่อ แม้สื่อออนไลน์จะเติบโตขึ้นมาก ทีวีดิจิตอลยังเป็นช่องทางหลัก แต่ถ้าสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ก็ยากที่สื่อเหล่านี้จะเติบโต สร้างรายได้อย่างเต็มที่ เพื่อกลับมาเป็นองค์กรสื่อที่แข็งแรงขึ้นอีก

ยิ่งถ้าการเมืองยังไม่ปลดล็อก เนื้อหาสาระในสื่อก็จะย่ำอยู่อย่างที่เห็นกันมา 3 ปี

เป็นเนื้อหาที่ขาดความแหลมคม ขาดความท้าทาย และขาดการวิพากษ์วิจารณ์ และการเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน อันเป็นลักษณะสำคัญของสื่อ

ไหนยังต้องอยู่ภายใต้แผนงาน “ปฏิรูปสื่อ” ที่ผลักดันโดยกลุ่มอำนาจที่มุ่งควบคุมสื่ออย่างเข้มข้นอีก

มองไปในปี 2561 นอกจากการต่อสู้ทางธุรกิจแล้ว ความอยู่รอดของสื่อ ยังกำหนดโดยปัจจัยของการเมืองอีกด้วย