สัญลักษณ์พระปรางค์วัดอรุณ ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 (2)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

สัญลักษณ์พระปรางค์วัดอรุณ

ในไตรภูมิรัชกาลที่ 1 (2)

 

พระปรางค์วัดอรุณฯ มีการออกแบบชั้นฐานรองรับเรือนธาตุค่อนข้างสูงและซ้อนชั้นกันมากถึง 4 ชั้นภายใต้กรอบโครงของเส้นสายภายนอกที่เรียกกันว่า “ทรงจอมแห” ซึ่งโดยภาพรวมของรูปทรงที่ปรากฏให้ความรู้สึกที่สอดรับกันอย่างดีของการเป็นภาพแทนสัญลักษณ์เขาพระสุเมรุ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าคิดต่อ คือ ฐาน 4 ชั้นที่รองรับเรือนธาตุ (ฐานไพที 1 ชั้น และฐานประทักษิณ 3 ชั้น) ของพระปรางค์ประธานเป็นเพียงการออกแบบที่คำนึงถึงสัดส่วนและความงามของรูปทรงจอมแหหรือมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่มากไปกว่านั้น

แต่เดิม การตีความในส่วนฐานดังกล่าว นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ของเทวโลก (ชั้นเทวดาแบก), มนุษยโลก (ชั้นกระบี่แบก), และนรกภูมิ (ชั้นยักษ์แบก) หรือไม่ก็ตีความเฉพาะบางชั้นฐาน เช่น ในส่วนของชั้นยักษ์แบก คือ สัญลักษณ์ของพิภพอสูร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การตีความทั้ง 2 แบบเมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย (รวมถึงสมุดภาพไตรภูมิบางฉบับที่เป็นเอกสารร่วมอายุสมัยใกล้เคียงกัน) พบว่าไม่มีความสอดคล้องกับเนื้อความที่ปรากฏในคัมภีร์เท่าที่ควร

ฐานทั้ง 4 ชั้นของพระปรางค์วัดอรุณฯ คือการออกแบบเพื่อสื่อถึงชานเขาพระสุเมรุ 4 ชั้น
ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม

การตีความที่เสนอว่าชั้นฐานยักษ์แบกคือพิภพอสูรนั้น เนื้อความในคัมภีร์ระบุเอาไว้ชัดว่า ตำแหน่งพิภพอสูรจะเป็นส่วนที่อยู่ลึกลงไปใต้เขาพระสุเมรุ ซึ่ง ณ ตำแหน่งที่ปรากฏรูปฐานยักษ์แบกดังกล่าวของพระปรางค์วัดอรุณฯ ไม่น่าจะเป็นตำแหน่งที่แสดงพื้นที่ใต้เขาพระสุเมรุแต่อย่างใด

เนื่องจากศิลปกรรมอื่นๆ ที่ประกอบอยู่ในชั้นฐานบริเวณนี้แสดงให้เห็นว่า ชั้นฐานยักษ์แบกควรจะเป็นตำแหน่งของป่าหิมพานต์ และ “สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา” (สวรรค์ชั้นที่ 1 ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา) มากกว่า

ส่วนการตีความที่เสนอว่า ชั้นฐานกระบี่แบกแทนสัญลักษณ์มนุษยโลกนั้น จากการพิจารณางานช่างในอดีตก็พบว่า ช่างไทยไม่เคยแทนค่าความหมายในเชิงสัญลักษณ์แบบนี้มาก่อน

หรือในส่วนความหมายของนรกภูมิที่มีการเสนอว่าแทนค่าด้วยฐานยักษ์แบกก็ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้เช่นกัน เพราะไม่มีความสอดคล้องในเชิงรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏกับเนื้อหาของการเป็นนรกภูมิ

ยิ่งไปกว่านั้น นรกภูมิในการแสดงออกทางสถาปัตยกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์จะนิยมแทนค่าด้วยการเขียนเป็นภาพจิตรกรรมภายในอาคารหลังหนึ่งหลังใดในผังเขตพุทธาวาสมากกว่า (ประเด็นนี้จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า)

พระปรางค์บริวารทั้ง 4 มุม แทนความหมายเขาสัตตบริภัณฑ์ที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ
ที่มาภาพ : หนังสือ คติสัญลักษณ์และการออกแบบวัดอรุณราชวราราม

ดังนั้น ชั้นฐาน 4 ชั้นนี้ ควรจะมีความหมายอย่างไร

ซึ่งจากการศึกษาของผม โดยพิจารณารายละเอียดเขาพระสุเมรุตามที่เขียนไว้ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย เราจะพบคำอธิบายที่น่าสนใจและสอดรับกับการออกแบบฐานพระปรางค์วัดอรุณฯ ในส่วนนี้มากกว่า

นั่นก็คือ ตัวคัมภีร์มีการระบุลักษณะทางกายภาพที่เชิงเขาพระสุเมรุเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าประกอบด้วย “ชานเขาพระสุเมรุ 4 ชั้น” ซึ่งข้อความนี้สอดคล้องกับการออกแบบชั้นฐานของพระปรางค์ประธานที่ประกอบไปด้วยฐานซ้อนกัน 4 ชั้นอย่างพอเหมาะพอดี

นอกจากนี้ การประดับตกแต่งฐานทั้ง 4 ชั้น ยังมีการประดับประติมากรรมรูปยักษ์แบก กระบี่แบก และเทวดาแบก ซึ่งสอดรับกับการอธิบายลักษณะการวางทัพเพื่อป้องกันการบุกรุกของอสูรที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัยอีกด้วย ดังข้อความในคัมภีร์ที่ระบุว่า

“…กาลเมื่ออสูรยกทัพขึ้นไปรบพิภพดาวดึงส์นั้น นาคแลกุมภัณฑ์แลเทพยดาทั้งหลาย แต่บรรดาที่เป็นบริษัทแห่งสมเด็จพระอมรินทราธิราชประดิษฐานอยู่ในชานพระเมรุอันใดๆ แล้วกระทำศึกสงครามต่อสู้ด้วยมวลอสูรนั้น นักปราชญ์พึงรู้ว่าชานพระเมรุนั้นมีเป็น 4 ชั้น มีอยู่โดยรอบแห่งพระเมรุแต่ละชั้นๆ นั้นกว้างได้ 5,000 โยชน์ๆ โดยสูงนั้นสูงกว่ากันชั้นละ 5,000 โยชน์…”

อย่างไรก็ตาม ฐานกระบี่แบก ดูจะไม่สอดคล้องกับเนื้อความในคัมภีรืไตรโลกวินิจฉัย แต่เราอาจสันนิษฐานได้ว่า การสร้างฐานชั้นกระบี่แบกอาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่อง “พระราม” หรือ “รามเกียรติ์” ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในงานช่างของสังคมไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์ และปรากฏแทรกอยู่เสมอในงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในยุคดังกล่าว

ดังจะเห็นได้จากการเขียนภาพรามเกียรติ์ภายในผนังระเบียงคดพระอุโบสถวัดพระแก้ว หรือการทำลวดลายหน้าบันวิหารคดทั้งสี่หลังของวัดพระเชตุพนฯ ให้เป็นภาพเรื่องรามเกียรติ์ แม้กระทั่งที่ชั้นอัสดงของพระปรางค์ประธานวัดอรุณราชวราราม ก็ปรากฏประติมากรรมรูปนารายณ์ทรงครุฑโดยรอบ

ซึ่งสะท้อนถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับ “คติพระนารายณ์” หรือ “พระราม” อย่างชัดเจน แม้ว่าโดยภาพรวมจะมีปริมาณและความสำคัญที่น้อยลงหากเทียบกับ “คติพระอินทร์”

 

ย้อนกลับมาที่ “ชานเขาพระสุเมรุ” เนื้อความในคัมภีร์แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ของป่าหิมพานต์ ซึ่งหากเราดูงานศิลปกรรมประกอบบริเวณฐานประทักษิณชั้นที่ 2 และ 3 จะมองเห็นการปั้นลวดลายเป็นรูปแจกันดอกไม้ กินนร และกินรีในส่วนต่างๆ โดยรอบ

ซึ่งตีความเป็นอื่นไม่ได้นอกจากการเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของป่าหิมพานต์ ซึ่งสอดคล้องเป็นอย่างดีกับการเป็นสัญลักษณ์ของเชิงเขาพระสุเมรุ

จากรายละเอียดทั้งหมดที่กล่าวมา ผมจึงขอเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ว่า ฐานทั้ง 4 ชั้นของพระปรางค์วัดอรุณฯ คือการออกแบบเพื่อสื่อถึงชานเขาพระสุเมรุ 4 ชั้น ที่ถูกระบุเอาไว้ในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉัย

องค์ประกอบถัดไปที่จะตีความ คือ พระปรางค์บริวารทั้ง 4 มุม ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการอธิบายความหมายเอาไว้ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนค่า “ทวีปทั้ง 4” ที่ตั้งอยู่กลางมหานทีสีทันดร ในทิศทั้ง 4 ของเขาพระสุเมรุ

ในส่วนนี้ผมมีความเห็นแตกต่างออกไป เพราะหากดูการออกแบบสัญลักษณ์พระปรางค์ในบริบทสังคมไทยจะพบว่า มีขนบในเชิงความหมายที่มุ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ของภูเขาอย่างชัดเจน มากกว่าที่จะสื่อความหมายในลักษณะอื่น

อีกทั้งทวีปทั้ง 4 ตามเนื้อหาในคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับต่างๆ ล้วนระบุตรงกันว่าจะต้องลอยอยู่กลางมหาสมุทร มิใช่เชื่อมติดเป็นส่วนหนึ่งกับตัวเขาพระสุเมรุ ดังที่ปรากฏในการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณฯ

ฉะนั้น การตีความว่าพระปรางค์บริวารคือสัญลักษณ์ของทวีปทั้ง 4 ผมจึงคิดว่าไม่น่าจะสอดคล้องนัก

ที่สำคัญที่สุดคือ หากตีความว่าพระปรางค์บริวารคือทวีปทั้ง 4 ย่อมจะทำให้องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งตามโครงสร้างจักรวาลหายไป นั่นก็คือ “เขาสัตตบริภัณฑ์” (ภูเขา 7 ชั้นที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ)

 

ดังนั้น ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่า พระปรางค์บริวารทั้ง 4 มุม น่าจะแทนความหมายของการเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์ที่อยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุมากกว่า

ถึงแม้ว่า พระปรางค์บริวารจะมีจำนวนไม่ครบ 7 องค์ตามความเชื่อว่าเขาสัตตบริภัณฑ์คือภูเขา 7 ชั้น

แต่เมื่อพิจารณาถึงแบบแผนหรือการแสดงออกในเชิงช่างโบราณเพื่อสื่อความหมายของเขาสัตตบริภัณฑ์ในหลายกรณี ตัวช่างก็มิได้มีการเขียนจำนวนเขาสัตตบริภัณฑ์ที่ครบทั้ง 7 ชั้นอย่างสมบูรณ์

อีกทั้งสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ ข้อจำกัดในการแปลงความเชื่อมาสู่งานสถาปัตยกรรมที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยประกอบด้วย ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะแสดงสัญลักษณ์ของเขาสัตตบริภัณฑ์ได้ครบตามที่ปรากฏเนื้อหาในคัมภีร์

นอกจากนี้ หากพิจารณาการประดับประติมากรรมที่ฐานพระปรางค์บริวารที่ทำเป็นรูปสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ที่สะท้อนความหมายของการเป็นป่าหิมพานต์บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุที่เชื่อมต่อเนื่องไปยังฐานของพระปรางค์ประธานอย่างชัดเจน

ดังนั้น ย่อมทำให้การตีความพระปรางค์บริวารเป็นเขาสัตตบริภัณฑ์มีความเป็นไปได้มากกว่าการตีความว่าเป็นทวีปทั้ง 4 ที่สำคัญ หากพระปรางค์บริวารแทนความหมายเขาสัตตบริภัณฑ์จริงก็จะสอดรับกับสัญลักษณ์ของมณฑปทิศทั้ง 4 อีกด้วย (จะอธิบายต่อในสัปดาห์หน้า)

 

สัญลักษณ์ที่น่าสนใจต่อมาคือ ซุ้มจรนำบริเวณเรือนธาตุทั้ง 4 ทิศของพระปรางค์บริวารซึ่ง ประดับประติมากรรมรูปเทวดาทรงม้า ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ตีความสัญลักษณ์นี้ออกเป็น 2 แนวทาง คือ หนึ่ง หมายถึง “พระพายทรงม้า” และสอง หมายถึง “พระเจ้าจักรพรรดิราช” ที่ทรงม้าแก้วเสด็จปราบทุกทิศทั่วจักรวาล

เมื่อพิจารณาแล้ว ความหมายของพระพายทรงม้าไม่น่าจะเกี่ยวข้องนักกับการจำลองสัญลักษณ์จักรวาล

ในขณะที่อีกความหมายหนึ่ง คือ พระเจ้าจักรพรรดิราชทรงม้าแก้วเพื่อแสดงความเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาลนั้น ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้และมีความสอดคล้องกับการจำลองโครงสร้างและแผนผังจักรวาลของพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามมากกว่า