การศึกษาเชิงพื้นที่ สุราษฎร์ธานีโมเดล (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

การศึกษาเชิงพื้นที่

สุราษฎร์ธานีโมเดล (1)

 

“การให้การศึกษาถือว่าเป็นการให้สิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นการหล่อหลอม วางรูปแบบให้แก่อนุชน ทั้งทางความรู้ ความสามารถ ทั้งทางจิตวิญญาณ ผู้มีหน้าที่ให้การศึกษาทุกตำแหน่งหน้าที่จึงมีความรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อชาติบ้านเมืองในการสร้างพลเมืองที่ดี”

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มองเห็นเด่นชัดบนผนังห้องประชุมโรงเรียนวัดบางคราม อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี

เตือนใจให้ทุกคนที่กำลังร่วมเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการศึกษาเชิงพื้นที่ เมื่อเช้าวันที่ 12 มกราคม 2567 มุ่งมั่นที่จะดำเนินรอยตามพระราชดำรัสอย่างแข็งขันต่อไป ทำให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยความคึกคัก

ระหว่างฟัง น.ส.สุภาภรณ์ บุญสนอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางคราม กล่าวต้อนรับคณะผู้มาเยือน และเล่าถึงการดำเนินงานจัดการศึกษาเพื่อเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้และขาดโอกาสทางการศึกษาของโรงเรียน

นักการศึกษา 3 กลุ่มใหญ่ จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยผู้บริหารและครู กว่า 30 คน ร่วมรับฟัง น.ส.ศิริรัตน์ แสงมณี ครูอัตราจ้าง ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาคุณภาพนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

โรงเรียนวัดบางครามได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.สุราษฎร์ธานี ให้เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นำร่องภายใต้โครงการใหญ่จัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ด้วยความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กับสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้เกิดกลไกดำเนินงานในนาม “คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี” มี ดร.สมพร เพชรสงค์ กรรมการสมัชชาฯ เป็นประธาน นายประยูรศักดิ์ รัตนะ ผอ.สำนักการศึกษา อบจ.สุราษฎร์ธานี เป็นกรรมการและเลขานุการ

กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนภาคเอกชน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด ภาครัฐ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ภาคประชาสังคม ผู้แทนภาคเกษตรกร ฯลฯ

พวกเขามารวมตัวกันเพื่อรับฟังแนวทางการจัดการศึกษา ปัญหาและอุปสรรค การพัฒนา ผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กทั้งปกติและเด็กพิเศษ เข้าถึงการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย จบแล้วสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

ครูผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาคุณภาพนักเรียนบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) โรงเรียนวัดบางคราม สุราษฎร์ธานี

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 54 ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เสริมสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพครู

วางกลุ่มเป้าหมายดูแลกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 15 ของประเทศ ครอบคลุมทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสทั้งในและนอกระบบการศึกษา 1.9 ล้านคน

เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา ยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิดในช่วงสามปี (2563-2565) ทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 3 แสนคน ส่งผลให้การเรียนรู้ถดถอยจากความไม่พร้อมในการเรียนออนไลน์

นอกจากการช่วยค้นหาเด็กยากจนพิเศษรายได้ครอบครัวต่ำกว่าเส้นความยากจน เพื่อจัดสรรทุนอุดหนุนเพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนการศึกษาปกติ ได้แก่ ทุนเสมอภาค ทุนกลุ่มรอยต่อ (ม.4) ทุนนวัตกรรมสายอาชีพ (ม.6/ปวช.) แล้ว การเป็นตัวช่วยประสานให้เกิดความร่วมมือในระดับพื้นที่ Area based Education เป็นภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง

เพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตัวอย่างการกระจายอำนาจ ทำให้ขนาดของการจัดการเล็กลง จากประเทศสู่จังหวัด และสร้างความเป็นเจ้าของร่วมในการจัดการศึกษา ให้เป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ภายใต้ความเชื่อว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือ คำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

 

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครอบคลุม 12 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก สมุทรสงคราม ระยอง สุรินทร์ ขอนแก่น สงขลา และปัตตานี ทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือ มีคณะกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ลงไปจนถึงตำบล ประกอบด้วยหลายภาคส่วน โดย กสศ.สนับสนุนทุนดำเนินงานและองค์กรเครือข่ายในพื้นที่ร่วมสมทบ

ทั้ง 12 จังหวัด แกนนำที่เป็นเจ้าภาพงานและประสานพันธมิตรในเครือข่าย แบ่งเป็น 5 กลุ่ม

1. ภาครัฐ (ท้องที่) ศึกษาธิการจังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย

2. ภาคเอกชน ได้แก่ สมุทรสงคราม บริษัทสร้างสรรค์ปัญญาที่พัฒนาตนเองมาจากเครือข่ายประชาสังคมเป็นบริษัทที่ทำงานเพื่อสังคม (Social Enterprise)

3. กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.) ได้แก่ สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และปัตตานี

4. กลุ่มสถาบันวิชาการ ได้แก่ พะเยา (มหาวิทยาลัยพะเยา) ลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (คณะครุศาสตร์)

5. กลุ่มภาคประชาสังคม ได้แก่ พิษณุโลก (สมาคมสุขปัญญา) ขอนแก่น (มูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า) ระยอง (สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยระยอง) สงขลา (สมาคมอาสาสร้างสุข)

เครือข่ายในพื้นที่ทุกจังหวัดจะเป็นฝ่ายเลือกประเด็นปัญหาทางการศึกษาที่สำคัญควรเร่งแก้ไขและช่วยเหลือขึ้นมาดำเนินการ ส่วนใหญ่ได้แก่ ปัญหาเด็กขาดโอกาส เข้าไม่ถึงการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบโรงเรียน เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุต่างๆ เด็กพิการทุกรูปแบบ ท้องก่อนวัยอันควร ติดเกม พฤติกรรมสุ่มเสี่ยงอันตราย

ในระดับส่วนกลาง ผู้รับผิดชอบติดตามโครงการ คือ อนุกรรมการโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นประธาน

มีสำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. เป็นหน่วยปฏิบัติ ดำเนินโครงการต่างๆ มาตั้งแต่ พ.ศ.2562 ขยายผลต่อเนื่องถึงวันนี้

 

หลังดำเนินงานมาระยะหนึ่ง กสศ.จัดให้มีคณะกรรมการติดตามประเมินผลทั้ง 12 จังหวัด มี ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นประธาน พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการกระจายอำนาจ คุณสุพจน์ จิตร์เพชร์ ท้องถิ่นจังหวัดยะลา ด้านการประเมินผล ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ ด้านชุมชน พื้นที่และท้องถิ่น ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการเพื่อชุมชนและสังคม สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ด้านการศึกษา นายสุทิน แก้วพนา อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผม ด้านสื่อสารมวลชน

จึงเป็นที่มาของการไปร่วมเวทีรับรู้ รับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักการศึกษา นักพัฒนาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นแห่งแรก

ได้ฟังผู้คนในพื้นที่ ล้วนแล้วแต่ผู้ทรงภูมิความรู้ นักปฏิบัติ นักแก้ปัญหา ผู้มีประสบการณ์จริง พูดเปิดใจ ตรงไปตรงมาน่าฟัง จนต้องเก็บเล็กผสมน้อยมาเล่าสู่กันฟังต่อไปอีกเช่นเคย โปรดติดตาม