คุยกับทูต | ทูมูร์ อามาร์ซานา จากดินแดนนักรบผู้ยิ่งใหญ่เจงกิสข่านแห่งมองโกเลีย (1)

ในอดีต มองโกเลียเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก โดยเฉพาะสมัยของเจงกิสข่าน (Genghis Khan) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปของคนทั่วโลกในฐานะนักรบ จอมทัพ วีรบุรุษ และปฐมกษัตริย์ผู้รวมชาติและการสถาปนา “จักรวรรดิมองโกล”

ประเทศมองโกเลียเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียคั่นกลางระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจ ด้านบนคือรัสเซีย ด้านล่างคือจีน ทำให้มองโกเลียต้องพยายามรักษาสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนและรัสเซีย

ในขณะที่มองโกเลียมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย 3 เท่า แต่มีประชากรเพียง 3 ล้านกว่าคน ซึ่งทำให้ประเทศมองโกเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุดในโลก สถานที่ที่โด่งดังของมองโกเลียคือทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ทะเลทรายที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียอีกด้วย แต่ที่น่าสนใจคือ วิถีชีวิตของชนเผ่าในมองโกเลีย ยังคงความเป็นเอกลักษณ์และไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลีย ประจำประเทศไทย

ปัจจุบัน นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งมองโกเลีย ประจำประเทศไทย โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตั้งแต่กลางปี 2020 และในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์มติชนสุดสัปดาห์เป็นครั้งแรก วันนี้ จึงนับเป็นครั้งที่สองที่เราได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตอามาร์ซานา

“ผมทำงานในประเทศไทยมาสามปีแล้ว ได้รับประสบการณ์อันน่าทึ่ง ด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนาน การต้อนรับอย่างอบอุ่น และสังคมที่มีชีวิตชีวา เป็นพลวัตในการผสมผสานระหว่างประเพณีและความทันสมัย จากถนนที่พลุกพล่านในกรุงเทพฯ ไปจนถึงวัดวาอารามอันเงียบสงบในชนบท สร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการไปสำรวจภูมิประเทศอันเขียวชอุ่มทางภาคเหนือ หรือการชิมอาหารไทยรสเลิศก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมาก” เอกอัครราชทูตอามาร์ซานา กล่าว

“ในฐานะเอกอัครราชทูต ภารกิจหลักของผมคือการเป็นหูเป็นตาให้กับชาติของเราในประเทศไทย ทีมงานของเรามุ่งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์มองโกเลียให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้นในประเทศไทย ทุกวัน เราติดตามพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสังคมเพื่อทำความเข้าใจประเทศไทยให้มากขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพให้กับหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ (UN) เราจึงต้องกระตือรือร้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของ UN โดยเฉพาะกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)”

“แน่นอนว่าการทำงานในแต่ละวัน รวมถึงการพบปะกับนักธุรกิจเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและงานบริการกงสุลที่รวดเร็ว ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเรา”

นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) กับภาพ เจงกิสข่าน (บน) ผู้สถาปนาจักรวรรดิมองโกล

“งานของนักการทูตจึงมักต้องใช้ความอดทนและการเสียสละตนเอง ซึ่งผมมั่นใจว่าการทำงานในแต่ละวันของทีมที่มีความสามารถของเราจะทำให้เกิดโอกาสมากขึ้นในการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน”

“การมาประจำประเทศไทยถือเป็นการผจญภัยที่คุ้มค่าซึ่งเต็มไปด้วยโอกาสในการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายกับวัฒนธรรมและสังคมที่หลากหลาย ในฐานะทูต การจัดการกับความรับผิดชอบถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกจริงๆ แม้ว่าตารางงานจะค่อนข้างยุ่ง แต่ผมก็ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน”

“นอกจากสถานที่และอาหารแล้ว ผมยังมีความสนใจในดนตรีไทยอย่างมากจากเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดที่สร้างเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างน่าหลงใหล อีกทั้งการเรียนรู้ภาษาไทยผ่านดนตรีก็ยังเป็นวิธีที่สนุกและมีประสิทธิภาพในการซึมซับวัฒนธรรมของภาษา เนื้อหาอันลึกซึ้งของบทกวีอีกด้วย”

“ประเทศไทยถือเป็นสถานที่พิเศษในใจของผมแทบจะเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง จากวัฒนธรรมไทยที่โดดเด่น ความเมตตาและความอบอุ่นของคนไทยทำให้ผมคิดถึงการต้อนรับตามแบบฉบับของชาวมองโกเลีย แม้ว่ามองโกเลียและไทยจะมีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม แต่เรามีคุณค่าร่วมกัน เช่น ประเพณีทางพุทธศาสนาที่คล้ายคลึงกัน เรานับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน เราต่างมีมรดกทางวัฒนธรรมอันยาวนาน และการเคารพประเพณีอย่างลึกซึ้ง”

วิถีชีวิตของชนเผ่าในมองโกเลีย ยังคงความเป็นเอกลักษณ์และไม่เปลี่ยนแปลง

“มองโกเลียโดดเด่นด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและมีวัฒนธรรมเร่ร่อนท่ามกลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ตรงกันข้ามกับภูมิประเทศเขตร้อนของประเทศไทยและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เจริญรุ่งเรือง แม้ว่าภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเราทั้งสองประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่ทั้งสองประเทศต่างก็มีประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ มีแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรม”

“ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวมองโกเลียยกย่องธรรมชาติ ท้องฟ้าสีครามในฐานะบิดา และแผ่นดินในฐานะมารดา บูชาภูเขาและผืนน้ำที่รายล้อมด้วยความเคารพรักอย่างลึกซึ้ง และได้รับการเติมพลังจากวิถีชีวิตในดินแดนแห่งทุ่งหญ้าภายใต้ผืนฟ้าสีครามแห่งนี้”

“เราทั้งสองประเทศต่างมีความเคารพร่วมกันต่อประเพณี มีความรักต่อธรรมชาติ และความรู้สึกภาคภูมิใจในชาติที่แข็งแกร่งของตน สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยส่งเสริมอัตลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองประเทศ”

“เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ปี 1974 มองโกเลียและไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ดังนั้น ในปีนี้ จึงถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตของเรา และครบรอบ 24 ปีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตของมองโกเลียในราชอาณาจักรไทย”

ชาวมองโกลจัดทำพาสปอร์ตฉบับแรกของโลก เรียกว่า Paiza หรือ Paizi ระหว่างศตวรรษที่ 12-13 เป็นป้ายโลหะที่ราชสำนักมองโกลออกให้แก่ทูต และพนักงานส่งสารในระบบยัม  (ระบบไปรษณีย์ของมองโกล ใช้ม้าเร็วสื่อสาร)

“แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมัยใหม่ของมองโกเลียและไทย จะได้รับการพัฒนาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศนี้ ย้อนหลังไปนานแล้ว ในอดีตความสัมพันธ์ของเราย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 13 และ 14 เมื่ออาณาจักรอยุธยาแลกเปลี่ยนทูตกับราชวงศ์หยวนที่ก่อตั้งโดยกุบไลข่าน (Khubilai Khan) ผู้นำเผ่าชาวมองโกล”

“เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลและมีเพื่อนบ้านเพียง 2 แห่ง มองโกเลียจึงพยายามขยายความสัมพันธ์ให้เกินขอบเขตทางภูมิศาสตร์มาโดยตลอดเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ความสัมพันธ์ทางการทูตของเรา 50 ปีเป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันของบุคคลจำนวนมากที่อุทิศตนเพื่อรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างมองโกเลียและไทย ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งนักการทูตมองโกเลีย กงสุลกิตติมศักดิ์ ทูตวัฒนธรรม และนักข่าวไทยที่มีส่วนในความร่วมมือนี้”

“ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมองโกเลียและไทยไม่เพียงแต่เจริญรุ่งเรืองเท่านั้น แต่ยังพัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและหลากหลายแง่มุมอีกด้วย ด้วยความเคารพและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ทั้งสองประเทศจึงร่วมมือกันอย่างแข็งขันในขอบเขตต่างๆ ที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศ ความพยายามในการทำงานร่วมกันนี้มีส่วนช่วยอย่างมากต่อความเป็นอยู่โดยรวมของพลเมืองของเรา”

“ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนนี้ครอบคลุมพื้นที่ที่หลากหลาย รวมถึงการค้า วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งวางรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างมองโกเลียและไทย”

ทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) -ภาพถ่ายโดย ทูตวัฒนธรรม เจตนิพัทธ์ “เจเคบอย” เกตุประดิษฐ์ (JKBoy)

“ด้านการค้าและการลงทุนทวิภาคี มองโกเลียมีพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานหมุนเวียน และทรัพยากรอื่นๆ จำนวนมากดังตัวอย่างล่าสุด บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (กลุ่มบาฟส์) (BAFS Group) ได้ลงทุนในมองโกเลียและดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน”

“การค้า วัฒนธรรม และการศึกษาโดดเด่นในฐานะขอบเขตความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดระหว่างมองโกเลียและไทย โดยทั้งสองประเทศบรรลุเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเข้าใจทางวัฒนธรรมผ่านการแลกเปลี่ยนและกิจกรรมต่างๆ และการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างไทยและมองโกเลียมีพัฒนาการที่ดี โดยเฉพาะในระดับประชาชนต่อประชาชน ความร่วมมือดังกล่าว ล้วนมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อันเป็นประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา”

“นอกจากนี้ เรายังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างช่องทางใหม่ในการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่ไม่ธรรมดา เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการเกษตรที่สามารถรับมือกับสภาพอากาศได้อย่างชาญฉลาด (climate-smart agriculture) พลังงานสะอาด และการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว”

“แต่ผมต้องขอกล่าวว่า สถานทูตของเราไม่สามารถดำเนินการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีโดยลำพังได้ ผมจึงคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาการปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในประเทศมองโกเลียเพื่อส่งเสริมการค้าและปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนในระยะยาว” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin