บางโพ ทำเลทองที่พักอาศัย

ปริญญา ตรีน้อยใส

พาไปมองบางโพ พาไปย้อนอดีตเกี่ยวกับชาวญวน และต้นทางของถนนสายไม้ ต่อเนื่องกันมาสองฉบับ

ฉบับนี้ยังจะพาไปมองบางโพอีกครั้ง ด้วยหลายคนไม่รู้ว่าบางโพนั้น ปัจจุบันเป็นศูนย์รวมโครงการคอนโดมิเนียม ของทุกแบรนด์

ไม่น่าเชื่อว่าหมู่บ้านริมน้ำ สวนผลไม้เมืองนนท์ ชุมชนวัดญวน และแหล่งค้าไม้ จะกลายเป็นทำเลฮอต ของการอยู่อาศัยแบบสมัยใหม่ ของคนรุ่นใหม่

เดิมที เมื่อการสัญจรของผู้คนยังอาศัยทางน้ำเป็นหลัก ถ้าไม่สร้างบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือริมคลองบางโพ ที่แยกไปไกลถึงลาดพร้าว และบางกะปิ ก็มีแค่ริมทางน้ำเล็กๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเท่านั้น

 

จนกระทั่งมีการตัดถนนสองสาย คือ ถนนประชาราษฎร์ 1 และ 2 เมื่อปี พ.ศ.2478 สายแรกนั้นต่อจากถนนสามเสน (เดิมคือถนนบางกระบือ) ขนานไปตามฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงตำบลบางซ่อน เป็นถนนกว้าง 25 เมตร

และสายที่สองตั้งต้นจากริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีตำรวจบางโพ ผ่านถนนสายแรก ไปจนถึงคลองเปรมประชากร ตรงบางซื่อ เป็นถนนกว้าง 25 เมตรเท่ากัน

นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการสร้างบ้านเรือนริมถนน แทนริมน้ำแบบเดิม ยิ่งมีการสร้างทางหลวงแผ่นดิน กรุงเทพฯ-นนทบุรี เริ่มจากเตาปูน ตรงถนนประชาราษฎร์ 2 ขึ้นไปจนถึงเมืองนนทบุรี ปัจจุบันคือทางหลวงหมายเลข 301 ทำให้มีการสร้างตึกแถว และบ้านพักเรียงรายสองข้างถนนในตอนแรก และในซอยที่แยกย่อยในตอนหลัง

แต่จะมีเพียงสองซอยที่เชื่อมระหว่างถนนประชาราษฎร์ 1 กับถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี คือ ไสวสุวรรณ และร่วมสุข ที่ปัจจุบันคือ ถนนประชานฤมิตร นั่นเอง

ที่จริงก่อนหน้านั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างสะพานพระรามหก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้รถไฟสายใต้สามารถออกจากสถานีกรุงเทพ หัวลำโพงได้ จากสถานีบางซื่อ ทางรถไฟจะอ้อมไปข้ามแม่น้ำตรงบางกรวย ที่อยู่เหนือบางโพ

นอกจากตัวสถานีรถไฟบางซื่อแล้ว ยังมีโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ที่มีส่วนกระตุ้นความเจริญของชุมชนจนถึงปัจจุบัน และจะเพิ่มมากขึ้นด้วยสถานีบางซื่อ ยกระดับเป็น สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ศูนย์กลางการขนส่งระบบราง ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภูมิภาค และประชาคมอินโดจีน เช่นเดียวกับจากโรงงานปูนซิเมนต์ไทย กลายเป็น บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยที่มีธุรกิจในหลายประเทศ

แต่คงเทียบไม่ได้กับการพัฒนาการขนส่งระบบราง เพื่อรองรับการเดินทางของประชากรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ทำให้ย่านบางโพอยู่ในโครงข่ายการให้บริการของรถไฟฟ้าถึงสามสาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ที่มีสถานีเตาปูน และบางโพ อยู่บนถนนประชาราษฎร์ 1 และสายสีม่วง ที่เริ่มจากสถานีเตาปูน บนถนนประชาราษฎร์ 1

ขึ้นเหนือตามถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี จะมีอีกสถานีคือ สถานีบางซ่อน ที่จะเชื่อมต่อกับสายที่สามคือ สายสีแดง จากบางซื่อ ไปสถานีพระรามหก ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปศาลายา

 

บริษัทอสังหาริมทรัพย์เกือบทุกบริษัทคงเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ จึงลงทุนพัฒนาโครงการอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่ ได้แก่ เฟรสคอนโด รีเจนต์โฮม คอนโดยูดีไลท์ เมโทรสกาย ลุมพินีเพลส ไพรเวซี่ ศุภาลัย และไอดิโอโมบิ บนถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี

ส่วนโครงการพิบูลคอนโดทาวน์ เดอะทรี และแชปเตอร์ วัน ไชน์ บนถนนประชาราษฎร์ 1 และริชพาร์ค เดอะทรี นิชไพรด์ เกตเวย์ และไอดิโอโมบิ บนถนนประชาราษฎร์ 2

เมื่อการเดินทางแบบใหม่สะดวก ทำเลอยู่ไม่ไกลจากพระนคร จึงคาดการณ์ได้เลยว่ายังจะมีการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่เป็นอาคารสูง รองรับผู้คนที่โยกย้ายมาอยู่อย่างแน่นอน

บางโพจึงเป็นอีกกรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเมืองในประเทศไทย จากชุมชนริมแม่น้ำลำคลองในอดีต มาเป็นหมู่ตึกแถวและบ้านพักริมถนนในวันวาน และอาคารพักอาศัยรวม สูงระฟ้า ริมทางรถไฟลอยฟ้าในวันนี้ ที่ไม่มีในตำราฝรั่งอย่างแน่นอน •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส